top of page

สิทธิบัตร โทรศัพท์ จากการพัฒนาโทรเลข”  

ของ อเล็กซานเดอร์ เกรแฮม เบลล์  US174465

เรียบเรียงโดย เกียรติศักดิ์ ศรีพิมานวัฒน์

Since: October 27, 2017 - Updated:

๑. Hall of Frame “เจ็ดสิทธิบัตรมหัศจรรย์โทรคมนาคมโลก”

ภาพเขียนแสดงการบรรยายเรื่องโทรศัพท์โดย

อเล็กซานเดอร์ เกรแฮม เบลล์ ในปี พ.ศ. ๒๔๒๐

(ค.ศ. 1877) : ภาพจาก AT&T Archives 

(ภาพประกอบจาก IEEE ComSoc: ประวัติย่อการสื่อสารโลก)

๒. กรณีศึกษา หนึ่งใน "เจ็ดสิทธิบัตรมหัศจรรย์โทรคมนาคมโลก”

"นายวัตสันมาที่นี่ฉันต้องการเจอคุณ (Mr. Watson, come here, I want you)” 1

 

จากบันทึกประวัติศาสตร์ของบริษัทเอทีแอนด์ที ระบุว่าหลังจากคำพูดเป็นทางการประโยคแรกนี้ของเบลล์ ในการทดลองของวันที่ ๑๐ มีนาคม พ.ศ.๒๔๑๙ (ค.ศ.1876) อุตสาหกรรมการสื่อสารด้วยโทรศัพท์จึงได้บังเกิดขึ้นในโลก


 

ความก้าวหน้าของเทคโนโลยีโทรศัพท์ประดิษฐ์กรรมที่มหัศจรรย์นี้เป็นผลพลอยได้จากความพยายามที่จะเพิ่มการส่งข้อความเข้าไปกับสายโทรเลขของวิศวกรไฟฟ้าช่วงกลางทศวรรษที่ค.ศ. 1870 โดย โจเซฟ สเติร์นส์ (Joseph Stearns) และ โธมัส เอดิสัน (Thomas Edison) ผู้ที่ได้พัฒนาระบบให้มีความเชื่อถือได้พอที่สามารถส่งสัญญาณโทรเลขตั้งแต่สองหรือสี่ชุดพร้อมกันไปในสายโทรเลขเดี่ยว ทำให้เกิดแนวคิดต่อเนื่องไปถึงนวัตกรรมที่ยิ่งใหญ่ ถัดมา … “โทรศัพท์”

๒.๑ แรงบันดาลใจที่จุดประกาย

แม้ว่าการประดิษฐ์คิดค้นโทรศัพท์นี้อันเป็นความสำเร็จสุดยอดแห่งยุคของเบลล์ จะได้เริ่มมาก่อนหน้าอย่างน้อยสี่ปี ซึ่งในยุคนั้นสิ่งประดิษฐ์จะมาควบคู่กับการใช้ไฟฟ้าอันเป็นเทคโนโลยีล้ำสมัยมากโดยที่ ไมเคิล ฟาราเดย์ (Michael Faraday) เพิ่งจะค้นพบคุณสมบัติแม่เหล็กที่ทำให้เกิดการสร้างกระแสไฟฟ้าในยุคร่วมสมัยนั้น การคิดค้นอะไรก็จะมาอยู่บนพื้นฐานการใช้ไฟฟ้าที่จะมีโอกาสและอนาคตอันสดใสมากที่อาจทำให้นำไปสู่ชื่อเสียงและโชคลาภ !


 

ซึ่งเสมือนการคิดค้นการค้าขายออนไลน์ในยุคที่มีอินเทอร์เน็ตเป็นพื้นฐาน การคิดค้นบนพื้นฐานการใช้ไฟฟ้าก็เป็นสิ่งที่ดึงดูดใจคนรุ่นใหม่ในสมัยนั้นๆ อย่างแรงกล้า เบลล์และวัตตสันเองก็เช่นกันผู้อยู่ในวัยเพียง ๒๙ และ ๒๒ ปีตามลำดับในวันที่คำพูดประโยคแรกของโลกได้วิ่งผ่านสายโทรศัพท์อย่างเป็นทางการ


 

ช่วงที่เบลล์ประสงค์จะศึกษาเทคโนโลยีไฟฟ้าเทคโนโลยีแห่งความหวังของคนหนุ่มนั้น เขาเองมีความเชี่ยวชาญเรื่อง “เสียงพูด (sound & speech)” อยู่พร้อมก่อนแล้ว ในสภาวะที่สิ่งแวดล้อมสำคัญคือครอบครัวโดยบิดาของเบลล์เองผู้เป็นศาสตราจารย์ด้านการเปล่งหรือออกเสียง (elocution) และคลุกคลีอยู่กับเทคโนโลยีที่จะช่วยคนตาบอดให้สามารถสื่อสารได้ ด้วยวิธี “การเปล่งเสียงที่มองเห็นได้ (visible speech)” โดยการใช้อักขระพยัญชนะต่างๆมาเป็นตัวแทนค่าเสียงคำพูดต่างๆที่เกี่ยวข้องเหล่านั้น


 

“พื้นฐานการสื่อสาร พื้นฐานการแทนคำพูดด้วยสัญญลักษณ์”

และ

“แรงบันดาลใจจากสิ่งต่างๆและงานรอบตัวรวมทั้งครอบครัว”

คือพลังขับดัน


 

เนื่องจากเบลล์ก็ได้เจริญรอยตามผู้เป็นพ่อทำหน้าที่สอน“การเปล่งเสียงที่มองเห็นได้”อยู่ในกรุงลอนดอนมาตั้งแต่ช่วงอายุยี่สิบปี และในปีพ.ศ.๒๔๑๓ (ค.ศ.1870) ครอบครัวของเบลล์ได้อพยพย้ายไปอยู่ที่แคนาดา จนปีต่อมาเบลล์ย้ายต่อไปยังบอสตัน สหรัฐอเมริกา เพื่อสอนวิชาเดิมรวมไปถึงเพื่อคนหูหนวกด้วย จนในที่สุดเขาได้กลายเป็นศาสตราจารย์หนุ่มด้านเดียวกับพ่อของเขาในปีพ.ศ.๒๔๑๕ (ค.ศ.1872) และ ณ มหาวิทยาลัยบอสตันนั้น เบลล์ได้ฝึกอบรมครูสอนคนหูหนวกรวมถึงนักเรียนพิเศษด้วย ในกลุ่มผู้ปกครองของนักเรียนพิเศษเหล่านั้นเองได้กลายมาเป็นผู้สนับสนุนค่าใช้จ่ายในการค้นคว้าวิจัยประดิษฐ์กรรมที่เกี่ยวข้องกับไฟฟ้าของเบลล์ในเวลาต่อมา
 

ขณะนั้น อุตสาหกรรมที่ใช้ไฟฟ้าเพื่อการสื่อสารมีอยู่แล้วคือ“โทรเลข” และเป็นอุตสาหกรรมที่ยิ่งใหญ่เหลือเกิน เพราะมิใช่เป็นระบบสื่อสารเพียงแค่ย่อระยะทางในระดับเมืองหรือประเทศแต่ได้ลากสายข้ามมหาสมุทรเแอตแลนติกอยู่ด้วยแล้ว เป็นเทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลงโลกอย่างมหาศาลในยุคนั้นและกำลังเป็นประเด็นน่าสนใจที่ว่า สายโทรเลขเส้นยาวๆที่มีอยู่นั้นทำอย่างไรที่พ่วงนำสัญญาณจำนวนมากลงไปในคู่สายเดียวได้ ซึ่งยุคนั้นยังไม่มีเทคโนโลยีการผสมสัญญาณ (multiplexing) และยังคงเป็นแนวคิดที่ตั้งอยู่บนพื้นฐานของสัญญาณโทรเลขเท่านั้น (เคาะขีด สั้น-ยาว เป็นจุดบนแถบกระดาษบันทึกหรือเกิดเป็นเสียงเคาะสั้นยาวของคันเคาะเครื่องรับโทรเลข) แต่...เบลล์นั้นได้เริ่มความคิดมาตั้งแต่ปีพ.ศ.๒๔๑๕ (ค.ศ.1872) แล้วที่ว่า อยากจะนำพาสัญญาณโทรเลขหลายช่วงความถี่ที่ต่างกันจนถึงเสียงพูดของคนลงไปกับสายโทรเลขเหล่านั้น โดยการจะใช้โทนเสียงดนตรี (musical tones) จากความถี่ที่แตกต่างกันก่อน...


 

“ใกล้จุดกำเนิดของโทรศัพท์แล้ว แต่ยังอยู่บนพื้นฐานของเทคโนโลยีที่ยิ่งใหญ่มากของ...โทรเลข”

 

เพราะหากสายโทรเลขสามารถส่งผ่านโทนเสียงดนตรีหลากหลายเสียงได้นั้น ระบบสื่อสารนี้ก็ควรที่จะส่งเสียงหรือคำพูดของมนุษย์ไปได้ด้วยเช่นเดียวกัน และก็เป็นเช่นนั้นจริงๆ ในเวลาต่อมา

 

ความยากของนักประดิษฐ์ในช่วงเวลานั้นคือ พื้นฐานของสัญญาณโทรเลขคือการให้กระแสไฟฟ้าแบบไม่ต่อเนื่องคือ “มี” กับ “ไม่มี” (โบราณใช้คำว่า intermittent หรือสัญญาณแอนะล็อก (analog) ในปัจจุบัน) เพื่อสร้างสัญญาณเป็นจุดหรือขีด สั้น-ยาว หรือรหัสมอร์สออกมาได้ แต่ยุคนั้นยังไม่มีความรู้อันใดที่จะมาเล่นกันเสียงของคนที่เป็นสัญญาณคลื่นต่อเนื่อง (continuous waves) ที่ยุ่งยากซับซ้อนกว่ามากมาย และแล้วช่วงฤดูร้อนปีค.ศ.๑๘๗๔ ในขณะที่เบลล์เดินทางกลับไปเยี่ยมครอบครัวที่แคนาดา “ปิ้งแว๊บ”ของความคิดมหัศจรรย์ก็ได้บังเกิดขึ้นในเรื่องการที่จะส่งสัญญาณเสียงเป็นลอนคลื่นไปกับกระแสไฟฟ้า (induced undulating current) อันจะนำมาใช้แก้ปัญหาสัญญาณไฟฟ้าเป็นช่วงๆมาใช้กับสัญญาณเสียงที่ต่อเนื่องได้ในที่สุด …

ยูเรกา !

ขณะที่ชีวิตส่วนตัว เบลล์ก็ได้รับการสนับสนุนจาก การ์ดิเนอร์ ฮับบาร์ด (Gardiner Hubbard) รวมทั้ง


 

“ความรักที่มีต่อลูกสาวของผู้สนับสนุนรายนี้นั้นอีกแรงเป็นตัวขับดันที่จะต้อง

แปลงความคิดวิเศษนั้นมาเป็นอุปกรณ์ที่ใช้งานให้ได้”


 

แล้วในที่สุด ๑ กรกฎาคม พ.ศ.๒๔๑๘ (ค.ศ.1875) เบลล์ก็ประสบความสำเร็จแม้จะยังไม่ดีนัก แล้วก็เริ่มลงมือร่างสิทธิบัตรความคิดมหัศจรรย์ของเขา แน่นอนว่ายังอยู่บนพื้นฐานของโทรเลข (an improvement in telegraphy) เพราะคำว่าโทรศัพท์ยังไม่เกิดขึ้นบนโลกช่วงเวลานั้น และเบลล์ได้กลับไปทุ่มเทกับการทดลอง จนกระทั่งวันที่ ๑๐ มีนาคมปีต่อมา อันเป็นวันที่ได้บันทึกเหตุการณ์การส่งเสียงเรียกนายวัตสันผ่านโทรศัพท์ “๑๐ มีนาคม พ.ศ.๒๔๑๙ จึงเป็นวันที่โลกจดจำคำพูดของเบลล์นั้นตลอดไป”


 

การประกาศการค้นพบจองเบลล์เป็นที่จดจำในสองเรื่องใหญ่ทั้งการบรรยายในงานฉลองอิสรภาพหนึ่งร้อยปีของอเมริกาต่อหน้าบุคคลสำคัญต่างๆเช่น จักรพรรดิ์องค์สุดท้ายของประเทศบราซิล (Emperor Dom Pedro II) ถึงกับทรงอุทานว่า

 

“พระเจ้า... มันพูดได้ (My God! It talks!)”


 

รวมทั้งเจ้าของสิทธิบัตรมหัศจรรย์โทรคมนาคมโลกอีกท่านหนึ่งชาวอังกฤษคือ วิลเลียม ธอมสัน (William Thomson) ที่ทราบข่าวการคิดค้นนี้ข้ามฟากมหาสมุทรแอตแลนติกถึงกับยกย่องว่าเป็น “สิ่งที่น่าพิศวงที่ยิ่งใหญ่ที่สุดต่อมาของโทรเลขไฟฟ้า (the greatest by far of all the marvels of the electric telegraph)” ทีเดียว

 

สังเกตได้ว่า อย่างไรช่วงเวลาของคนในยุคนั้นยังรู้จักเพียง “โทรเลข โทรเลข โทรเลข”... คำว่า“โทรศัพท์”กำลังจะได้เกิดขึ้นหลังจากนั้น นั่นเอง...

 

๒.๒ กลยุทธ์ที่โดดเด่นของสิทธิบัตร

เรื่องราวอลวนที่บันทึกโดยเบลล์แล๊ปหรือบริษัทเอทีแอนด์ที (AT&T) 3 มีอยู่ว่า สิทธิบัตรที่เบลล์เริ่มร่างขึ้นมาในปีพ.ศ.๒๔๑๘ นั้นยังอยู่ในขั้นตอนตามข้อตกลงกับผู้สนับสนุนอีกรายคือ จอร์ส บราวน์ (George Brown) และเพื่อที่จะรอให้บราวน์ไปจดกับสำนักสิทธิบัตรสหราชอาณาจักร (British patent) 4 เสียก่อน ซึ่งต่อมาก็มิได้เกิดขึ้นแต่อย่างใด ในที่สุดผู้หวังดีรายแรกคือ “การ์ดิเนอร์ ฮับบาร์ด” หรือว่าที่พ่อตาของเบลล์ที่ไม่ได้มีส่วนตกลงอะไรกับจอร์ส บราวน์ ได้ไปจดสิทธิบัตรให้เบลล์ในเช้าของวันวาเลนไทน์ปี ค.ศ.๑๘๗๖ และก็เป็นเหตุกล่าวขวัญมายาวนานว่าในช่วงเวลาดังกล่าวได้มีผู้สนใจและสำรวจระบบโทรเลขแบบหลากหลายโทนเสียง (Harmonic) จำนวนหนึ่งเพื่อการส่งสัญาณโทรเลขแบบไม่ต่อเนื่องจำนวนมากไปพร้อม ๆ กันบนสายโทรเลขเดี่ยวเช่นกัน โดยอลิชา เกรย์ (Elisha Gray) ณ ประเทศสหรัฐอเมริกาคือหนึ่งในจำนวนนั้นก็ตระหนักเช่นเดียวกันว่า หากสายโทรเลขสามารถส่งผ่านโทนเสียงดนตรีหลากหลายเสียงได้ ระบบสื่อสารนี้ก็ควรที่จะส่งเสียงหรือคำพูดของมนุษย์ไปได้ด้วยเช่นเดียวกัน แต่เบลล์มีโอกาสดีกว่าได้จดสิทธิบัตรแนวคิดดังกล่าวก่อนหน้าที่เกรย์จะยื่นคำร้องคัดค้านสิทธิบัตรของเบลล์ฉบับนั้นเพียงไม่กี่ชั่วโมงถัดมา

เรื่องนี้ บริษัทเอทีแอนด์ทีบันทึกเพิ่มเติมไว้ว่า ลึกๆจริงๆแล้วมีความชัดเจน (มิได้น่าตื่นเต้นมากนักทำนองว่าเฉือนเวลากันไม่กี่ชั่วโมง) เพราะสิทธิบัตรของเบลล์ที่ยื่นจดระบุว่า “ผมได้ประดิษฐ์ (I have invented)” ส่วนของเกรย์เป็นเพียงการยื่นเพื่อแจ้งข้อระวังการทับซ้อนสิทธิหรือเอกสารรูปแบบอดีต (caveat) 5 ที่มีอายุคุ้มครองสั้นกว่า ซึ่งระบุในเอกสารว่า “ผมกำลังสร้างสิ่งประดิษฐ์ (I am working on inventing)” ในที่สุดสำนักสิทธิบัตรอเมริกันก็ได้ออกสิทธบัตรหมายเลข #174,465 เมื่อวันที่ ๗ มีนาคม พ.ศ.๒๔๑๙ (1876) จึงชัดเจนว่าเมื่อพูดถึงผู้คิดค้นโทรศัพท์ จึงพูดถึงเบลล์กันมานับร้อยกว่าปีแล้ว (ในขณะเดียวกัน อีกฟากหนึ่งของการคิดค้นโดย เกรย์ ก็เป็นเรื่องที่น่าสนใจไม่น้อย 6 ทว่า สิ่งที่เกรย์คิดค้นนั้น เป็นโทรศัพท์ลักษณะที่มีของเหลวเป็นองค์ประกอบ มิใช่ลักษณะแม่เหล็กกับไฟฟ้าที่เป็นอยู่ในโทรศัพท์จริงที่เคยได้เห็นและใช้กันมาถึงปัจจุบัน)

 

๒.๓ ผลกระทบเชิงพาณิชย์

(Pending: ข้อมูลโทรศัพท์จาก ITU: land line)

 

ต่อเนื่องมาจนกระทั่งถึงปี พ.ศ. ๒๔๒๓ (ค.ศ. 1880) บริษัทเบลล์ได้เปิดให้บริการเช่าเครื่องมือสำหรับการใช้โทรศัพท์เกือบ ๑๐๐,๐๐๐ ชุดทีเดียว 7

 

๒.๔ ผลกระทบทางกฏหมายและข้อตกลงระหว่างประเทศ

ประวัติการคิดค้นโทรศัพท์มิได้มีความน่าฉงนเฉพาะกับกรณีของ อลิซา เกรย์ เท่านั้น แต่ได้เกิดกรณีทับซ้อนของการประดิษฐ์ขึ้นกับอีกหลายงานตามมาด้วยทั้งในประเทศอิตาลี ฝรั่งเศส แคว้นไร (เยอรมนีในปัจจุบัน) รวมทั้งในสหรัฐอเมริกาเอง เนื่องจากโทรศัพท์ได้ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางธุรกิจและมีมูลค่าสร้างการเงินครั้งใหญ่ จากผลประโยชน์มหาศาลนั้นทำให้ยี่สิบปีหลังจากการกำเนิดสิทธิบัตรของเบลล์ ได้เกิดกรณีพิพาทมากกว่า 600 ครั้งในการละเมิดสิทธิบัตรของเบลล์ แต่ก็มิได้ทำให้สิทธิของผู้มาใหม่สำเร็จแต่อย่างใด เพราะการสาธิตของเบลล์ตั้งแต่ครั้งแรกนั้นชัดเจนว่าได้แสดงถึงการใช้ไฟฟ้านำพาเสียงพูดไปได้ชัดแจ๋ว เป็นเอกลักษณ์ มีคุณภาพและเป็นที่ยอมรับจดจำได้ 8

โทรศัพท์เป็นเครื่องมือที่เข้าไปเกี่ยวข้องทางด้านอื่นที่ตีความได้ทั้งประโยชน์และสร้างผลเสียหาย (จากการใช้) ด้วยเช่นกัน เช่นด้านการเมือง คู่สายโทรศัพท์ที่โด่งดังและสำคัญมากของโลกคือ คู่สายด่วน (hot line) ของประธานาธิบดีสองประเทศยักษ์ใหญ่ผู้ครอบครองอาวุธนิวเคลียร์ รวมทั้งจากวิกฤติการณ์ตลาดหุ้นวอลล์สตรีทในปีพ.ศ.๒๔๗๒ (ค.ศ.1929) จากการตื่นตระหนกกับการเทขายหุ้นก็มีโทรศัพท์ถูกใช้เป็นเครื่องมือของวิกฤติหรือการแก้ไขเหล่านั้นรวมอยู่ด้วย

๒.๕ ผลกระทบเชิงสังคมและมนุษย์

การเข้ามาของโทรศัพท์กล่าวได้ว่า ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงขนานใหญ่ต่อสังคมเกษตรกรรม ความศิวิไลซ์ของสังคม และวัฒนธรรมการเขียนจดหมายก็มีผลกระทบอย่างสูงมากในช่วงที่เรียกว่ายุควิคทอเรีย (…....) โดยตัวของเบลล์เองก็กล่าวเอาไว้หลังจากที่ได้สร้างสิ่งประดิษฐ์มหัศจรรย์นี้ไว้ให้โลกว่า

“....เมื่อใดสายโทรศัพท์ถูกลากวางสายไปทั่วทุกบ้าน เสมือนไหลไปยังกับน้ำหรือแกสหุงต้มบริการ (ตามท่อ) พรรคพวกเพื่อนฝูงก็จะเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตกลับข้างกันได้โดยไม่ต้องออกจากบ้าน....”

รวมทั้งได้คาดการณ์ด้วยว่า

“...โทรศัพท์จะเป็นปัจจัยใหม่สำหรับชีวิตคนในเขตชุมชน หากไม่มีโทรศัพท์ใช้ในสังคมเมือง ชีวิตในศตวรรษที่ 20 จะหยุดชะงัก เกิดความอลม่านหากต้องกลับไปใช้บริการของบุรุษไปรษณีย์ รวมทั้งชีวิตในยุคอุตสาหกรรมก้าวหน้าต่อจากนั้นก็จะเกิดขึ้น โดยจะแลกมาด้วยเนื้อสมองส่วนหนึ่งที่จะเสื่อมไปจากการมิได้เคลื่อนไหวร่างกาย.....”

ส่วนนักสังคมวิทยาชาวอเมริกัน ซิดนีย์ อะรอนสัน (Sydney H. Aronson) ได้ระบุไว้ต่อมาว่า 9

“...โทรศัพท์ได้เปลี่ยนรูปแบบการใช้ชีวิตในเมือง ในชนบทไร่นา และเปลี่ยนแนวทางการทำธุรกิจ ...มันทำให้เกิดคลื่นกระทบกระแทกอย่างสูงกับพัฒนาการของโครงสร้างสังคมและวัฒนธรรมขนานใหญ่ ในขณะเดียวกันมันก็ได้ส่งผลต่อรูปแบบของการให้การศึกษา การสาธารณสุข มุมกฏหมายและการสงครามในยุคนั้น รวมไปถึงประเพณีและศีลธรรม ครอบคลุมการเปลี่ยนแปลงของงานดูแลสังคมและอาชญากรรมของผู้พิทักษ์สันติราษฏ์ จนกระทั่งจะเกี่ยวข้องกับช่วงปกติหรือวิกฤตของชีวิตเลยทีเดียว … และไม่วายที่จะรวมไปถึงด้านข้อมูลข่าวสารกับกิจกรรมบังเกิดใหม่ๆ และผลกระทบความเป็นส่วนตัว เพื่อนบ้านและสัมพันธภาพต่างๆด้วย” … สุดพรรณา !

โดยสรุป โทรศัพท์ได้สร้างผลกระทบต่อมนุษย์และสังคมสูงมากและอาจคล้ายกับการเข้ามาของวิทยุ โทรทัศน์ หรืออินเทอร์เน็ตในยุคต่อๆ มา แบบนั้นนั่นเอง

อ้างอิง

1 ข้อมูลบางแหล่งระบุต่างกันเล็กน้อยว่า “Mr. Watson, come here, I want to see you”, Innovation and the communications revolution, John Bray, 2002 หน้า ๔๓

2www.corp.att.com/history/inventing.html

3www.corp.att.com/history/inventing.html

4สมัยนั้นสิทธิบัตรของสหราชอาณาจักรจะไม่รับจดต่อหากมีการยื่นจดที่อื่่นใดก่อนแล้ว

5 Patent caveat: 

6 On July 27, 1875, Gray was granted patent 166,096 for "Electric Telegraph for Transmitting Musical Tones" (acoustic telegraphy) & en.wikipedia.org/wiki/Elisha_Gray#cite_note-FOOTNOTEEvenson200073.E2.80.9374-15

7ระบบโทรศัพท์สมัยเริ่มแรกมีลักษณะการใช้งานที่ต้องพ่วงต่อใช้อุปกรณ์หรือเครื่องมือที่มีขนาดใหญ่กว่าในปัจจุบัน จึงยังมิได้เรียกว่าเป็นคู่สายหรือเครื่องโทรศัพท์ (Subscriber)

8Innovation and the communications revolution, John Bray, IEE, 2002, page 47

9Innovation and the communications revolution, John Bray, IEE, 2002, page 48

1 / 1

Please reload

วิเคราะห์เทคโนโลยี (สิทธิบัตรมหัศจรรย์นี้กำเนิดขึ้นได้อย่างไร ?)

bottom of page