top of page

(ร่าง - เปิดรับคำแนะนำสาธารณะ ทีนี่)

สิทธิบัตร เครื่องมือสำหรับการสร้างสัญญาณแบบไร้สาย”  

ของ กูเกียเอลโม มาร์โคนี  GB N˚ 7777

เรียบเรียงโดย ศราวุธ ชัยมูล และกองบรรณาธิการ

Since: March 21, 2018 - Updated:

๑. Hall of Frame “เจ็ดสิทธิบัตรมหัศจรรย์โทรคมนาคมโลก”

อุปกรณ์ส่งสัญญาณวิทยุขนาดมหึมาของรีจินัลด์ เฟสเซนเดน (Reginald Fessenden)

ณ เมืองบรานท์ ร็อค (Brant Rock) มลรัฐแมสซาชูเซตส์ (Massachusetts : MA) : ภาพจาก Smithsonian

(ภาพประกอบจาก IEEE ComSoc: ประวัติย่อการสื่อสารโลก)

(...ในคริสต์ศตวรรษถัดมาที่ได้เริ่มต้นขึ้นหลังจากการพัฒนาระบบโทรศัพท์ เป็นช่วงเวลาที่พัฒนาการของระบบอิเล็กทรอนิกส์ได้ก่อให้เกิดความก้าวหน้าครั้งใหม่ๆ สำหรับวงการวิศวกรรมสื่อสารด้วยคลื่นวิทยุ การสื่อสารชนิดนี้มีจุดกำเนิดมาจากงานที่เกิดขึ้นในช่วงทศวรรษที่ 1860 (ระหว่างปี พ.ศ. ๒๔๐๓ ถึง ๒๔๑๒) ของเจมส์ คลาร์ก แมกซ์เวล (James Clerk Maxwell) นักฟิสิกส์ชาวสหราชอาณาจักรได้นำเสนอผลงานในรูปสมการทางคณิตศาสตร์หรือที่เรียกว่าสมการแมกซ์เวลอันเลื่องชื่อ จนกระทั่งมาถึงปี ค.ศ.1888 (พ.ศ. ๒๔๓๑) นักฟิสิกส์หนุ่มชาวเยอรมัน เฮนริช เฮิร์ตซ (Heinrich Hertz) ได้ทำการสาธิตการแผ่กระจายคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าทั้งการสร้างและการตรวจจับสัญญาณในระดับห้องปฏิบัติการจนเป็นผลสำเร็จ อาศัยความรู้มาจากสมการของแมกซ์เวลดังกล่าว ช่วงต้นทศวรรษที่ ค.ศ. 1890 กูเกียเอลโม มาร์โคนี (Guglielmo Marconi) นักวิทยาศาสตร์หนุ่มลูกผสมชาวไอริช-อิตาเลียนได้นำเสนอเครื่องมือสำหรับการสร้างสัญญาณแบบไร้สายขึ้นในปี ค.ศ. 1896 (พ.ศ. ๒๔๓๙) และไม่กี่ปีหลังจากนั้นระบบสร้างสัญญาณไร้สายด้วยคลื่นวิทยุจึงสามารถส่งสัญญาณครอบคลุมระยะทางได้ไกลหลายร้อยไมล์ที และถัดมาสามารถทำการรับสัญญาณดังกล่าวที่ส่งจากเกาะอังกฤษข้ามมหาสมุทรแอตแลนติกมายังเกาะนิวฟาวด์แลนด์ (Newfoundland) ทวีปอเมริกาเหนือได้สำเร็จในเดือนธันวาคมของปี พ.ศ. ๒๔๔๔ (ค.ศ. 1901) ... )

๒. กรณีศึกษา หนึ่งใน "เจ็ดสิทธิบัตรมหัศจรรย์โทรคมนาคมโลก”

“S”

 

สัญญาณคลื่นวิทยุแทนภาษาอังกฤษหนึ่งอักขระนี้ ได้ถูกส่งผ่านอากาศข้ามมหาสมุทรแอตแลนติกและเป็นครั้งแรกของการสื่อสารข้ามทวีปโดยไม่ได้ผ่านสายเคเบิล เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 12 ธันวาคม ปี ค.ศ. 1901 โดย กูเกียเอลโม มาร์โคนี (Guglielmo Marconi) ซึ่งทำการส่งสัญญาญโทรเลขข้ามมหาสมุทรจาก คอร์นวอลล์ (Cornwall) ประเทศอังกฤษ ไปยังค่ายทหารบนเกาะนิวฟาวด์แลนด์ (Newfoundland) ทวีปอเมริกาเหนือ … แม้เป็นเพียงรหัสมอร์สสั้น แต่ผู้คนทั่วโลกสมัยนั้นถึงกับตื่นตะลึงกับการรับส่งโทรเลขที่ไม่ได้ผ่านมาทางสายเคเบิลใต้น้ำดังเช่นก่อน ๆ หน้าที่มีใช้งานมา และตั้งแต่บัดนั้นมาการสื่อสารไร้สายด้วยคลื่นวิทยุของโลก … จึงได้กำเนิดขึ้น

 

 

หมายเหตุ:

มาร์โคนี ได้รับรางวัลโนเบลสาขาฟิสิกส์ในปี ค.ศ.1909 ร่วมกับคาร์ล เฟอร์ดินานด์ เบราน์ (Karl Ferdinand Braun) จากการพัฒนาโทรเลขไร้สาย ("in recognition of their contributions to the development of wireless telegraphy")

 

๒.๑ แรงบันดาลใจที่จุดประกาย

ตั้งแต่ฟาราเดย์ (Michael Faraday) และเฮนรี่ (Joseph Henry) ได้ทำการทดลองการเหนี่ยวนำแม่เหล็กไฟฟ้า และแมกซ์เวล (James Clerk Maxwell) คิดค้นและหาความสัมพันธ์ของสนามไฟฟ้ากับสนามแม่เหล็ก กว่าสองทศวรรษต่อมาเฮิร์ตซ (Heinrich Hertz) จึงได้ทดสอบและพบว่าสมการของแมกซ์เวลนั้นเป็นจริง และทำการส่งคลื่นอันเกิดจากสนามทั้งสองผ่านอากาศได้เป็นครั้งแรกของโลกซึ่งรู้จักกันดีในชื่อของ คลื่นเฮิร์ตซ (Hertzian wave) ต่อมาหลังจากนั้นจึงเข้าสู่ยุคของการประดิษฐ์คิดค้นเครื่องมือหรืออุปกรณ์ที่เกี่ยวกับสนามแม่เหล็กไฟฟ้าและมีผลลัพธ์ออกมาอย่างต่อเนื่องกับสิ่งประดิษฐ์ที่ไม่ใช้สายสัญญาณในการเชื่อมต่อ แต่เปลี่ยนมาใช้คลื่นวิทยุในการส่งสัญญาณแทนสายแบบเดิม โดยอุปกรณ์สำคัญที่คิดค้นกันในช่วงเวลาร่วมสมัยนั้นมีสามชนิด คือ ขดลวดสปาร์คของรูห์มครอฟ (Ruhmkorff sparking coil) ตัวออสซิลเตอร์ของริกีฮ์ (Righi oscillator) และตัวรับโคฮีเรอร์ของแบรนลี (Branly coherer receiver) อย่างไรก็ตามอุปกรณ์หลักทั้งสามนั้นยังมีประสิทธิภาพที่ไม่ดีนัก ดังนั้น การส่งสัญญาณด้วยคลื่นวิทยุจึงถูกกำจัดอยู่เพียงระยะ 1-2 กิโลเมตร และในช่วงเวลาเดียวกันนั้นเองได้มีนักประดิษฐ์พยายามจะสร้างอุปกรณ์การรับส่งโทรเลขจากแบบที่คุ้นเคยมีสายสัญญาณต่อใช้งานให้กลายมาเป็นแบบไร้สาย (wireless telegraphy) กันมากขึ้น จึงได้มีผู้มาถามถึงความเป็นไปได้กับ เฮิร์ตซ (ผู้เริ่มต้นทำการทดลองคลื่นวิทยุผ่านอากาศ) ว่า

 

“คลื่นเฮิร์ตซสามารถใช้สำหรับโทรเลขไร้สายได้หรือไม่”

 

เฮิร์ตซ ตอบขณะนั้นว่ายังไม่ได้ เพราะเหตุผลสองประการ คือ ประสิทธิภาพของออสซิลเลเตอร์ที่ใช้การสปาร์คยังมีประสิทธิภาพต่ำมาก และอีกประการคือตัวตรวจจับ (detector) ยังมีความไวไม่เพียงพอ

 

ในปี ค. ศ. 1894 เฮิร์ตซ เสียชีวิตและในปีเดียวกันนั้นเอง มาร์โคนี ผู้ซึ่งมีความฝันที่จะทำระบบใช้คลื่นวิทยุจากการศึกษางานของเฮิร์ตซและนักประดิษฐ์อื่น ๆ โดยได้รับคำแนะนำจากออกัสโต ริกีฮ์ (Augusto Righi) ที่มหาวิทยาลัยโบโลญญา (อิตาลี - Bologna) ได้ฉายแววแห่งอนาคตขึ้น โดยทำการทดลองช่วงแรก ๆ อันเกิดขึ้นในช่วงฤดูร้อนของปี ค. ศ. 1894 ด้วยการสร้างเครื่องเตือนพายุที่ประกอบด้วยแบตเตอรี่ ตัวรับโคฮีเรอร์ และกระดิ่งไฟฟ้า ซึ่งเครื่องจะทำงานเมื่อมีฟ้าผ่าเกิดขึ้น และหลังหนึ่งปีถัดมาจึงได้ทำการทดสอบนอกสถานที่โดยสามารถส่งสัญญาณได้ไกลถึง 2.4 กิโลเมตร ซึ่ง ณ จุดการพัฒนานั้นเองทำให้ตระหนักในสิ่งที่คิดค้นขึ้นมาได้ว่า อุปกรณ์ต่าง ๆ เหล่านั้น หากพัฒนาต่อไปให้สามารถรับส่งสัญญาณได้ไกลกว่าเดิมเรื่อย ๆ ก็จะมีโอกาสที่นำไปใช้ในงานเชิงพาณิชย์และงานทางทหารได้ด้วยและจะมีผลกระทบสูงมากตามมานั่นเอง

 

ดังนั้น มาร์โคนี จึงได้ทำบันทึกข้อความถึงรัฐมนตรีกระทรวงไปรษณีย์และโทรเลขของประเทศอิตาลี โดยได้อธิบายหลักการหรือกลไกของระบบโทรเลขไร้สายที่สร้างขึ้น รวมทั้งในตอนท้ายได้สอบถามเรื่องทุนในการทำวิจัยต่อ อย่างไรก็ตาม มาร์โคนี ไม่ได้รับการตอบกลับจากรัฐมนตรีแต่อย่างใด ดังนั้น ในปี ค. ศ. 1896 จึงได้ปรึกษากับ คาร์โล การ์ดินิ (Carlo Gardini) กงสุลสหรัฐอเมริกา ณ เมืองโบโลญญาในเรื่องที่ตนเองจะข้ามไปทำงานยังประเทศอังกฤษ การ์ดินิ จึงได้เขียนบันทึกส่งถึงเอกอัครราชทูตอิตาลี ณ กรุงลอนดอน แอนนิบาเล เฟอร์เรโร (Annibale Ferrero) โดย เฟอร์เรโร ได้ตอบกลับพร้อมทั้งให้คำแนะนำโดยไม่ได้เปิดเผยข้อมูลใด ๆ ที่ มาร์โคนี สร้างขึ้นกระทั่งได้รับสิทธิบัตรในภายหลัง

 

จากนั้น มาร์โคนี หนุ่มไฟแรงอายุเพียง 21 ปี จึงได้เดินทางมายังกรุงลอนดอนพร้อมมารดาด้วยความทะเยอทะยานเพื่อหาแหล่งสนับสนุนในสิ่งที่คิดค้นขึ้น มาร์โคนี ได้เดินทางต่อไปยังเมืองท่า “โดเวอร์” (Dover) และที่สำนักงานศุลกากรแห่งเมืองนั้นเองได้พบกับสิ่งประดิษฐ์และเครื่องมือต่าง ๆ มากมายอันเป็นอีกแรงกระตุ้นเมื่อได้มาประสบเห็น และเมื่อมีโอกาสได้เข้าไปอธิบายนำเสนอในสิ่งที่คิดค้นมา ผลที่ได้รับคือ หน่วยงานดังกล่าวจึงได้ติดต่อไปยังกองทัพเรือของรัฐบาลอังกฤษในกรุงลอนดอนโดยทันที ในที่สุด วิลเลี่ยม พรีซ (William Preece) ผู้อำนวยการด้านวิศวกรรมไฟฟ้าของหน่วยงานด้านไปรษณีย์ประเทศอังกฤษจึงได้ให้ความสนใจ และสนับสนุนงานของ มาร์โคนี ในที่สุด

 

๒.๒ กลยุทธ์ที่โดดเด่นของสิทธิบัตร

แม้ว่า มาร์โคนี จะมีสิทธิบัตรมากจำนวนเกิน 30 ฉบับในภายหลัง แต่ช่วงแรกของการจดสิทธิบัตรเหล่านั้นกลับมีอุปสรรคมากมายเนื่องจากมีทั้งต้องทำการพิสูจน์และถูกตั้งข้อสังเกตถึงที่มาของการคิดค้น รวมไปถึงบางส่วนก็มีพบว่าซ้ำกับของผู้คิดค้นอื่น ๆ โดยเฉพาะของ ลอด์จ (Lodge) เทสลา (Tesla) บอสต์ (Bose) แบรนลี่ (Branly) โปโปจ (Popov) และนักประดิษฐ์อื่น ๆ ที่ก็ทำงานและประดิษฐ์อุปกรณ์สื่อสารมากมายอยู่ในช่วงเวลาเดียวกันกับมาร์โคนี นั่นเอง 1

 

ดังตัวอย่างข้อพิพาทระหว่าง มาร์โคนี กับ โอลิเวอร์ ลอร์จ (Oliver Lodge) ภายใต้สิทธิบัตรหมายเลข GB 12039 ปี ค.ศ. 1897 โดยสิทธิบัตรชื่อ “Improvements in Transmitting Electrical impulses and Signals, and in Apparatus therefor” แจ้งจดเมื่อวันที่คือ 2 มิถุนายน ค.ศ. 1896 และ “Complete Specification Left” วันที่ 2 มีนาคม ค. ศ. 1897 แต่อย่างไรก็ตาม ลอร์จ ได้อ้างในสิทธิว่าสิทธิบัตรนี้มีส่วนของแนวคิดตนเองอยู่ และในที่สุดสิทธิบัตรพิพาทเหล่านั้นจึงถูกยกเลิก 2

 

เมื่อย้อนกลับไปพิจารณาที่การพิพาทสิทธิบัตร ได้เกิดมีองค์ความรู้เกิดขึ้นพร้อม ๆ กันไปด้วยที่อยู่ในข้อโต้แย้งระหว่าง ลอร์จ และ มาร์โคนี เหล่านั้น พิจารณาได้ว่า อาจเนื่องมาจาก มาร์โคนี ไม่สามารถอธิบายหลักการของโทรเลขไร้สายได้อย่างกระจ่างชัดนัก และนอกจากนั้นยังมีข้อสังเกตจากนักวิจารณ์ว่า เหตุที่ ลอร์จ ไม่ยอมรับว่า มาร์โคนี เป็นผู้คิดค้นโทรเลขไร้สายเหตุเพราะ มาร์โคนี นั้นเป็นชาวอิตาลีมิใช่คนอังกฤษ ซึ่งในอดีตมีผู้คิดค้นเรื่องไฟฟ้าและแม่เหล็กเกี่ยวข้องกับประเทศอังกฤษล้วนเป็นผู้ที่โด่งดัง มีทั้ง ฟาราเดย์ คาลวิล และแมกซ์เวลล์ อีกทั้งเคยมีเหตุในอดีตอีกเรื่องหนึ่ง คือ คลื่นเฮิรตซ์ ซึ่งค้นพบโดย เฮิรตซ์ ชาวเยอรมันนั้น ลอร์จ เองก็เคยได้พยายามจะเปลี่ยนให้เป็นชื่อ“คลื่นแมกซ์เวล” (Maxwellian wave) อีกต่างหากด้วย !

 

อย่างไรก็ตามหากศึกษาและติดตามการทำงานของ มาร์โคนี ตั้งแต่ได้ทำการทดลองการส่งสัญญาณจากที่บ้านในอิตาลี ปี ค.ศ. 1895 เป็นต้นมา และได้ส่งข้อความข้ามมหาสมุทรแอตแลนติกได้เป็นคนแรกในปี ค.ศ. 1901 จะพบว่า วัตถุประสงค์และสิ่ง มาร์โคนี ทำนั้นชัดเจน และดำเนินการพัฒนามาอย่างต่อเนื่อง

 

และจนในที่สุด มาร์โคนี ได้รับสิทธิบัตรหมายเลข (GB) 7777 วันที่ 13 เมษายน ในปี ค.ศ. 1901 (ยื่นจด 26 เมษายน ค.ศ.1900) ในชื่อเรื่อง “การปรับปรุงเครื่องมือสำหรับโทรเลขไร้สาย (Improvements in Apparatus for Wireless Telegraphy)” ในเนื้อหาของสิทธิบัตรใหม่ที่ระบุนั้นจึงไม่ได้ระบุเพียงข้อถือสิทธิ (claims) เพียงว่าทำส่วนใดส่วนหนึ่งใหม่ แต่สิทธิบัตรใหม่นั้นอ้างถึงทุก ๆ สิ่งที่พัฒนาขึ้นไม่ว่าจะเป็น โคฮีเรอร์ ออสซิลเลเตอร์หรือแม้กระทั่งส่วนของสายอากาศ เป็นการจดสิทธิบัตรที่รัดกุมและประสบผลอย่างยิ่ง

 

 

หลังจากที่ มาร์โคนี ได้สิทธิบัตรแล้วนักวิทยาศาสตร์ชาวอังกฤษหลายคนจึงยอมรับหลักการดังกล่าวพร้อมทั้งกล่าวว่า มาร์โคนี เป็นผู้คิดค้นคนแรก โดยหนึ่งในนั้นคือ ซิลวานัส ธอมสัน (Silvanus Thomson) กล่าวไว้ว่า

 

“จะเห็นได้อย่างชัดเจนว่าจุดประสงค์ของสิทธิบัตรฉบับร่างมีความเป็นไปได้ว่า

การส่งสัญญาณโทรเลขสามารถครอบคลุมพื้นที่ได้อย่างกว้างขวางและขยายออกไป

ซึ่งแน่นอนว่าพวกเราควรได้กล่าวถึงความเป็นไปได้นี้ต่อสาธารณะว่า

มาร์โคนีเป็นผู้คิดค้นได้เป็นคนแรก... ”

 

“มันไม่ใช่เพียงสิทธิบัตรสำหรับโทรเลขไร้สายเท่านั้น

แต่หมายถึงการส่งผ่านสัญญาณของคลื่นเฮิรตซ์หรืออิมพัลส์ของสัญญาณอื่น ๆ”

 

ทว่า นอกจากการพิพาทกับ ลอด์จ ข้างตนแล้ว เทสลา (Tesla) ก็เป็นอีกผู้หนึ่งที่กล่าวถึง มาร์โคนี ในแง่ลบ โดยปรากฏข้อความหนึ่งหลังจากที่ มาร์โคนี ได้ส่งข้อความผ่านมหาสมุทรแอตแลนติกที่ว่า 3 [3]

 

“มาร์โคนี เป็นเพื่อนที่ดี ให้เขาทำแบบนั้นต่อไปเถิด เขากำลังใช้สิทธิบัตร 17 ฉบับของฉันอยู่”

(Marconi is a good fellow...Let him continue. He is using 17 of my patents)

 

 

อย่างไรก็ตาม ตั้งแต่ช่วงปี ค. ศ. 1902-1912 มาร์โคนี ได้รับสิทธิบัตรที่ยื่นขอจดเพิ่มมากขึ้น และมากกว่าบุคคลอื่น ๆ ที่เคยมีข้อพิพาทข้างต้น


 

๒.๓ ผลกระทบเชิงพาณิชย์

ปี ค. ศ. 1898 มาร์โคนี ได้เปิดบริษัทโทรเลขไร้สายชื่อ Marconi’s Wireless Telegraph Co. Ltd. ณ ประเทศอังกฤษ (ชื่อก่อนหน้าในปี ค. ศ. 1897 Wireless Telegraph & Signal Company) กระทั่งวันที่ 17 ตุลาคม ค. ศ. 1907 การใช้งานโทรเลขไร้สายในเชิงพาณิชย์จึงเริ่มต้นขึ้นอย่างเป็นทางการ โทรเลขไร้สายนี้ถูกประยุกต์นำไปใช้มากขึ้นและขยายวงกว้างออกไปมากขึ้นด้วย มีพัฒนาการมาจนถึงปี ค. ศ. 1920 จึงกำเนิดเป็นระบบวิทยุกระจายเสียงเพื่อความบันเทิงครั้งแรกในประเทศอังกฤษ และสองปีถัดมา ค.ศ. 1922 วิทยุกระจายเสียงภาคปกติได้เริ่มออกอากาศจากศูนย์วิจัย มาร์โคนี ที่เมืองชนบทเล็ก ๆ (Great Baddow) และเป็นการเริ่มต้นของบรรษัทข่าวระดับโลกบีบีซี (BBC) ในเวลาต่อมา และนอกจากในประเทศอังกฤษแล้ว บริษัทโทรเลขไร้สายของ มาร์โคนี ณ ประเทศแคนาดาก็ได้กำเนิดขึ้นเมื่อ ค.ศ. 1903 ณ กรุงมอนทรีออล (Montreal) มาจนถึงปี ค.ศ. 1925 บริษัทนี้จึงมีชื่อว่า “Canadian Marconi Company” (ภายหลังเปลี่ยนชื่ออีกครั้งเป็นCMC Electronics Inc. หรือCMC Électronique ในปี ค.ศ. 2001)

 

(ข้อมูลจาก IEEE ComSoc: ประวัติย่อการสื่อสารโลก) ด้านฝั่งสหรัฐอเมริกา การใช้งานระบบสื่อสารด้วยสัญญาณวิทยุได้รับความนิยมและการยอมรับอย่างมากภายหลังจากที่เกิดเหตุการณ์อุบัติเหตุร้ายแรงทางทะเลเพียงไม่กี่ปี โดยใน ปี พ.ศ. ๒๔๕๙ (ค.ศ. 1916) แฟรงก์ คอนราด (Frank Conrad) นักวิทยุสมัครเล่นและเป็นวิศวกรจากบริษัทเวสติ้งเฮาส์ (Westinghouse) ได้เริ่มทดลองส่งสัญญาณกระจายเสียงเพลงจากบ้านที่เมืองพิตส์เบิร์ก (Pittsburgh) โดยที่นักวิทยุสมัครเล่นอื่นๆ สามารถตรวจรับสัญญาณการกระจายเสียงนั้นได้ จึงเสมือนได้เป็นผู้ฟัง “คอนเสิร์ตไร้สาย” ของ คอนราด ร่วมกัน จากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นทำให้บริษัทเวสติ้งเฮาส์ตระหนักถึงศักยภาพของการทำการตลาดวิทยุกระจายเสียงที่กำลังจะมีมูลค่าสูง ดังนั้นในวันที่ ๒ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๕๙ (ค.ศ. 1916) บริษัทเคดีเคเอ (KDKA) จึงได้ก่อตั้งขึ้นโดยเป็นสถานีวิทยุกระจายเสียงเชิงพาณิชย์แห่งแรก โดยต่อมาก็เกิดมีสถานีวิทยุกระจายเสียงมากขึ้นกว่า ๕๐๐ สถานีในปี พ.ศ. ๒๔๖๖ (ค.ศ. 1923) และมีเครื่องรับวิทยุมากกว่าสี่ล้านเครื่องในประเทศสหรัฐอเมริกาเมื่อถึง ปี ค.ศ.1929

 

.......

เริ่มมาจากพื้นฐานการส่งสัญญาณโทรเลขไร้สาย ต่อเนื่องไปกับประโยชน์จากส่งรหัสมอร์สในช่วงเริ่มต้นจนเกิดเป็นกิจการที่พ่วงนำเอาสัญญาณเสียงจนถึงข้อมูลที่ซับซ้อนเข้ากับสัญญาณคลื่นวิทยุดังกล่าวได้ และได้รับการพัฒนาต่อเนื่องมาเป็นสู่กิจการการสื่อสารไร้สายรูปแบบต่าง ๆ ที่ไม่สิ้นสุดและมูลค่ามหาศาลในกาลต่อ ๆ มา

 

(Pending: ข้อมูล ITU)

 

๒.๔ ผลกระทบทางกฏหมายและข้อตกลงระหว่างประเทศ

เกิดกรณีศึกษามากมายกับสิทธิบัตรของ มาร์โคนี อันสำคัญและเกี่ยวข้องกับสิทธิบัตรอังกฤษหมายเลข (GB) N˚7777 โดยในปี ค. ศ. 1943 หลังจากที่ มาร์โคนี เสียชีวิตลงแล้วเป็นเวลา 6 ปี ศาลสูงสุดของสหรัฐอเมริกาได้ตัดสินคดีระหว่างบริษัทโทรเลขไร้สายของ มาร์โคนี กับ รัฐบาลสหรัฐอเมริกา

 

“ในกรณีที่รัฐบาลสหรัฐอเมริกาใช้ผลจากสิทธิบัตรของ มาร์โคนี ไปในภารกิจช่วงสงครามโลกครั้งที่ ๑

จากการพิจารณาอย่างละเอียดถี่ถ้วนของประเด็นสิทธิบัตร มาร์โคนี กับระบบของคู่กรณี

ที่มีรากฐานมาจากการดัดแปลงให้หม้อแปลงที่มีการเปลี่ยนแปลงได้ในตัวส่งและวงจรภาครับ

ซึ่งวงจรทั้งสองก็ได้มาจากการปรับปรุงจากสิ่งประดิษฐ์อื่น ๆ ที่เกิดมาก่อนหน้านี้ คือ

สิทธิบัตรของ โอลิเวอร์ ลอร์จ (Patent No. 609, 154) จอห์น สโตน (Patent No. 714,756)

และนิโคลา เทสลา (Patent No. 645,576)”

 

(คำพิพากษาไม่เป็นเอกฉันท์ 4)

 

ความขัดแย้งที่โด่งดังจากสิทธิบัตรของ มาร์โคนี นั้นยังมีผลด้านอื่น ๆ ต่อเนื่องมา ปรากฏที่ประเทศอังกฤษด้วยว่า แผ่นหินสลักที่หน้า BT Centre, Newgate Street กรุงลอนดอนได้จารึกไว้ว่า

 

“ณ ที่แห่งนี้ กูเกียเอลโม มาร์โคนี ส่งสัญญาณไร้สายต่อสาธารณะครั้งแรกเมื่อวันที่ 27 กรกฎาคม ค.ศ.1896”

(From this site GUGLIELMO MARCONI made the first transmission of wireless signals on 27 July 1896) 5

 

ขณะที่แผ่นไม้สลักหน้ามหาวิทยาลัยอ๊อกซฟอร์ดระบุในโอกาสฉลองครบศตวรรษของการสาธิตโทรเลขไร้สายครั้งแรก (ส่วนหนึ่ง) ว่า

 

“... โอลิเวอร์ ลอด์จ สาธิตการรับสัญญาณรหัสมอร์สส่งมาจากที่ ... ระยะห่างประมาณหกสิบเมตร” 6

 

๒.๕ ผลกระทบเชิงสังคมและมนุษย์

(ข้อมูลจาก IEEE ComSoc: ประวัติย่อการสื่อสารโลก) การพัฒนาการสื่อสารด้วยคลื่นวิทยุดำเนินกันมาอย่างต่อเนื่องและมีความสำคัญมากขึ้น จนเกิดมีความแพร่หลายของกิจการการแพร่กระจายคลื่นวิทยุ (Broadcasting) ขึ้น ซึ่งเริ่มตั้งแต่หลังปี พ.ศ. ๒๔๖๓ (ค.ศ. 1920) เป็นต้นมา คลื่นวิทยุดังกล่าวได้ถูกนำมาประยุกต์สำหรับงานด้านโทรเลขไร้สายเป็นหลัก ซึ่งก็ได้กลายเป็นระบบสื่อสารที่มีความสำคัญมากขึ้นไปอีกเมื่อถูกนำไปใช้งานร่วมในการกู้ภัยทางทะเลสามเหตุการณ์ ที่เป็นอุบัติเหตุที่ร้ายแรงของช่วงต้นคริสต์ศตวรรษที่ 20 โดยในเดือนมกราคมพ.ศ.๒๔๕๒ (ค.ศ. 1909) เกิดอุบัติเหตุเรือรีพลับลิค (Republic) ของบริษัทไวท์สตาร์ไลเนอร์ (White Star liner) ได้ชนเข้ากับเรือโดยสารฟลอริด้า (Florida) เนื่องจากหมอกลงจัด จากสัญญาณวิทยุแจ้งเหตุของเรือรีพลับลิคทำให้บริษัทไวท์สตาร์ไลเนอร์สามารถส่งเรือเดินสมุทรบอลติก (Baltic) เข้าไปช่วยชีวิตผู้โดยสารที่ลอยคออยู่ในทะเลจำนวน ๑,๖๕๐ รายเอาไว้ได้ทั้งหมด ต่อมาในเดือนเมษายนปี พ.ศ. ๒๔๕๕ (ค.ศ. 1912) เรือสำราญลำหรูไททานิค (Titanic) ประสบอุบัติเหตุชนภูเขาน้ำแข็งและจมลง มีผู้โดยสารและลูกเรือเพียง ๗๐๐ คนเท่านั้นที่ได้รับการช่วยชีวิตจากจำนวนทั้งหมด ๒,๒๐๐ คน ซึ่งจำนวนผู้รอดชีวิตของเรือไททานิคควรจะมีมากกว่านี้ถ้าหากเรือบริเวณใกล้เคียงมีการเฝ้าระวังการรับสัญญาณขอความช่วยเหลือทางคลื่นวิทยุตลอด ๒๔ ชั่วโมง

 

(กัปตันฟิลลิปส์ ได้ส่งข้อความขอความช่วยเหลือผ่านระบบโทรเลขไร้สายว่า

“CQD require assistance position 41.46N 50.14W struck iceberg Titanic.”

แจ็ค ฟิลลิปส์ (Jack Phillips), 14 เมษายน ค.ศ. 1912) 7

 

และอีกเหตุการณ์หนึ่งเมื่อเดือนตุลาคมของปี พ.ศ. ๒๔๕๖ (ค.ศ. 1913) เรือโดยสารเดินสมุทรโวลเทอร์โน (Volturno) เกิดเหตุไฟไหม้กลางมหาสมุทรแอตแลนติก สัญญาณวิทยุขอความช่วยเหลือของเรือโวลเทอร์โนได้รับการตอบสนองโดยมีเรือสิบลำเข้าร่วมกู้ภัย ทำให้ผู้โดยสารและลูกเรือทั้งหมดได้รับความช่วยเหลืออย่างปลอดภัย นอกเหนือจากเหตุการณ์ดังกล่าว การนำเอาระบบสื่อสารด้วยคลื่นวิทยุนี้ไปใช้งานในช่วงสงครามโลกครั้งที่หนึ่งก็เป็นอีกหนึ่งประจักษ์พยานของการเข้ามามีบทบาทมากขึ้นของเทคโนโลยีแขนงใหม่นี้

 

.............................................

 

จากจุดเริ่มต้นของ มาร์โคนี ของคิดค้นโทรเลขไร้สาย และเริ่มต้นการใช้งานกับกิจการเรือและการส่งวิทยุกระจายเสียงเป็นส่วนใหญ่ แต่ได้เป็นฐานรากเทคโนโลยีการสื่อสารไร้สายในเวลาต่อ ๆ มา ทั้งระบบวิทยุกระจายเสียงและภาพจากแอนะล็อกจนถึงดิจิทัล โทรศัพท์เคลื่อนที่ การสื่อสารผ่านดาวเทียม ระบบสื่อสารการบิน ตลอดจนกิจการอวกาศ เป็นต้น สร้างผลกระทบในชีวิตมนุษย์และสิ่งแวดล้อมอยู่เป็นประจำทุกวัน ทุกวินาทีแล้ว

1 http://www.patent-invent.com/radio_patents.html

2 http://www.mhs.ox.ac.uk/marconi/exhibition/7777.htm

3P. Brenner, “Tesla against Marconi: The dispute for the radio patent paternity,” EUROCON 2009, pp. 1035- 1042, 2009.

4 https://supreme.justia.com/cases/federal/us/320/1/case.html

5 http://www.geograph.org.uk/photo/2194050

6 http://www.cfpf.org.uk/news_files/2002-10-28_lodge_plaque.php#on

7 https://www.mhs.ox.ac.uk/marconi/exhibition/titanic.htm

1 / 1

Please reload

วิเคราะห์เทคโนโลยี (สิทธิบัตรมหัศจรรย์นี้กำเนิดขึ้นได้อย่างไร ?)

bottom of page