top of page

The Hologram : a story - แสงสีวิจัย (มิติอดีต สู่อนาคต) - Miracle story behind R&D !

ฮอโลแกรม (Hologram) ภาพ ๓ มิติ เมื่อครั้งช่วงเวลากาญจนาภิเษก ฉลองสิริราชสมบัติ ๕๐ ปี (Golden Jubilee) พ.ศ.๒๕๓๙ กับเรื่องราวผ่านสติกเกอร์แบนราบเพ่งภาพเห็นมิติ แม้จะหมองดูเก่าแต่เรื่องเล่าผ่านแสงที่เดินทางไวที่สุดในเอกภพก็ได้มาบรรจบกับความสวยงามของวิทยาศาสตร์ที่มนุษย์คิดทำขึ้น ผลจากความต่างมุมหลายระดับการแทรกสอดของแสงนี้ยังคง ... ขลัง !
 
(บอกเล่าเรื่องราวงานวิจัยและพัฒนาไทยยุคใหม่สมัยแรก ๆ ... พร้อมแทรกเกร็ดระบบอุปถัมภ์ในสังคมวิจัยที่สะสมงบประมาณไปมหาศาล
โอกาสที่เกิดขึ้นกับผู้รับประโยชน์รุ่นหลังของงานชิ้นนี้จึงควรได้ "คืนทุน" แด่สังคมวิจัยไทยอย่างจริงจัง)
(Since:  October 29, 2017 - Updated:  February 7, 2023)
Thumnails.004.jpeg

(๒๕ ปีฮอโลแกรมกาญจนาภิเษก)

“ภาพ(วิจัย)สามมิติ"   (เผยแพร่ครั้งแรก ๔ พ.ค. ๕๙ )
(เรียบเรียง เกียรติศักดิ์ ศรีพิมานวัฒน์)
(มิติ ๑)   
ย้อนแสงส่องความงามยามมอง... อลังการ แม้ยามที่เลยยี่สิบปีเข้าไปแล้วกับฮอโลแกรมแผ่นนี้

เป็นผลงานประวัติศาสตร์ของ Dr.Fu Kuo Hsu ผู้ที่ใช้ชื่อจีนนี้จนเรียกกันเป็นปกติว่า “ดร.ฟู” เขาคือคนไทยผู้ไปอยู่เมืองจีนนานกว่าสิบปีตั้งแต่วัยเยาว์ ทั้งเรียน “แสง” และต่องานที่เซี่ยงไฮ้ ฮ่องกง งานที่ทำก็เรื่อง “แสง” เมื่อย้ายไปทำงานและศึกษาต่อที่แดนลุงแซม สหรัฐอเมริกาก็ยังคงเชี่ยวชาญกับการเล่น “แสง” จนอยู่มือ

“ผมเล่นกับเลเซอร์”

ทำจริงแต่ใช้คำว่าเล่นจนเป็นปรมาจารย์ที่เบิร์กลีย์ และวันที่โครงการสมอง (ไทย) ไหลกลับบ้าน ยุคที่เมืองไทยตื่นตัวด้านวิทย์รอบแรก (พ.ศ.๒๕๒๕ - ๒๕๓๐) ปรมาจารย์ท่านนี้ที่เพิ่งจบปริญญาเอกในวัยที่ปาเข้าไปเลขห้าแล้วนั้น ก็กลับมาเมืองไทยรอบใหญ่รอบนั้นด้วย

“ลูกผมเรียนจบก่อนอีก !”

เสียงเกริ่นสอนบอกของดร.ฟูเมื่อกว่ายี่สิบปีก่อนหน้ายังก้อง ๆ ว่า การเรียนแบบทำงาน เรียนที่จะรู้ แล้วรักที่จะทำ งานก็สามารถนำไปสู่การการเรียนได้ มิใช่เรียนเพื่อปริญญาไม่ได้เอาป.เอกมาทำอะไร แต่เอางานเอาผลของงานมาใช้ (อายุเท่าไหร่ก็ใฝ่เรียน) … นี่ซิใช่เลย

 

“ดร.วิริยะ” คือชื่อไทยเมื่อกลับมาบ้านเกิดแล้ว นามนี้ถึงทราบกันในวงการแต่ก็มักเอ่ยติดปากมากกว่าว่า “ดร.ฟู” แล้วก็มักถูกจำผิดคนกับ ดร.ฟูศักดิ์ อาจารย์อีกท่านที่ลาดกระบัง (ห้องปฏิบัติการที่ต่างสังกัดแต่ตั้งอยู่ในรั้วเดียวกัน)

 

“มาหา ดร.ฟู … คนไทยนะ” 
 

จึงมักมีนักศึกษาพาแขกเยี่ยมชมข้ามรางรถไฟไปพบกับอาจารย์ด้าน remote sensing ที่ภาควัดคุมทางอุตสาหกรรมแทน...คนไทยเหมือนกันแต่ไม่ใช่ กว่าจะเจอตัวจริงผิดซะบ่อยเลย

 

“ดร.ฟู ฮอโลแกรม” ชื่อนี้จึงมีเรียกเพิ่มใหม่ภายหลัง หาเจอง่ายขึ้นเมื่อผลผลิตงานด้านแสงเชิงสามมิติออกมาเป็นที่รู้จักช่วงยุคที่บัตรเครดิตเพิ่งกำลังเริ่มบูม ผู้คนเคยเห็นแผ่นสคส.ฮอโลแกรมนำเข้ามาเยอะ มาเริ่มคุ้นกับฮอโลแกรมรูปนกในกระเป๋าสตางค์กันก็แยะช่วงนั้นเอง แล้วก็

 

“นี่ เอาไปแผ่นนึง เห็นที่ผิดไหม แผ่นนี้ยังมีผิดนะ”

 

กับตราสัญลักษณ์งานใหญ่ยี่สิบปีก่อนของเมืองไทย แผ่นเรียบสีเงินสะท้อนแสงเก็บเก่ามายาวนาน เคยส่องอยู่สามนานจะหาให้เจอว่าจุดผิดอยู่ตรงไหน ไม่ได้เป็นคนทำแต่ต้องเพ่งย้อนศรแล้วจะพบอย่างไรล่ะนี่ ?

 

จึงต้องต่อการคุยพักลักเรียนกับนักวิจัยคนไทยที่ไหลกลับมาจากต่างแดน ซึ่งยังดูเหมือนเป็นคนต่างชาติต่างวัฒนธรรมมาก เพราะท่านผู้นี้เพิ่งกลับมาจากการใช้ชีวิตหลายทศวรรษนอกมิติห่างวัฒนธรรมการทำงานแบบไทย ๆ ไปนานนั่นเอง

 

“สวย สวย ครับ”

 

ตอบแบบกลาง ๆ ขอความรู้ต่อ เทคนิคที่ผิดนั้นท่านได้โปรดชี้แนะ (หาไม่เจอ ลึกล้ำเกิน ยังไม่เคยลงมือทำเองเลย)

 

“.... (ยิ้มตอบ) ....”

 

ครั้งกระโน้น … เทคโนโลยีวิศวกรรมแสงในเมืองไทยมีอยู่สองสามเจ้าเท่านั้นที่ใกล้เคียงสุดกับการเป็นสถานที่เรียน รู้ และเล่นจริงจัง. บางมดมีทำเลเซอร์ ส่วนฮอโลแกรม (แบบซำเหมา) มีที่จุฬาฯ ของ ดร.สมศักดิ์ ปัญญาแก้ว (https://goo.gl/SUoaO2) และที่ลาดกระบังของ ดร.แดนทอง (แดเนียล) บรีน (เช่นกัน … ซำเหมามาก ๆ ห้องมืดเล็กแบ่งจากห้องน้ำชายชั้นสี่ตึกอิเล็กฯ) นอกนั้นเป็นห้องปฏิบัติการพื้นฐานเพื่อนักศึกษาสาขาฟิสิกส์ของมหาวิทยาลัยใหญ่และส่วนภูมิภาคหลักที่ก็ไม่ครบเครื่อง แค่ “ได้รู้จักหลักการ” (ดูภาพงานผลที่เสร็จแล้ว ไม่ได้ทำเองทั้งหมด) หรือเป็นแลปกึ่งแห้งประกอบวิชา Optics 201 … ฮอโลแกรมบ้าน ๆ โชว์เสร็จแล้วเก็บเข้าตู้ที่ทำกันก่อนยุคสมัยน้าชาติเป็นนายกนั้น ภาพจึงต้องเอียงคอดูหนักหน่อยกว่าจะเห็นมิติ เพราะมาจากเครื่องไม้ใช้สองมือกันล้วน ๆ สร้างมิติขึ้นมาด้วย “ใจ” ทั้งนั้น

 

พลันที่ “ดร.ฟู” บุคลกรผู้ที่บินกลับมานำเสนอให้กระทรวงวิทย์ฟังว่าเทคโนฯ “แสง” จำเป็นสำหรับเมืองไทยในอนาคตนะ … สำเร็จ ได้งานใหญ่สร้างห้องปฏิบัติการพร้อมเครื่องมือที่อาจทำให้สองกลุ่มพื้นเมืองทำกันมาก่อนหน้า “น้ำลายหก”

 

อาจหกจริง ๆ หากได้ไปเห็น เพราะแค่โต๊ะแสงสองตัวปรับอัดลมอัตโนมัติให้นิ่งเนียบไม่กระเพื่อมก็บอกได้แล้วว่า อุปกรณ์แสงทรงเครื่องมูลค่าหลาย ๆ ล้านจะมาวางอยู่คู่บนโต๊ะนี้ในอนาคตอีกยาวนาน ... ต่างจากที่มีกันแบบซำเหมาทั้งประเทศก่อนหน้าแบบใช้โต๊ะปิงปองโต๊ะสนุ๊กดัดแปลงแกว่งตามแรงกด ทำนองนั้น .. มีงบทำหลักหมื่นก็หน้ามืดกันแล้ว

 

และแล้วก็ทำออกมาสวยคม คุ้ม ทนทานมานานนับยี่สิบปีแบบแผ่นผิวเคลือบนี้ สุดยอดแห่งยุค ... งานวิจัยแบบยกทั้ง “คน” “วิทยาการ”และ “ของ” มาตั้งแล้วลุยทำแบบนี้เมืองไทยเคยมีมาแล้ว !

เมื่อมือนิ่ง น้ำหนักนิด ความคิดกลมกล่อม ย่อมผุดซึ่งไอเดียบรรเจิด เกิดพอดีกับปีแห่งการเฉลิมฉลอง สองทศวรรษก่อนหน้าจึงได้เห็นราตรีประดับดาวระยิบระยับอยู่หลังรอบตราสัญลักษณ์ ที่ก็เปล่งแสงประกายสีในมิติเบื้องหน้า ล้อมด้วยฟ้าวาระกาญจนาภิเษก...

 

เพ่งมองสิ ! …

 

ซึมซับสีสันจากการแทรกสอดของแสง เพื่อย้อนประวัติศาสตร์เห็นการเริ่มวาดวิจัยและพัฒนาของไทยได้หลายเรื่องหลากมิติ ... จากแสงอดีตได้ส่องมาถึงมิติของวันนี้แล้ว

.........................

(มิติ ๒) 

ตำน้ำพริกละลายแม่น้ำ

การลงทุนแบบไม่คิดต้นทุนลักษณะเดิมเกิดขึ้นได้เฉพาะช่วงแรกของวงการวิทยาศาสตร์ไทยสมัยใหม่ (พ.ศ. ๒๕๓๐ - ๒๕๔๐) เท่านั้น

และสูญสลายหายไปกับการเรียนรู้ช่วงแรกนั้นเอง เช่น งานปฏิบัติการสร้างฮอโลแกรมนี้ และพลันที่รู้ตัวว่าเมืองไทยไม่มีพื้นฐานปัจจัยสี่สำหรับงานวิจัยและพัฒนา (คน งบ วิทยาการ และนโยบาย) ใด ๆ ในระดับที่เพียงพอ การตำน้ำพริกละลายแม่น้ำจึงได้เกิดขึ้นในช่วงเวลาต่อ ๆ มาหลายกรณีแล้ว อันควรได้เรียนรู้และพัฒนากันต่อไปกับบทเรียน เช่น

๑.​ ต่อมานับหลักร้อยถึงพันล้านของรอบกว่าสามสิบปีกับงานด้านไมโครอิเล็กทรอนิกส์ของอุตสาหกรรมไอซี (Intagrated circuits) ที่บูมมากช่วงต้นยุคทศวรรษที่ 80 เป็นต้นมา รวมทั้งในประเทศไทยที่อุตสาหกรรมนี้ร้อนแรงเกิดการลงทุนและก่อตั้งบริษัทประกอบไอซีในประเทศช่วงนิคมอุตสาหกรรมและฟองสบู่ เกิดศูนย์วิจัยและพัฒนาของรัฐฯ ตามแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 7 ในปีพ.ศ. 2538 คือ งานด้านไมโครอิเล็กทรอนิกส์ที่วางแผนไว้ว่าจะอยู่ท่ามกลางบริษัทประกอบไอซีต่างๆ แล้วก็เป็นไปตามกฏของเทคโนโลยี เมื่อผ่านมากว่าสองทศวรรษ ยุคไมโครฯ ก็มาถึงจุดเปลี่ยนสู่ยุคทองของนาโนฯ การบูมของอุตสาหกรรมก่อนหน้าดังกล่าวจึงแบนเล็กลงและหายไปตามเวลาทั้งเทคโนโลยี การลงทุน บริษัทฯ และผู้คนที่เกี่ยวข้อง... ละลายสู่แม่น้ำเทคโนโลยีสายใหญ่

๒. เทคโนโลยีที่ต้องการลงทุนสูงสาขาใหม่ ๆ เกิดขึ้นได้ยาก ต่างจากการเริ่มยุควิทย์ไทยสมัยใหม่ครั้งแรกที่ไม่คิดต้นทุน (เช่น ฮอโลแกรม) ​หากมีโอกาสเกิดขึ้นได้จริงจัง จะต้องไปสู่ระดับศูนย์วิจัยและพัฒนาแห่งชาติ เช่น ศูนย์นาโนฯ งานด้านแสงซินโครตรอนฯ  ฯลฯ ซึ่งต้องลงทุนสูงทั้งสี่ปัจจัยหลัก รวมทั้ง การที่จะมีโอกาสเกิดช่องทางใหม่ใด ๆ ในเวลาที่ต้นทุนหาได้ยากต้องอาศัย "พละกำลังพิเศษ" และแรงอุปถัมภ์อีกมากมาย ! 

 

... เป็นต้น จึงไม่ควร "ตำน้ำพริกละลายแม่น้ำ" อีก

(อนาคตสำหรับ "ไอทีควอนตัมไทย" ได้ประมวลผลตัวอย่างไว้แล้วกับ “ศูนย์ทดสอบ ฝึกอบรมและถ่ายทอดเทคโนโลยีระบบวิทยาการรหัสลับเชิงควอนตัม (พ.ศ. ๒๕๕๙) ว่า หากไปไม่ถึงจุดมวลวิกฤติ ก็มิควรลงทุนใด ๆ เพื่อไม่ตำน้ำพริกละลายแม่น้ำเช่นอดีต แม้จะเกิดกรณีย้อนศรเกิดผลลบด้านวิชาการและความเข้าใจผิด การสื่อสารพลาดของระดับนโยบายมากมาย)

.............................

(มิติ ๓) 

เกร็ดสะท้อนแสง

ภาพฮอโลแกรม (Hologram) อันสวยงามนี้จึงนับว่าโชคดีมีโอกาสได้กำเนิดขึ้นจากงานวิจัยและพัฒนาช่วงแรกของวงการวิทย์ไทยสมัยใหม่ โดยเกิดอยู่ในต้นทุนสะสมด้านงานปฏิบัติการแสง (photonics) เกินร้อยล้านไปนานแล้วจากวันเริ่มต้นที่ทุ่มเทลงไป

ได้สร้างงาน มอบโอกาสและสร้างบุคลากรให้เกิดขึ้นหลายช่องทางต่อเนื่องมามากมาย นับเป็นตัวอย่างที่ควรได้เรียนรู้ และ ...

ควรที่ผลจากต้นทุนโอกาสที่สูงมากเหล่านั้นของ "ฮอโลแกรม" แผ่นเหล่านี้ จะได้เร่งช่วยช่วยเหลือให้กับอีกหลายสาขาเทคโนโลยี ที่ขาดโอกาสในลักษณะเดียวกันนั้นและละลายหายลงแม่น้ำไปก่อนหน้า (เช่น ไมโครอิเล็กทรอนิกส์ และอื่น ๆ)

รวมทั้ง เพื่อมอบโอกาสแด่เทคโนโลยีอนาคตสาขาอื่น ๆ ให้กำเนิดขึ้นได้จากต้นทุนเก่า

ที่ทำให้งานปฏิบัติการแสง (photonics) มีโอกาสได้ส่องแสงออกมา ...

มิติของภาพเหล่านี้ได้สะสมเรื่องราวที่มาของแสง "ฮอโลแกรม" อันสวยงามในอดีตเมืองไทยไว้แล้ว

พึงจะได้เริ่มทำหน้าที่ "ส่องแสงสู่สังคม" คืนโอกาสให้วงการวิจัยและพัฒนาไทยมิติอื่น ๆในอนาคต ... เป็นตัวอย่าง

 

 

.............................

(มิติ ๔) 

Hologram Model: งานวิจัยไทยสำเร็จได้ด้วย ... ?

 

เรื่องราวงานวิจัยและพัฒนาไทยยุคใหม่สมัยแรก ๆ ... พร้อมแทรกเกร็ดระบบอุปถัมภ์ในสังคมวิจัยไทยว่าเหตุแห่งความสำเร็จงานวิจัยในอดีตคืออะไร แล้วจะไปอย่างไรกันต่อให้สำเร็จได้อีก โดยพิจารณาจากตัวอย่างสองระดับคือ “บุคคลและทีม”

 

ก) อดีต ... ความสำเร็จของงานวิจัยไทย “ระดับบุคคล” เกิดขึ้นมาบ้างแล้วทั้งด้านเครื่องมือแพทย์รวมถึงผลต่อยอดทรัพยากรจากงานฮอโลแกรมสุดสวยนี้สู่งานด้านแสง (photonics เรื่องราวการเดินทางสร้างงานด้านฮอโลแกรมดูบทความ มิติ ๑- ๓) โดยความสำเร็จระดับนี้มีปัจจัยสู่เส้นชัยที่สะสมมาสูงมากในเรื่องทรัพยากร(งบและเวลา)ที่ใช้มานานแล้ว

 

ข) ขณะที่งาน “ระดับทีม” ที่ต้องอาศัยความต่างของความถนัดเช่นด้านโทรคมนาคมกับการผสม OSI ทั้ง 7 layers ให้ผสานกันนั้น ล้มเหลวมาโดยตลอด (http://www.tpa.or.th/publisher/pdfFileDownloadS/TN%20253p10-11.pdf) ปัจจัยสำคัญทั้งสี่ (คน งบ วิทยาการ และนโยบาย) ระดับทีมใหญ่มิเคยบรรจบได้พร้อมเพรียงกัน และยังมิเคยเกิดวัฒนธรรมความสำเร็จต่างระดับงาน (layer) ต่อ ๆ มาในเมืองไทย

 

เมื่อมองย้อนกลับไปที่งาน“ระดับบุคคล” ที่สรรเสริญกันว่าเป็นกรณีวิจัยและพัฒนาที่สำเร็จทั้งสองตัวอย่าง (เช่น อุปกรณ์การแพทย์และ photonics & optics) นั้น กลับพบว่างานหนึ่งด้านอุปกรณ์การแพทย์ใช้ทั้ง เวลา “การจัดการพิเศษ” และสะสมทรัพยากรไปร่วมสามสิบปี ส่วนด้านแสงนั้นได้สะสมทรัพยากรตั้งแต่งานฮอโลแกรมนี้ต่อมายังงานอื่นรอบด้าน (photonics & optics) โดยนำพาไปมากกว่าร้อยล้านถึงมีโอกาสการสร้างงานระดับเดี่ยวและได้บุคลากรแถวหน้าระดับตัวบุคคลในกว่าสองทศวรรษถัดมา

 

ดังนั้น หากเมืองไทยต้องการให้งานวิจัยและพัฒนาเป็นทีม (เช่น ไอที หรือ โทรคมนาคม) ประสบผลสำเร็จได้ จำเป็นยิ่งที่ต้องสร้างงานระดับบุคคลเดี่ยวให้สำเร็จดังเช่นตัวอย่างทั้งสองดังกล่าวก่อน ... และดูเหมือนว่าไม่มีทางอื่นใดเลยที่จะไปต่อได้หากมิใช่การสนับสนุนอย่างน้อยสุดหนึ่งใน “สี่ปัจจัยพื้นฐาน” ที่สำคัญให้เพียงพอ ที่เป็นไปได้มากสุดจากประสบการณ์ในอดีตของเมืองไทยนั่นก็คือปัจจัยด้าน “ทรัพยากร (งบและเวลา)” ... 

 

ใช่ !

เพียงแค่ได้งานหรือความสำเร็จของตัวบุคคลจำต้องทำแนวทางเหมือนเดิม

 

จึงมีข้อเสนอและอุปสรรคที่ได้สำรวจและติดตามประวัติการพัฒนางานวิจัยเมืองไทยผ่านเรื่องราวสวยงามของฮอโลแกรมมากว่าสามสิบปี ดังนี้

 

๑) รัฐฯไทยควรลงทรัพยากรแบบไม่อั้นเพื่อสร้างฝันคนวิจัยพันธ์ุใหม่ให้มีโอกาสเหมือนกรณีสำเร็จแบบที่เริ่มมาจาก Hologram model และต่อยอดได้งานระดับตัวบุคคลากรก่อน (แม้จะสร้างได้เพียงนักวิจัยโดดเด่นรายบุคคลหรือจำนวนน้อย) โดยรัฐฯต้องแบกรับแรงเสียดสีมากหากลงงบให้กับสาขาที่เลือกแล้วใด ๆ  แต่อีกมากสาขาอื่นจะไม่ได้รับในระดับเดียวกันนั้น กระนั้น ยังคงต้องสร้างและทุ่มอีกมากมายหลายครั้งกว่าจะได้เป็นทีมที่ใหญ่ขึ้น เพราะ ...

“ความสำเร็จแบบทีม เริ่มจากระดับตัวบุคคล” ที่ยังขาดแคลนหนัก* ... แม้จะยาก !

 

หรือ

 

๒) ส่วนบุคคลผู้ที่เคยได้รับประโยชน์แบบไม่อั้นกับการลงทุนทั้งเวลาและงบสะสมรวมโครงสร้างพื้นฐานงบแฝงมหาศาลในอดีตนั้น (เช่นเครื่องมือแพทย์และงานด้านแสง photonics & optics) จำต้องเป็นผู้คืนทุนหรือมีหน้าที่หาทรัพยากรมาให้คนรุ่นใหม่ ให้เขาเหล่านั้นพึงได้มีโอกาสตามที่(ไม่กี่)บุคคลในอดีตเคยมีโอกาส“สำเร็จ”มาเช่นกัน ... 

 

ทว่า ...

หากลงทรัพยากรไม่ได้กับข้อเสนอใดเลยจากทั้งสองประการนี้อีก แสดงว่าความหวังในการสร้างงานวิจัยและพัฒนาไทยแบบเป็นทีม (ไอที & โทรคมฯ)จึงเลือนลาง และเรื่องราวความสำเร็จระดับบุคคลเช่นตัวอย่างที่ผ่าน ๆ มา จะเป็นเพียงภาพพลางตาสวย ๆ ที่พยายามประชาสัมพันธ์ให้เป็นตำนานเล่าขาน เพราะเป็นเพียง ...

“ความสำเร็จระดับบุคคลที่ไม่อยากเผยให้เห็นทรัพยากรงบของรัฐฯและเวลาที่ลงไปมากมายซ่อนอยู่ด้านหลังเหล่านั้น” ... นั่นเอง

Hologram model ความสวยงามยามสะท้อนแสงที่ควรมองหลายมุมกระทบ ...

ความสำเร็จ(หรือไม่)ของงานวิจัยไทยไม่ว่าระบบ ทีม หรือเดี่ยวบุคคล ... พึงมองให้ครบหมดทุกมุม !

……….

หมายถึงอาชีพงานวิจัยและพัฒนาด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี

    กรณีนี้ไม่ครอบคลุมการสร้างทีมวิจัยแนวทางเมธีวิจัยอาวุโสของมหาวิทยาลัยด้วยทุนจากสกว.

(หมายเหตุ: วิดีโอนี้ใช้แสงสีเหลือง)

  • Wix Facebook page

(หมายเหตุ: วิดีโอนี้ใช้แสงสีขาว)

IDL 2021 - 25th Anniversary of the Golden Jubilee Hologram
(๒๕ ปี งานวิจัยแสงซ่อนเร้น พ.ศ.๒๕๖๔)

bottom of page