ไอทีควอนตัม เมืองไทย
泰国量子信息论坛
2024 by OQC academy &
IEEE Thailand section Quantum IT
(since 2014 - best view on desktop)
Hologram
กิจกรรมการกุศล
“เพื่อการพัฒนาบุคลากรวิศวกรรมไฟฟ้าไทย & เพื่อจัดหาทุนสร้างกิจกรรมไอทีควอนตัมไทยและขอรับวิทยาการจากต่างประเทศ”
(Since: Dec 15, 2017 updated: June 23, 2018)
เจ็ดทศวรรษที่มั่นคงกับอาจารย์ปู่ “ณรงค์ อยู่ถนอม”
(จากเด็กหัวนาคนอยู่วัดลัดฟ้าสู่อเมริกากลับมาพัฒนาวิศวกรรมไฟฟ้าไทย)
“เกร็ดการดำเนินชีวิตตลอดช่วงเจ็ดทศวรรษที่ผ่านมาของ “อาจารย์ณรงค์” สามารถนำมาใช้
เป็นองค์ความรู้จนถึงตำราของการพัฒนาบุคลากรได้อย่างกว้างขวาง มิจำกัดเพียงในวงการวิศวกรรมไฟฟ้าเท่านั้น”
(พรสงกรานต์ : ภาค ๔)
(เรื่องเสียใจในชีวิต : ภาค ๓)
(สวัสดีปีใหม่ พ.ศ.๒๕๖๑ : ภาค ๑)
(สวัสดีปีใหม่ พ.ศ.๒๕๖๑ : ภาค ๒)
โดย
กลุ่มศึกษาวิจัยและพัฒนาสารสนเทศเชิงควอนตัมไทย (Thai Quantum Information Forum: Q-Thai.Org)
ชมรมไฟฟ้าสื่อสาร (IEEE Communications Society - Thailand chapter)
สมาคมสถาบันวิศวกรไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์แห่งประเทศไทย (IEEE Thailand Section)
และ สมาคมวิชาการไฟฟ้า อิเล็กทรอนิกส์ คอมพิวเตอร์ โทรคมนาคมและสารสนเทศ (ECTI)
ที่มา
ต่อเนื่องจากโครงการในอดีต “ทศวรรษหน้าวิศวกรรมไฟฟ้าและฟิสิกส์ไทย” กิจกรรมแรกของเมื่อปี พ.ศ. ๒๕๖๐ โดยโครงการการสื่อสารปลอดภัยสูงสุดด้วยรหัสลับควอนตัม: การถ่ายทอดเทคโนโลยีและพัฒนาบุคลากรของคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร ร่วมกับคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลพระนคร คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา สาขาโทรคมนาคม (Telecom) สมาคมวิชาการไฟฟ้า อิเล็กทรอนิกส์ คอมพิวเตอร์ โทรคมนาคมและสารสนเทศ (ECTI) และชมรมไฟฟ้าสื่อสาร (IEEE Communications Society - Thailand chapter) ของสมาคมสถาบันวิศวกรไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์แห่งประเทศไทย (IEEE Thailand Section) ได้จัดงาน Dinner Talk ครั้งแรกขึ้นในวันเสาร์ที่ ๒๐ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๖๐ ที่ผ่านมา ณ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลพระนคร (ภาคผนวก ก.) โดยมีวิทยากรร่วมบรรยายสองท่านคือ รศ.ดร.ณรงค์ อยู่ถนอม และ ศ.เกียรติคุณ ดร.ถิรพัฒน์ วิลัยทอง ปูชนียบุคคลของทั้งสองวงการ ทั้งนี้ ได้เชิญผู้มีส่วนในสังคมจากทุกภาคส่วน ทั้งภาคการศึกษา อุตสาหกรรม นโยบาย และภาคสังคม โดยไม่มีค่าใช้จ่ายเข้ารับฟัง สร้างเครือข่าย ลดช่องว่าง สานต่อกิจกรรม ฯลฯ กับวัตถุประสงค์การต่อยอดกิจกรรมร่วมพัฒนาวงการวิศวกรรมไฟฟ้าและฟิสิกส์ไทย สำเร็จลุล่วงไปแล้ว ซึ่งผลการจัดงานได้สรุปรวมเผยแพร่สาธารณะ ณ www.quantum-thai.org/dinner-talk
จากกิจกรรมครั้งที่หนึ่งอันเป็นความสำเร็จขั้นต้นของการได้เริ่มผสมส่วนวิทยาการสองสาขาหลักดังกล่าวนั้น ได้นำมาสู่การต่อยอดกิจกรรมในปีที่สอง โดยมีเป้าหมายต่อเนื่องเพื่อทั้งการพัฒนาบุคลการด้านวิศวกรรมไฟฟ้าและการจัดหาทุนสนับสนุนกิจกรรมของกลุ่มศึกษาวิจัยและพัฒนาสารสนเทศเชิงควอนตัมไทย (Thai Quantum Information Forum: Q-Thai.Org) ที่กำลังดำเนินกิจกรรมวิชาการเพื่อเร่งติดตามความก้าวหน้าของวิทยาการแขนงใหม่อีกด้านหนึ่งที่สำคัญ นั่นคือ “สารสนเทศเชิงควอนตัม” (หรือquantum informationศาสตร์ที่ศึกษาและประยุกต์ใช้พฤติกรรมของกลศาสตร์ควอนตัมเพื่องาน สารสนเทศหรือข่าวสาร เพื่อใช้ในการสื่อสาร การคำนวณและอื่น ๆ ให้ได้มาซึ่งรูปแบบใหม่ในการสื่อสาร การคำนวณและอื่น ๆ ที่สอดคล้องซึ่งไม่มีอยู่ในการสื่อสารและการคำนวณแบบดั้งเดิมและกำลังมีบทบาทอย่างสูง ได้รับการคาดการณ์จากหลายสำนักวิชาการ ภาคอุตสาหกรรมต่างประเทศกำลังทุ่มทรัพยากรมหาศาล เช่น บริษัทกูเกิล ไอบีเอ็ม ไมโครซอฟท์ ฯลฯ รวมถึงภาครัฐฯ ของหลายประเทศที่ลงงบประมาณพร้อมนโยบายสนับสนุนอย่างเข้มข้นเช่น ประเทศจีน สิงคโปร์ สหราชอาณาจักร เป็นต้น)
อนึ่ง สำหรับประเทศไทยเองได้เคยมีการรวมกลุ่มเฉพาะกิจบุคลากรที่สนใจและด้านเทคโนโลยีสารสนเทศเชิง ควอนตัมระหว่างสถาบันการศึกษาและสถาบันวิจัย เริ่มต้นเมื่อวันที่ ๑๔ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๔๗ ภายใต้ชื่อกลุ่ม “กลุ่มวิจัยเทคโนโลยีสารสนเทศเชิงควอนตัมไทย (Thai Quantum Information Forum : Q-Ti forum)” เพื่อเป็นศูนย์กลางในการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้พื้นฐาน ระดมความคิดเห็น และแลกเปลี่ยนบุคลากรด้านเทคโนโลยีสารสนเทศเชิงควอนตัมและอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง แต่ได้ลดบทบาทและกิจกรรมลงไปอย่างมากในช่วงถัดมาในขณะที่โดยรวมประเทศไทยยังคงขาดแคลนทุกปัจจัยที่สำคัญทั้งสี่ของการพัฒนาทั้ง บุคลากร งบประมาณ วิทยาการพื้นฐาน และนโยบาย กอปรผลกระทบมุมลบของสังคมที่ได้นำคำวิทยาศาสตร์“ควอนตัม”ไปใช้ในทางที่คลาดเคลื่อนจนถึงหลอกลวงกลับอย่างกว้างขวางเพิ่มมากขึ้นโดยลำดับ ทั้งในวงการวิชาการเองและภาคสังคม อันเป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาสาขาดังกล่าวในประเทศ
ดังนั้น ต่อมาสมาคมวิชาการทั้งสอง (ECTI & IEEE ComSoc Thailand) และพันธมิตร จึงริเริ่มที่จะได้ร่วมกันจัดตั้งกลุ่มศึกษาวิจัยและพัฒนาสารสนเทศเชิงควอนตัมไทย (Thai Quantum Information Forum) ขึ้นมาใหม่ (พ.ศ.๒๕๕๘) และได้เริ่มเผยแพร่กิจกรรมสาธารณะต่อเนื่องมา (Q-Thai.Org) เพื่อช่วยกระตุ้นให้ประเทศไทยมีโครงสร้างพื้นฐาน ส่งเสริม และพัฒนาการค้นคว้าวิจัยด้านเทคโนโลยีสารสนเทศเชิงควอนตัม ตลอดจนแสวงหาแนวทางการขยายความร่วมมือด้านบุคลากร การแลกเปลี่ยนเทคโนโลยี และอื่น ๆ กับต่างประเทศ อันจะเป็นการผลักดันงานวิจัยด้านเทคโนโลยีสารสนเทศเชิงควอนตัมในประเทศให้มีความพร้อมมากขึ้น ลดอุปสรรคต่าง ๆ ดังกล่าวข้างต้น และมีแนวทางการนำไปใช้ประโยชน์ร่วมกับเทคโนโลยีอื่น ๆ อย่างมีบูรณาการและเหมาะสมในอนาคตได้ และในขณะที่ยังไม่มีหน่วยงานภาครัฐฯใด ให้ความสำคัญกับวิทยาการสาขาใหม่นี้ทั้งด้านไอซีทีหรือวิทยาศาสตร์พื้นฐาน ที่ผ่านมาภาคสังคมจึงยังคงต้องเร่งสร้างทีมและปัจจัยที่ขาดแคลนทั้งสี่นั้นเป็นพื้นฐานด้วยตนเองและยังคงเป็นเช่นนั้นต่อไปอีก (ภาคผนวก ข.)
ดังนั้น การจัดกิจกรรมในปีที่สองนี้ จึงมีเป้าหมายต่อเนื่องทั้งการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ด้านวิศวกรรมไฟฟ้าและการเพิ่มส่วนของปัจจัยสำคัญแรกดังกล่าวหรือการระดมทุน (งบประมาณ) เพื่อใช้ส่งเสริมกิจกรรมของกลุ่ม Q-Thai forumดังกล่าว เพื่อนำไปสู่การสร้างความร่วมมือและรับการถ่ายทอดเทคโนโลยี (วิทยาการ) จากต่างประเทศที่ได้สร้างความร่วมมือไว้ก่อนหน้า การเร่งช่วยสร้างความรู้ความเข้าใจภาคสาธารณะ (บุคลากร) และการจัดทำข้อเสนอสาธารณะเชิงนโยบายในลำดับอื่นต่อเนื่องจากที่ได้เคยทยอยจัดทำมาส่วนหนึ่งแล้วเพื่อการเข้าถึงเป้าหมายดังเกริ่นนำข้างต้น
โดยกิจกรรมในปีที่สองนี้ ได้รับเกียรติเป็นอย่างสูงจาก รศ.ดร.ณรงค์ อยู่ถนอม ผู้ซึ่งเป็นที่ปรึกษาของกลุ่ม Q-Thai Forum และเป็นปูชนียบุคคลของวงการวิศวกรรมไฟฟ้าสื่อสารมาจนถึงปัจจุบัน ในการเข้าร่วมกิจกรรมเป็นผู้บรรยายถ่ายถอดประสบการณ์ในหัวข้อ “เจ็ดทศวรรษที่มั่นคงกับอาจารย์ปู่“ณรงค์ อยู่ถนอม” แด่คนรุ่นหลังเพื่อเป็นประโยชน์ในการเป็นต้นแบบดำเนินชีวิตทั้งการทำงาน การพัฒนาคนเอง และอื่น ๆ ในรูปแบบการถ่ายทอดกับสื่อต่าง ๆ ทั้ง การจัดทำภาพและเสียง บทความและหนังสือ ตลอดจนการจัดบรรยายพิเศษหรือ dinner talk เพื่อทั้งการสร้างบุคลากรในวงการวิศวกรรมไฟฟ้าเองและเพื่อร่วมเป็นกิจกรรมระดมทุนต่อโครงการของกลุ่ม Q-Thai forum ดังกล่าว
ทั้งนี้ รวมทั้งการที่ รศ.ดร.ณรงค์ อยู่ถนอม จะเป็นหัวหน้าคณะตัวแทนทีม Q-Thai forum ในการเยี่ยมชม ดูงาน รวมทั้งขอรับความช่วยเหลือด้านบุคลากรและถ่ายทอดเทคโนโลยีไอทีเชิงควอนตัมจากมหาวิทยาลัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศจีน (University of Science and Technology of China: USTC) ณ เมืองเหอเฟ่ย มลฑลอันฮุยด้วย(ภาคผนวก ค.) โดยทุกกิจกรรมข้างต้นจะดำเนินการใน ปีพ.ศ.๒๕๖๑
วัตถุประสงค์
-
๑) เพื่อยกย่องและถ่ายทอดประสบการณ์ชีวิตการทำงานและเกร็ดการพัฒนาตนเองของ รศ.ดร.ณรงค์ อยู่ถนอม แด่สังคมวิศวกรรมไฟฟ้าไทยและที่เกี่ยวข้องเพื่อเป็นต้นแบบการพัฒนาบุคลากรทั้งในและวงการทั่วไป
-
๒) เพื่อต่อยอดกิจกรรมจากอดีตในการส่งเสริม สนับสนุนการสื่อสารวิทยาศาสตร์ พัฒนาคุณภาพองค์ความรู้ด้านไอที ควอนตัมและการถ่ายทอดสู่สังคมและเร่งสร้างความตระหนัก ความร่วมมือระหว่างหน่วยงานต่าง ๆ ในประเทศพร้อมรับเทคโนโลยีอุบัติใหม่ด้านไอทีควอนตัม
-
๓) เพื่อจัดหาทุนส่งเสริมและสนับสนุนกลุ่มวิชาการ Thai Quantum Information Forum (Q-Thai.Org) ของสองสมาคม (IEEE ComSoc Thailand & ECTI) และกิจกรรมที่เกี่ยวข้องในปี พ.ศ.๒๕๖๑
-
๔) เพื่อจัดสรรทรัพยากรใช้ในการติดตามความก้าวหน้าเทคโนโลยีสารสนเทศเชิงควอนตัมโลกสำหรับประเทศไทยและเร่งขอรับความช่วยเหลือด้านบุคลากรและวิทยาการด้านไอทีควอนตัมจากประเทศจีน
คำสำคัญ (keywords):
การพัฒนาบุคลากรหรือทรัพยากรมนุษย์ วิศวกรรมไฟฟ้าสื่อสาร สารสนเทศ(ไอที)เชิงควอนตัม ความร่วมมือวิชาการระหว่างประเทศ
เป้าหมายโครงการ
เมื่อโครงการเสร็จสิ้นจะได้สรุปแนวทางและวิถีปฏิบัติของบุคลากรต้นแบบ (ผ่าน 2 คอลัมน์ 5 ภาพยนตร์สั้น 1 เวปและสื่อสังคมออนไลน์เพื่อเผยแพร่และเป็นช่องทางการรับความคิดเห็นหรือข้อแนะนำ รวมทั้งต้นแบบหนังสือ 1 ฉบับ) ที่พร้อมใช้ในการพัฒนาบุคลากรระดับเยาวชนนักศึกษาหรือคนรุ่นใหม่หรือผู้สนใจทั่วไป เกิดกิจกรรมการบรรยายและสื่อสารสาธารณะรวมอย่างน้อยสองกิจกรรม รวมถึงเกิดแนวทางความร่วมมือพร้อมกับเครือข่ายที่จะได้สร้างจากการเดินทางไปขอรับความช่วยเหลือด้านบุคลากรและถ่ายทอดเทคโนโลยีไอทีเชิงควอนตัมจากมหาวิทยาลัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศจีน (University of Science and Technology of China: USTC) ณ เมืองเหอเฟ่ย มลฑลอันฮุย ประเทศจีน ซึ่งผลทั้งหมดที่ได้รับสามารถเชื่อมโยงต่อเนื่องไปยังแนวทางของวิชาการของกลุ่มวิจัยและพัฒนาสารสนเทศแสงและควอนตัมไทย (Q-Thai Forum) และอื่น ๆ ต่อไปได้ด้วย และจะได้เชิญชวนส่งต่อผลให้หน่วยงานรัฐฯด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีหรือด้านการศึกษาพัฒนาบุคลากรที่มีศักยภาพเพื่อได้นำไปใช้ขยายผลต่อไป ด้วยกลไกของหน่วยงานนั้นตามความเหมาะสมอย่างต่อเนื่อง
ผลที่คาดว่าจะได้รับ
-
คอลัมน์หรือจดหมายข่าวสาธารณะ จำนวนอย่างน้อย 2 ชุด
-
สื่อ (วีดีโอและข้อมูลออนไลน์) เรียนรู้ด้วยตนเอง จำนวนอย่างน้อย 5 ชุด
-
เว็บไซต์โครงการ จำนวน 1 ระบบงาน
-
การจัดบรรยายหรือ Dinner Talk รวมอย่างน้อย 2 งาน
-
การต่อยอดสู่ต้นฉบับหนังสือเผยแพร่บุคคลทั่วไป จำนวน 1 ต้นแบบ
(“ณรงค์ อยู่ถนอม : จากเด็กหัวนาคนอยู่วัดลัดฟ้าสู่อเมริกา กลับมาพัฒนาวิศวกรรมไฟฟ้าไทย”)
-
สรุปผลโครงการ และเผยแพร่สาธารณะ จำนวน 1 ฉบับ
(“การขอรับความช่วยเหลือด้านบุคลากรและถ่ายทอดเทคโนโลยีไอทีเชิงควอนตัมจากมหาวิทยาลัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศจีน”)
ประโยชน์และสิ่งที่จะได้รับเมื่อโครงการสำเร็จ คือ สื่อทุกรูปแบบที่สะดวกต่อการใช้งานและให้บริการออนไลน์ที่ไม่มีค่าใช้จ่าย เป็นวิทยาทานแก่สาธารณะทั่วไปโดยสามารถนำสื่อต่าง ๆ ไปอ้างอิงและใช้เป็นต้นแบบให้เกิดประโยชน์แนวทางอื่นได้ด้วย และทั้งหมดจะสนับสนุนวัตถุประสงค์ของโครงการได้เป็นอย่างดี
ผู้รับผิดชอบโครงการ :
ดร.เกียรติศักดิ์ ศรีพิมานวัฒน์ (IEEE Communications Society - Thailand chapter- chair)
สมาคมสถาบันวิศวกรไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์แห่งประเทศไทย (IEEE Thailand Section)
............
“รศ.ดร.ณรงค์ อยู่ถนอม” โดยสังเขป
รองศาสตราจารย์ ดร.ณรงค์ อยู่ถนอม อายุ 75 ปี เกิดเมื่อวันสงกรานต์ 13 เมษายน พ.ศ. 2485 ณ จังหวัดกาญจนบุรี จบการศึกษา วศ.บ. เกียรตินิยมอันดับ 1 (สาขาวิศวกรรมไฟฟ้า) จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พ.ศ. 2507 ระดับปริญญาโท M.Sc. (Electrical Engineering) พ.ศ. 2509 จาก Stanford University สหรัฐอเมริกา และปริญญา Ph.D. (Electrical Engineering) พ.ศ. 2512 จาก Missouri University of Science and Technology สหรัฐอเมริกา
ตำแหน่งหน้าที่สำคัญคือ นายกสภามหาวิทยาลัยราชภัฏกาญจนบุรี โดยเคยดำรงตำแหน่งหน้าที่สำคัญในอดีตทั้ง คณบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (พ.ศ.2538 -2542) กรรมการสภามหาวิทยาลัยราชภัฏกาญจนบุรี (พ.ศ.2542-2549, 2553-ปัจจุบัน) นายกสมาคมวิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ (พ.ศ.2541-2542) เครื่องราชอิสริยาภรณ์ชั้นสูงสุดที่ได้รับ มหาปรมาภรณ์ช้างเผือก 5 ธันวาคม 2559 และมหาวชิรมงกุฎ 5 ธันวาคม 2534
“อาจารย์ณรงค์” เป็นผู้ที่ได้รับการกล่าวถึงทั้งในและนอกวงการถึงความสำเร็จของการพัฒนาคนเองตั้งแต่วัยเด็ก ตั้งแต่การอยู่ในสังคมภาคการเกษตรตั้งแต่กำเนิด ศึกษาโดยผ่านการฝึกฝนตนเองในสิ่งแวดล้อมท้องไร่ท้องนาและวัดในจังหวัดกาญจนบุรี เป็นผู้มีความสามารถตั้งแต่เป็นเยาวชนทั้งด้านกีฬาและการเรียน ร่ำเรียนมัธยมแปดรุ่นแรกจากโรงเรียนวิสุทธรังษี สามารถสอบเข้าศึกษาต่อส่วนกลางในลำดับต้น ๆ เข้าศึกษาต่อยังคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยได้รับเกียรตินิยมอันดับ 1และได้รับพระราชทานเหรียญทองเมื่อ พ.ศ. 2507 และได้รับพระราชทานทุนมูลนิธิอานันทมหิดลเป็นคนแรกของสายวิศวกรรมศาสตร์ศึกษาต่อยังประเทศสหรัฐอเมริกา ตลอดช่วงการทำงานทั้งการสร้างบุคลากรและบริหารการศึกษา ได้รับการยอมรับอย่างกว้างขวาง โดยเฉพาะอุปนิสัยส่วนตัวที่เป็นเสน่ห์อย่างสูงทั้งในการปฏิสัมพันธ์กับบุคคลทั่วไปด้วยอัธยาศัยดีเป็นอย่างยิ่ง และความสามารถรอบด้าน จนเป็นที่รักใคร่ นับถือ ทั้งในกลุ่มเพื่อนสนิทมิตรสหาย ผู้ร่วมงาน บุคลากรรุ่นน้อง ลูกศิษย์ รวมถึงมีครอบครัวที่อบอุ่น
เกร็ดการดำเนินชีวิตตลอดช่วงเจ็ดทศวรรษที่ผ่านมาของ“อาจารย์ณรงค์”สามารถนำมาใช้เป็นองค์ความรู้จนถึงตำราของการพัฒนาบุคลากรได้อย่างกว้างขวาง มิจำกัดเพียงในวงการวิศวกรรมไฟฟ้าเท่านั้น ซึ่งที่ผ่านมา “อาจารย์ณรงค์” ได้ร่วมถ่ายทอดมุมมองเฉพาะทางออกมาส่วนหนึ่งแล้ว ทั้ง “พัฒนาการการประชุมวิชาการวิศวกรรมไฟฟ้าประเทศไทย – ศาสตร์และศิลป์การสร้างสังคมและทรัพยากรมนุษย์” พ.ศ. ๒๕๕๗ (www.ebooks.in.th/ebook/18559) และ “ทศวรรษหน้าวิศวกรรมไฟฟ้าและฟิสิกส์ไทย” พ.ศ. ๒๕๖๐ กับงาน Dinner Talk เมื่อวันเสาร์ที่ ๒๐ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๖๐ ณ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลพระนคร (www.quantum-thai.org/dinner-talk)
ดังนั้น การจัดกิจกรรมในปีพ.ศ.๒๕๖๑ ต่อจากนี้ จะเป็นอีกครั้งหนึ่งของวงการต่าง ๆ ทั้งการพัฒนาบุคลากร วิศวกรรมไฟฟ้า สารสนเทศ(ไอที)เชิงควอนตัม และที่เกี่ยวข้องจะได้ร่วมกันสร้างสรรค์ชิ้นงานสำคัญลำดับถัดไป นั่นคือ
เจ็ดทศวรรษที่มั่นคงกับอาจารย์ปู่ “ณรงค์ อยู่ถนอม”
(จากเด็กหัวนาคนอยู่วัดลัดฟ้าสู่อเมริกากลับมาพัฒนาวิศวกรรมไฟฟ้าไทย)
รายละเอียดเพิ่มเติม ติดต่อ