ต้นทุนแสงซ่อนเร้น “ฮอโลแกรมโมเดล” | Book Intro. - 5| “ปัญญาอลวน” |
“ผู้อำนวยการเขาให้เอามาตั้งที่นี่” ...
ที่นี่ (สจล.) มีห้องปฏิบัติการวิจัยอิเล็กทรอนิกส์เชิงแสง (opto-electronics lab) ในสังกัดกระทรวงวิทย์มาฝากเลี้ยงที่คณะวิทยาศาสตร์ อุปกรณ์แสงของเหล่านักผจญเทคโนฯ ชิ้นใหม่จึงขอไปฝากไว้ในห้องมืดของห้องปฏิบัติการแสงที่ ‘ดร.วิริยะ ชูปวีน’ เป็นหัวหน้า ซึ่งผู้เชี่ยวชาญจากโครงการสมองไหลกลับคนนี้เคยอยู่เมืองจีนนานมากแล้วย้ายไปทำวิจัยจนมีชื่อเสียงมากมายที่สหรัฐฯอีก แลปนี้จึงอลังการยิ่งนักกับทั้งวิทยาการและทรัพยากรโดยมีเป้าหมายการสร้าง “ภาพฮอโลแกรม” ทันทีที่มาเริ่มงาน
ดร.ฟู (Dr.Fu Kuo Hsu ชื่อเรียกในภาษาจีนของ ดร.วิริยะ ชูปวีน) ภาษาจีนนี้คือชื่อที่ทั่วโลกรู้จัก ยามเล่าประวัติจะยิ้มเล็ก ๆ แต่หน้าตาจะดูแปลกมากหากพูดเรื่องงานทั้งกับสมาชิกนักวิจัยในสังกัด หรือแม้กับแขกผู้มาเยือนก็มักบ่นเล่าอยู่เสมอว่าไม่เข้าใจระบบการคิด การทำงาน การจัดการของเมืองไทยอันต่างจากเซี่ยงไฮ้หรือสหรัฐอเมริกาที่ไปอยู่มาถึงค่อนชีวิต พร้อมชี้นิ้วออกไปทางสระว่ายน้ำว่าไม่ได้มีแค่งานด้านแสงนี้นะที่ต้องออกมาตั้งห่างเมืองเดินทางลำบาก ที่เริ่มสะสมต้นทุนสูงกันมาตั้งแต่ยุคนั้นมีอีก ทั้งงานการตรวจวัดคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าของอาจารย์โยธินภาควิชาระบบควบคุมที่ควบงานของหน่วยวิจัยกระทรวงวิทย์นี้ด้วย อีกมือก็ผายไปทิศที่ตั้งของห้องวิจัยเอ็กซเรย์แล้วก็ชักนิ้วกลับพร้อมกับเสียงถอนหายใจ
“อยากไปเบิร์กลีย์ไหม เอ็มไอที หรือฮาร์วาร์ด ใครทำงานดีผมเขียนจดหมายแนะนำ ไปอยู่ได้ทุกที่ทุกมหาวิทยาลัยดัง ๆ ในอเมริกา”
เสียงยามอารมณ์เบาตัวลงความขลังอลังการระดับโลกจะไหลมาแบบนี้ พร้อมโชว์ร่างเอกสารกว่าห้าสิบรายสาขาวิชาด้านวิทยาการแสงที่เมืองไทยควรเปิดหลักสูตรตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๕๓๖ รวมไปถึงการสื่อสารเชิงแสงร่วมสมัยที่กำลังมาแรงด้วยนอกเหนือจากฮอโลแกรมที่กำลังทำ และภาพสามมิติที่ทำอยู่นั้นก็มองไกลไปถึงจอทีวีสามมิติในอนาคตอีก เรียกได้ว่า ดร.ฟู คือผู้มาก่อนกาลกับแวดวงวิทยาการแสงของไทย แต่อารมณ์ขลังเบอร์นั้นมักมาน้อยกว่าความผิดหวังอีกด้าน เพราะการเป็นนักวิชาการอาชีพแท้ที่อุตส่าห์สมองไหลกลับเมืองไทยบ้านเกิด แต่กลับต้องมาเจอการปรับวัฒนธรรมไม่ทันจึงพัลวันไปกับเรื่องที่รับไม่ได้ รับไม่ไหว กระทั่งไม่รับอีกต่อไปแล้ว
“ไอ้โง่เอ๊ย !”
ยามโกรธมือและหน้าเกร็งตะเบ็งเสียงสูง ถึงกับเคยกำหมัดหันเข้ากำแพงขนาดนั้นเลย และคำพูดนี้คือเสียงสุดท้ายที่หลุดในห้องประชุมงานหลังจากบ่นเรื่องทีมบริหารอีกหลายระดับลงมาไม่เข้าขากันเกิดกรณีไม้เบื่อไม้เมาในองค์กร ในที่สุดเมื่อไม่สามารถปรับเข้ากับระบบราชการไทยทนไม่ไหวสมองไหลอีกครั้งลาออกจากศูนย์วิจัยในบังเหียนที่ควบอยู่กับมหาวิทยาลัยที่มาตั้งห้องปฏิบัติการอยู่นี้ไป ทิ้งเครื่องมือมูลค่าแฝงมหาศาลให้นักวิจัยรุ่นหลังนำไปใช้ประโยชน์ เรื่องราวงานของปรมาจารย์ท่านนี้ได้กลายมาเป็นอุทาหรณ์อย่างดีต่อด้วยในภายหลังกับกรณีศึกษาที่เรียกกันว่า “ฮอโลแกรมโมเดล” (hologram model (1))
โดยสามารถนำไปประยุกต์ใช้กับยามใดก็ตามที่พบเห็นการแถลงข่าวความสำเร็จด้านเดียวของวงการวิทย์ไทย คนรุ่นใหม่พึงตั้งคำถามเพื่อค้นหาต้นทุนรวมแท้จริงที่สะสมการใช้ทรัพยากรรัฐฯมาตั้งแต่ครั้งอดีต อันจะนำไปสู่ความเข้าใจกับเบื้องหลังอีกด้านที่อาจถูกบดบังหรือสูญหายไปได้
(1) - The Hologram : a story - แสงสีวิจัย (มิติอดีต สู่อนาคต) - Miracle story behind R&D !
(ส่วนหนึ่งจากหนังสือ “ปัญญาอลวน” ๒๕๖๕)
สิงหาคมนี้พบกับ สารคดีสี่จดหมายเหตุ ( “ปัญญาอลวน” ฉบับเต็ม)
๑) สามทศวรรษรหัสเทอร์โบนวัตกรรมพลิกโลกข่าวสาร (ค.ศ. 1993 - 2023) #รหัสเทอร์โบ
๒) หลากเหตุการณ์ร่วมสมัยโทรคมนาคมไทยร้อยสี่สิบเจ็ดปี (พ.ศ. ๒๔๑๘ - ๒๕๖๕) #โทรคมนาคมไทย
๓) เสี้ยวอดีตสี่สิบปีวงการวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีไทย (พ.ศ. ๒๕๒๒ - ๒๕๖๒) #MOST #กระทรวงวิทย์
IEEE ComSoc Thailand - สาขาไฟฟ้าสื่อสาร
สมาคมสถาบันวิศวกรไฟฟ้าและอีเลคโทรนิคแห่งประเทศไทย
#FightForScience #วิทย์ไทยคนละครึ่ง #สจล #KMITL
(หนังสือ “ปัญญาอลวน” ๒๕๖๕ ฉบับอิเล็กทรอนิกส์สาธารณะ: free eBook)
תגובות