top of page
QICTechFACTcheckLoGoWhite-2021.jpg

งานวิจัยเทียมไทย ไปไกลระดับโลก ! | Book Intro.1 | “ปัญญาอลวน” |

(ตัวอย่างจากบทที่ ๑๔ "หลวงปู่เทอร์โบลุยไฟ") - กรณีที่วารสารวิชาการอันดับหนึ่งของโลก ‘เนเจอร์’ (Nature) ได้สำรวจพบ “นักวิจัยมือปลาหมึก” นั่นก็ถึงกับสะอึก โดยเปรียบผู้ที่มีผลงานมากมายเหลือพิกัดเหมือนมีมือจำนวนมากมาช่วยจับช่วยสร้างแบบที่คนทั่วไปทำไม่ได้ เหนือมนุษย์มากมือขยันคล้ายดั่งทศกัณฑ์ โดยพบว่ามีคนไทยสามในสี่รายชื่อที่ส่งงานตีพิมพ์ไปทั่ว จึงถูกขึ้นชื่อว่าเป็น “นักวิจัยไฮเปอร์” ร่วมอยู่กับอีก ๒๖๕ คน จาก ๓๗ ประเทศทั่วโลก ทั้งหมดนั้นมีค่าเฉลี่ยการสร้างงานใหม่ “หนึ่งชิ้นในทุกห้าวัน” ยอดมนุษย์ไหมล่ะ !

ปรมาจารย์ของโลกปกติชิ้นนึงใช้เวลาหลายเดือนจนถึงข้ามปีหรือหลายปี แต่เขาเหล่านั้นคิดงานได้ผลใหม่ในเวลาไม่ถึงสัปดาห์ ถึงกระนั้น ยังมีอีกหนึ่งกรณีที่คุ้นเคยบางปีทำไปสูงกว่าค่าถัวเฉลี่ยที่ ‘เนเจอร์’ รายงานไว้เสียอีก


“ช็อคไหม ?”

ขณะที่กลไกการตรวจสอบยังมีช่องโหว่มาก พบว่าหลายมหาวิทยาลัยได้ผลิตบุคลากรด้วยผลงานคลุมเครือเหล่านั้นไปไม่น้อยเลย เมื่อสืบค้นลึก ๆ จากสะอึกจึงมาถึงตะลึงงันกับการสร้างดุษฎีบัณฑิตจบปริญญาเอกโดยใช้เวลาเพียงหนึ่งและสองปีก็มี และกรณีที่ทำให้ถึงกับตกเก้าอี้คือ มหาบัณฑิตหนึ่งในกลุ่มเหล่านั้นสารภาพภายหลังถูกซักชุดใหญ่ว่าผลิตผลวิจัยเชิงสมมติหรือนั่งเทียนขึ้นมาเอง “ครับ ใช่” ... ไปกันใหญ่แล้ว !

ต่อมาแม้ปรากฏว่าบางจ้าวสำนักวิชาที่น่ากังขาได้ถูกอัปเปหิจากวิถีการทำงานแนวพิลึกไป แต่สิ่งที่เคยสร้างไว้จะยังคงปรากฏกายอยู่ทั่วโลกจึงยังส่งผลกระทบต่อความน่าเชื่อถือของวงการวิทย์และเทคโนฯ ไทยโดยรวมได้อีก เมื่อยิ่งเจาะลึกต่อยิ่งได้พบการโยงใยไปสู่เหล่าสำนักสหาย แตกเครือข่ายศิษยานุศิษย์ต่ออีกมากแห่ง วิชาการแปลกจากเมืองไทยเหล่านั้นจึงยังร่วมกันแผ่รังสีสะอึกเข้ม ๆ อยู่บนโลกอินเทอร์เน็ตต่อไป ชั่วกาลนานเทอญ !

ทั้งนี้ กรณีที่ชัดแจ้งและถูกฟ้องออกมาได้ก็เพราะว่ามืดมัวแบบมากมายจนกลายเป็นเด่นชัด แต่ยังมีอีกหลายสำนักที่พรรษาไม่แก่กล้าเท่าจึงสร้างงานสีเทาออกมาเพียงบางโอกาส จากการสำรวจพบทั้งที่ “รู้เท่าไม่ถึงการณ์” “รู้แล้วก็ยังจะทำ” “ตั้งใจ (หลบ)” และ “หลุดโลก” ทำนอง “มีไอน์สไตน์เป็นไอดอลแต่ล้วงผลงานวิทยาศาสตร์จากกระเป๋าการ์ตูนโดราเอมอน” มีครบทั้งสี่เทียนจตุรทิศ

(ส่วนหนึ่งจากหนังสือ “ปัญญาอลวน” ๒๕๖๕)

 

สารคดีสี่จดหมายเหตุ ( “ปัญญาอลวน” ฉบับเต็ม)

๑) สามทศวรรษรหัสเทอร์โบนวัตกรรมพลิกโลกข่าวสาร (ค.ศ. 1993 - 2023) #รหัสเทอร์โบ

๒) หลากเหตุการณ์ร่วมสมัยโทรคมนาคมไทยร้อยสี่สิบเจ็ดปี (พ.ศ. ๒๔๑๘ - ๒๕๖๕) #โทรคมนาคมไทย

๓) เสี้ยวอดีตสี่สิบปีวงการวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีไทย (พ.ศ. ๒๕๒๒ - ๒๕๖๒) #MOST #กระทรวงวิทย์

๔) หลายช่วงลมหายใจที่สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (ยุคที่สอง) #KMITL #สจล

 

โครงการโดย

สาขาไฟฟ้าสื่อสาร (IEEE ComSoc Thailand) สมาคมสถาบันวิศวกรไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์แห่งประเทศไทย (IEEE Thailand Section) จัดทำเพื่อเฉลิมฉลองหนึ่งในนวัตกรรมสำคัญระดับโลกที่ได้รับรางวัลเกียรติยศมากมายบนเวทีสากลรวมทั้งรางวัลนักเทคโนโลยีดีเด่นไทยเนื่องในโอกาสครบรอบสามสิบปีของการคิดค้น “รหัสเทอร์โบ” ณ ปี พ.ศ. ๒๕๖๖ ที่จะมาถึง โดยจะเผยแพร่และประกาศเกียรติคุณให้เป็นที่รู้จักอย่างกว้างขวางต่อทั้งวิทยาการ บุคคลสำคัญ และเชิดชู “ปัญญา ฐิติมัชฌิมา” คนไทยผู้มีส่วนร่วมคิดค้นและสร้างชื่อเสียงให้กับประเทศ รวมทั้งเผยแพร่เกร็ดประวัติศาสตร์วัฒนธรรมและความรู้ร่วมสมัยด้านโทรคมนาคม และของวงการวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีไทยในอดีตด้วย ทั้งนี้ หนึ่งในกิจกรรมหลักเพื่อวัตถุประสงค์ดังกล่าว สมาคมฯจะได้จัดพิมพ์เรื่องราวดังกล่าวออกเป็นหนังสือ โดยสร้างสรรค์ในรูปแบบเรื่องเล่าสารคดีประกอบภาพในชื่อเรื่อง “ปัญญาอลวน” จัดทำทั้งแบบรูปเล่ม (hardcopy) พร้อมด้วยสื่ออิเล็กทรอนิกส์ (eBook) สำหรับบุคคลทั่วไปเป็นกลุ่มเป้าหมาย เพื่อสร้างผลกระทบในวงกว้างเป็นวิทยาทาน และเพื่อใช้ผลผลิตในการสร้างเครือข่ายส่งเสริมให้เป็นกรณีศึกษาเพื่อต่อยอดเรียนรู้สู่แรงบันดาลใจให้กับบุคลากรคนรุ่นใหม่ รวมทั้งสร้างมูลค่าจากประเด็นเชิงวัฒนธรรมรวมทั้งเกร็ดประวัติศาสตร์ที่เกี่ยวข้อง (soft power) ต่อไป (เช่นเดียวกับที่สมาคมฯ ได้เคยจัดทำผลผลิตอื่นไปแล้วรวม ๑๗​ โครงการกว่า ๑๘,๐๐๐ เล่ม สื่อดิจิทัลซีดีกว่า ๖,๐๐๐ ชุด โปสเตอร์และโปสการ์ดความรู้รวม ๔,๐๐๐ แผ่น แด่กลุ่มเป้าหมายทั่วประเทศเป็นวิทยาทานแล้ว ข้อมูล ณ www.quantum-thai.org/10th-ttkm-anniversary & www.quantum-thai.org/q-books & web.facebook.com/TurboCodes20th)

ร่วมเป็นเจ้าภาพจัดทำหนังสือ “ปัญญาอลวน” ได้ที่


IEEE ComSoc Thailand - สาขาไฟฟ้าสื่อสาร

สมาคมสถาบันวิศวกรไฟฟ้าและอีเลคโทรนิคแห่งประเทศไทย (สำนักงานใหญ่)

53 ถนนจรัญสนิทวงศ์ บางกรวย นนทบุรี 11130


  • Facebook page
bottom of page