เตือนใจควอนตัมไทย ๔ | Retraction in Thai Quantum Policy & Roadmap | ตรวจทานนโยบายควอนตัมและแผนที่วิถีไทย | Special Report 2024
มุมหนึ่งของวงการวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีไทยได้รับการนำพาด้วยสไตล์ 1990s ที่คุ้นเคยมาอย่างต่อเนื่อง จากสมัยไมโครอิเล็กทรอนิกส์ (1995) ลึกลงไปกับกระแสนาโนเทคโนโลยี (2003) ลองอีกทีกับยุคอนุภาคมูลฐานเพื่อนำปรากฏการณ์ควอนตัมมาใช้งาน (2019) กระทั่งให้กำเนิดแผนยุทธศาสตร์ควอนตัมระดับชาติระยะสิบปี (2020) อันน่าตื่นตามาพร้อมการประยุกต์แนวแฟนตาซี เช่น 'ควอนตัมดูแลสุขภาพสัตว์' 'ควอนตัมแก้ปัญหาจราจร จัดการน้ำ' ฯลฯ การกำหนดทิศให้วงการควอนตัมสาขาใหม่ตามวิถีภาพลักษณ์เดิมเพิ่มเติมด้วยนโยบายสายทายาทพ่วงเข้ามาอีกเหล่านั้น จะช่วยให้สังคมควอนตัมไทยสำเร็จได้จริงหรือ ?
อดีตช่วงเริ่มต้นการจัดทำแผนที่นำทางเทคโนโลยี (technology roadmap) ของวงการควอนตัมโลกสองทศวรรษก่อน มุ่งไปกับสารสนเทศเพื่อการสื่อสารและการคำนวณหรือไอทีเป็นตัวตั้ง โดยสานต่อแนวคิดเริ่มต้น “สถานะควอนตัมคือทรัพยากรข่าวสาร” ที่ริชาร์ด ฟายน์แมน (Richard Feynman) และกลุ่มผู้บุกเบิกนำเสนอไว้ตั้งแต่ ค.ศ.1981 ซึ่งส่วนใหญ่ทยอยหมดอายุหรือเดินทางเลยหมุดเวลาที่คาดการณ์ไปแล้ว ยังคงไม่มีแผนที่ใดนำโลกไอทีควอนตัมไปถึงฝั่งฝัน (เช่น สหรัฐฯ - RAND 2004 (5-10 years approach) ญี่ปุ่น - NICT (40 ปี ค.ศ.2000 - 2040) จีน - CAS (สี่สิบห้าปี ระยะสั้น (ปีค.ศ.2005-2020) ระยะกลาง (ปีค.ศ.2020-2035) และระยะยาว (ปีค.ศ.2035-2050) สิงคโปร์ - IDA “Infocomm Foresights” (ฉบับที่ 5 - 10 ปี ค.ศ.2015) หรือของเกาหลีใต้ รวมทั้งแนวทางของอินเดียที่ลงงบประมาณระดับพันล้านเหรียญ ไต้หวัน และของอีกหลายประเทศ)
ทั้งนี้ แผนที่นำทางของสหรัฐฯ ยุโรป หรือทั้งหกชาติควอนตัมเอเชียรุ่นบุกเบิกเหล่านั้น เป็นวิถีการคาดการณ์เทคโนโลยี (technology foresight) ร่วมสมัยปลายเปิด ไม่พบฉบับใดบรรจุเป้าหมายตายตัวพร้อมการประยุกต์ที่สุดลิ่มทิ่มประตูผูกมัดอนาคตด้วยวาทกรรมแนว Catch-22s (‘งูกินหาง’ ‘ไก่กับไข่’ หรือเงื่อนไข “อย่างไรก็ใช่ แต่ไม่พบโดยปกติทั่วไป”) กระนั้น กลับมีบรรจุอยู่ในยุทธศาสตร์สิบปีของ“แผนที่นำทางการพัฒนาเทคโนโลยีควอนตัมของประเทศไทย พ.ศ.2563 – 2572” อาทิ “ควอนตัมดูแลสุขภาพสัตว์” “ตรวจจับมะเร็ง” “อัลกอลิธึมควอนตัมจัดอันดับผู้กู้และหนี้เสีย” “การทำธุรกรรมออนไลน์และการทำธุรกรรมการเงินการธนาคาร” “ระบบสื่อสารควอนตัมในทุกระดับครัวเรือน ฯ” ฯลฯ โปรโมทขยายความโดยหน่วยงานนโยบายผู้กำกับดูแล (อว.) อ้างอิงต่อโดยองค์กรด้านการประยุกต์ของรัฐ (ดีอี) ถ่ายทอดสู่ภาคจัดการศึกษา (ศธ.) กระจายสู่รายงานของนักเรียนนักศึกษาและสังคมทั่วฟ้าเมืองไทยไปแล้ว จนเกิดคำทักถามตามมาว่า เมื่อสุดทางตามแผนที่แล้วจะลงเอยอย่างไร ต่างจากหัวข้อวิจัยอื่น ๆ ของอดีตสี่สิบปีที่ผ่านมาหรือไม่ ?
ระหว่างการค้นหาคำตอบที่อาจมาพร้อมกับความรู้สึกงุนงงว่าเรือธงวิทย์ไทยลำใหม่ล่องการประยุกต์ออกมาด้วยเงื่อนไขน่าประหลาดใจเหล่านั้นเกิดขึ้นจากสาเหตุใด แต่หากมีโอกาสศึกษาเรื่องราวอดีตท่าเรือต้นทางหนึ่งในวัฒนธรรมพื้นหลังที่ฝังตัวในวงการมาตลอดช่วงสี่สิบปีก่อน [ "ปัญญาอลวน" ] ที่ย้อนกลับมาพ่วงกับกระแสความขลังของคำว่าควอนตัมเข้าให้อีกครั้ง อาจไม่รู้สึกแปลกใจนักเพียงแต่จะหวั่นไหวแทนบุคลากรนโยบายฝ่ายปฏิบัติการรวมทั้งนักวิจัยรุ่นใหม่ที่ต้องร่วมกันตามแก้ไขผลพวงที่จะเกิดขึ้นในอนาคต …
ดังนั้น ณ เวลาครึ่งทางของแผนที่ปี ค.ศ.2024 นี้ จึง “ไม่ช้าหรือเร็วเกินไป” ที่สังคมไทยควรได้ทักถามแล้วช่วยกันปรับปรุงเส้นทางที่เหมาะและปลอดภัยกว่า ก่อนที่เรือควอนตัมลำนี้จะล่องเลยจนออกทะเลเงียบหายไป ซ้ำรอยบทเรียนเดิม ๆ ในประวัติศาสตร์ อีกครั้ง !
๐ สี่สิบสามปีไอทีควอนตัม @2024 ๐
ริชาร์ด ฟายน์แมน (Richard Feynman) และกลุ่มนักวิจัยนำเสนอแนวคิดในงานประชุมวิชาการด้านการคำนวณเชิงฟิสิกส์ (the Physics of Computation Conference 1981) เมื่อวันที่ ๖ - ๘ พฤษภาคม พ.ศ.๒๕๒๔ ต่อมาจึงเกิดการคาดการณ์เทคโนโลยีปลายน้ำที่น่าจับตาโดยเริ่มไว้กับเพียงคอมพิวเตอร์ควอนตัม (quantum computer) และการสื่อสารรหัสลับควอนตัม (quantum key distribution) เป็นหลัก แต่จากกระแสที่เชี่ยวแรงยิ่งยวดของไอทีควอนตัมตลอดสี่ทศวรรษที่ผ่านมา จึงเกิดการเกาะพ่วงเพิ่มสาขาเข้ามาอีกมาก ทั้งอุปกรณ์ควอนตัม (device) เซ็นเซอร์ควอนตัม (sensor) การจำลองควอนตัม (simulation) และอื่น ๆ ไม่ต่างจากเมื่อครั้งก่อนหน้าที่โลกวิทยาศาสตร์ฮิตหนักกับคำว่า ‘เทคโนโลยีนาโน (nanotechnology)’ ครั้นเกิดการย้ายงบประมาณจาก ‘ไมโครฯ’ ไปยัง ‘นาโนฯ' ถนนวิจัยทุกสายจึงพุ่งเข้าหา สารพันหัวข้อหรือสินค้าเทคโนโลยีจึงร่วมโหน “นาโนฯ” กระทั่งนโยบายหรือแม้วงการวิทยาศาสตร์เทียมทั่วโลกรวมถึงในเมืองไทยได้ตามอ้างโหนเช่นกัน และพลันที่กระแสเดิมหมดจรดยุคควอนตัมใหม่ จึงย้ายตามกันมาอีกครั้ง !
๐ ควอนตัมปทุมธานียุคประถมและมัธยมเชิงดอยสุเทพ ๐
ท้ายปี ค.ศ. 2008 ศาสตราจารย์เกียรติคุณถิรพัฒน์ วิลัยทอง ผู้อำนวยการศูนย์ความเป็นเลิศด้านฟิสิกส์ (ขณะนั้น) ลงแรงบินจากเชียงใหม่ต่อตรงกับงานการสื่อสารเชิงควอนตัมของทุ่งรังสิต (OQC) เพื่อหารือรวมตัวครั้งใหม่ร่วมกับโครงการการจัดตั้งศูนย์กลางเทคโนโลยีสารสนเทศเชิงควอนตัม หรืองานความพัวพันเชิงควอนตัมของศูนย์ปฏิบัติการอะตอมเย็นยิ่งยวดภาคเหนือ โดยประโยคมูลเหตุที่เผยแพร่ในภายหลังว่ามี “นักฟิสิกส์ที่จบปริญญาเอกทางฟิสิกส์อุณหภูมิต่ำว่างงานอยู่ที่มอชอพอดี” จึงมาเริ่มรวม “คู่” ควอนตัมกัน แต่ยังไม่สามารถเรียกว่าเป็นคณะ (consortium) เพราะนักวิจัยเพียงสองกลุ่มจำนวนหลักหน่วยนั้นน้อยเกินไปและยังไม่เคย “พัวพัน” กันมาก่อน อีกทั้งโครงการควอนตัมเป็นทางการแรกขนาดเล็กเมื่อสองปีก่อนหน้า (ค.ศ.2006) ด้วยงบเพียงหลักแสน (AIT’s RTG Joint Research Project 2004) เพิ่งพับลงไปขนานกับการปรากฏตัวของ ‘ควอนตัมนั่งเทียน’ ยุคแรกในสังคมวิทย์ไทย ตามด้วยข้อตกลงความร่วมมือจัดตั้งห้องปฏิบัติการวิจัยในประเทศอีกสองแห่ง ค.ศ. 2007 ที่เพียงแค่เริ่มกลับร่วงโรยโดยพลัน ดังนั้น กิจกรรมไอทีควอนตัมไทยครั้งใหม่จึงก่อตัวกันขึ้นพร้อมบทเรียนสอนใจที่ทักเตือนกันเองหนัก ๆ อยู่ข้างหลัง
ขณะที่ระดับนโยบายสายเชียงใหม่กำลังแล่นนำอย่างแข็งขัน ระดับปฏิบัติการจึงวิ่งตามอย่างมีความหวัง นักฟิสิกส์ที่จบปริญญาเอกทางฟิสิกส์อุณหภูมิต่ำผู้เคยว่างงาน ณ ห้องปฏิบัติการเชิงดอยสุเทพทยอยได้รับความพัวพันส่งถ่าย (teleport) ประสบการณ์อันไม่น่าพิสมัยจากส่วนกลางขึ้นไปให้ทั้ง ‘ควอนตัมเทียม’ ‘ควอนตัมเกินจริง’ และ ‘นโยบายแฝงสร้างภาพลักษณ์ควอนตัม’ รวมทั้งการสลายโครงข่ายการสื่อสารควอนตัมสามโหนดปทุมธานี (testbed) ตามอายุขัยของผู้สนับสนุน ‘กทช.’ (ก่อนหน้ากลายเป็น กสทช.) หลังจากตกค้างไปต่อไม่ได้ผลจากรัฐประหารปี พ.ศ. ๒๕๔๙ โดย ทุกบทเรียนอยู่ในช่วงทยอยสร้างเป็นจดหมายเหตุพร้อมกิจกรรมอาสาชดเชยการใช้ทรัพยากรในอดีตผ่านทางสมาคมวิชาชีพ (IEEE & ECTI) ทั้งหมดนั้นควรได้ช่วยสร้างภูมิคุ้มกันให้ทีมเชียงใหม่บนเส้นทางอันยาวไกลที่กำลังเริ่มต้นขึ้น ไม่มากก็น้อย
๐ เดลินิวส์ออนไลน์ ๗๔/2015 ควอนตัมสยามประเทศ เชิงดอยสุเทพ (เดิม www.dailynews.co.th/article/303639) ๐
ท้ายปี ค.ศ.2019 สิบปีต่อมา อาจารย์ถิรพัฒน์ผู้ผลักดันวงการการทดลองฟิสิกส์พื้นฐานมาอย่างยาวนานและทุ่มใจให้อีกครั้งกับด้านควอนตัมนี้ สารพันความก้าวหน้าจึงปรากฏดังที่เคยเผยแพร่สู่สาธารณะเรื่อง “The End of the Road : สุดทางฝัน” ไว้ว่า
“กันยายน พ.ศ. 2562 เป็นเดือนแห่งการเปลี่ยนแปร (turning month) เพื่ออนาคตของสังคมไทยเลยทีเดียว เป็นเดือนในฝันที่ขาใหญ่ในวงการหลายคนถึงกับเปล่งเสียงออกมาว่า “it’s about time””
โดยโครงการจัดตั้งศูนย์วิจัยเทคโนโลยีควอนตัม คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ได้ก่อตัวขึ้น และ
“รมต.สุวิทย์ เมษินทรีย์ รัฐมนตรีวิทยาศาสตร์ที่มีวิสัยทัศน์ยาวไกลดั่งสายตาเหยี่ยวได้ ประกาศให้ quantum technology เป็น frontier research ของประเทศและจัดตั้งคณะทำงานเพื่อทำ Roadmap ให้เสร็จโดยเร็วไวให้ควอนตัมมอชอขึ้นเทียบชั้นกับต่างประเทศภายใน 5 ปี”
เพียงไม่กี่ประโยคแห่งความยินดีเหล่านี้พร้อมภาพประกอบร่วมฉลองกับทีมงานอะตอมเย็น บ่งบอกถึงอนาคตที่สดใสได้มารออยู่ข้างหน้าแล้ว ...
สลับภาพจากระดับนโยบาย ด้านผู้ลงมือปฏิบัติยังคงส่งถ่ายความพัวพันข้ามจังหวัด ทั้ง “ทักเตือนให้ดูประวัติศาสตร์วงการวิทย์ไทย รุ่นก่อนส่งต่อมา จากรุ่นพี่สู่รุ่นน้อง ฯลฯ” มีงานเก่าที่ควรศึกษาก่อน เช่น โครงการมือถือ 3G สี่สิบล้าน UAV-โดรนร้อยล้าน รวมทั้งฮาร์ดดิกส์พันล้าน หรือจะถอยย้อนไปถึงยุคไมโครฯ หลายพันล้านได้จะเป็นการดี เป็นต้น แม้เป็นหัวข้อปลายน้ำนักวิจัยมากมายและโอกาสล้นเหลือยิ่งกว่า ยังมิเคยปรากฏการจบงานกันได้แบบสุขขี รวมทั้งเรื่องบุคลากร ‘ควอนตัมนั่งเทียน’ ที่เคยพยายามเข้าพ่วงยังคงส่งสัญญาณเพ้อฝันการเป็นไอน์สไตน์สัญชาติไทยอยู่ สองในสี่กลุ่มควอนตัมแปลกปลอมกลับมาสาละวนอยู่รอบข้างทีมนักวิจัยควอนตัมหน้าใหม่ที่เพิ่งจบการศึกษาและร่วมอยู่ในวงงบวิจัยก้อนล่าสุดที่กำลังจะมานั้นด้วย … “พึงตรวจสอบให้ดี !”
ทบทวนโครงการวิจัยร่วมสมัย (ฟิสิกส์และวิศวกรรมไฟฟ้า): ตัวนำยวดยิ่ง (1980s) นิวเคลียร์ (1980s) ไมโครอิเล็กทรอนิกส์ (1990s - มากกว่าพันล้าน) ฮอโลแกรม (1990s - มากกว่าร้อยล้าน) ฮาร์ดดิสก์ (2000s - มากกว่าพันล้าน) 3G (2000s - 50 ล้าน) UAV - อากาศยานไร้คนขับ (2000s - 100 ล้าน) นาโนเทคโนโลยี (2000s - มากกว่าพันล้าน) ดิจิทัลทีวี (2010s) เทคโนโลยีควอนตัม (2010s - 200 ล้าน ++) ไปดวงจันทร์ (2020s ++) 5G Use Cases (2020s) และกลับมาไมโครอิเล็กทรอนิกส์ (ชิป) 2024 ++
พลันที่ตัวเลขงบประมาณวิจัยควอนตัมยุคใหม่วิสัยทัศน์สายตาเหยี่ยวมาถึงระดับ “สองร้อยล้าน” จากเดิมนักวิจัยทั้งประเทศมีเพียงทีมคู่โฟตอน (แสงจาง ๆ) กับ อะตอม (เย็นยะเยือก) เพิ่มพรวดกลายเป็นร่วมห้าสิบคนพร้อมประกาศจากนักการเมืองเองว่า “เพียงพอต่อการสร้างนวัตกรรม !” ทันทีที่ข่าวนั้นปรากฏ ภาพตัวอย่างเก่าผุดกลับมาฉายซ้ำทันที ทั้งกรณีนักวิจัยฮาร์ดดิสก์จากหลักสิบกลายเป็นร้อยเมื่องบพันล้านมาถึงเติบโตตั้งเป็นศูนย์ใหญ่ที่ลาดกระบัง หรือจะภาพเก่า UAV ร้อยล้านทั้งสายทหารรวมคณาจารย์ครึ่งร้อยเปิดตัวอลังการจัดงานทั้งที่เมืองทองและศูนย์ประชุมฯสิริกิตต์กำเนิดความเชี่ยวชาญร่วมกันได้ในเวลาอันสั้นเช่นกัน แต่เมื่องานเหล่านั้นงบหมดบ้างกระโดดไปที่ก้อนใหม่ อาทิ ดิจิทัลทีวี 5G ฯลฯ เหลือไว้ด้วยคำถามจากสังคมภายนอก … ภาพเก่าเหล่านั้นมาซ้อนทับกับเวทีแถลงควอนตัม ‘นวัตกรรม ๒๕๖๒’ ข่าวน่ายินดีมากมายกระจายตีพิมพ์โดยหลายสำนัก วงการวิทย์ไทยคึกคักกับคำว่า ‘frontier research’ และ ‘ควอนตัม’ อย่างยิ่ง โดยหลังจากข้ามปีใหม่ไม่นาน แผนที่นำทางฉบับ ๒๐ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๓ อันน่าตื่นตะลึงจึงปรากฏตัว ดังที่สังคมไทยได้เห็นและรู้สึกกันอยู่นี้นั่นเอง
ขณะที่สองปีต่อมาข่าวบรรยากาศจากทีมควอนตัมเชียงใหม่กลับตารปัตร ! จากเดือนแห่งการเปลี่ยนแปร (กันยายน พ.ศ.๒๕๖๒) อันน่ายินดี มาถึงต้นปี พ.ศ.๒๕๖๕ ผันแปรเปลี่ยนเป็น
“คงจะไม่มีข่าวอะไร surprising ไปมากกว่าข่าวการยุบศูนย์เทคโนโลยีควอนตัมของคณะวิทยาศาสตร์ มช.”
ช้อความเผยแพร่จากหนึ่งในทีมงานเและถูกแชร์ไปอย่างกว้างขวาง ตรงตามที่อดีตคณบดีศาสตราจารย์คณะวิทย์รุ่นบุกเบิกเคยทักไว้ช่วงเริ่มต้นว่า “เผื่อใจไว้หน่อยนะครับ อะไรที่มากับการเมือง จะมาเร็วไปก็เร็วครับ” จึงเป็นอันว่าประโยคแห่งความปิติ “เท่านี้ก็สุดทางฝัน” ของวันวานที่เคยเป็นความหวังฉลองชนแก้วกันไปแล้ว ความหมายสลับด้านอย่างน่าเสียดาย อีกครั้ง ...
๐ ชดเชยอดีต vs ‘สัญญาณแทรก’ ๐
ปี พ.ศ.๒๕๕๘ ช่วงที่วิทยาการใหม่ทั่วโลกชลอตัวอยู่ที่ยุค 4G เกิดกิจกรรมสาธารณะเพื่อชดเชยงบภาษีสังคมของอดีตโครงการควอนตัมที่ล้มไป หนึ่งในนั้นคือการรวมกลุ่มบุคลากรสายตรงนักเรียนทุน พสวท. และฟิสิกส์โอลิมปิกผู้กำลังคลุกคลีกับไอทีควอนตัมอยู่ในห้องปฏิบัติการแถวหน้าของโลก สองปีจากนั้นได้ให้กำเนิดหนังสือ “รูป รส กลิ่น เสียง สัมผัส ไอทีควอนตัม ลำดับที่ 3 - คอมพิวเตอร์เชิงควอนตัม” หลายว่าที่ดุษฎีบัณฑิตฟิสิกส์ร่วมกันจัดทำเพื่อทั้งส่งผ่านความรู้ใหม่สู่สังคมไทยแนวเล่าเรื่อง ‘อะตอม’ ‘ช่องว่างในผลึกเพชร’ ‘วัสดุทอพอโลยี' ‘ตัวนำยวดยิ่ง’ ‘การกักไอออน’ ฯ พร้อมบทสัมภาษณ์ปรมาจารย์คนสำคัญ รวมถึงใช้เป็นช่องทางแนะนำตัวและเตรียมความพร้อมก่อนสำเร็จการศึกษากลับมาทำงานใช้ทุน โดยหวังให้เริ่มสร้างภูมิหนีห่างจากโรคปรับวัฒนธรรมไม่ทัน (culture shock) ที่เคยระบาดกับนักเรียนทุนรุ่นพี่ ป้า น้า อา จำนวนนับไม่ถ้วน
อนึ่ง พ.ศ.๒๕๕๘ ปีเดียวกันนั้น ขณะที่กิจกรรมสาธารณะของสมาคมวิชาชีพ (IEEE & ECTI) ด้าน “Light & Quantum” ร่วมกับภาคการศึกษาและเยาวชนผ่านงาน ‘ปีสากลแห่งแสง’ (Inter Year of Light) หรือ IYL2015 ของยูเนสโก (UNESCO) กำลังดำเนินอยู่ ปรากฏสัญญาณแปลกประหลาดจากมุมสำคัญหลังวงการวิทยาศาสตร์ไทยขึ้น เมื่อวัฒนธรรมการสร้างภาพลักษณ์แฝงยุค 1990s ขยายตัวประสงค์เป็นเจ้าภาพหลักดำเนินการ IYL2015 ถึงระดับแทรกประชันกันเองระหว่างผู้กำกับดูแลกับผู้ปฏิบัติต่างหน่วยงานวิทย์ภาครัฐฯเพื่อจัดกิจกรรมแถลงข่าว !
และสองปีถัดมาสัญญาณแปลกคล้ายเดิมกลับมาอีกครั้งใหญ่ช่วงสายวันเสาร์ที่ ๑๔ มกราคม ๒๕๖๐ พร้อมด้วยประโยคสำคัญจากหลังม่านนโยบายต่อวงการควอนตัมไทยช่วงเริ่มต้นนั้น จนถึงกับทำให้ตาสว่าง ...
จากสารพันงานบันทึกความล้มเหลวควอนตัมปทุมธานีเพื่อเป็นประวัติศาสตร์ให้รุ่นหลังได้ศึกษา [ Milestones ] หนึ่งในนั้นคือรายงานสรุป “ศูนย์ทดสอบ ฝึกอบรมและถ่ายทอดเทคโนโลยี ระบบวิทยาการรหัสลับเชิงควอนตัม (พ.ศ.๒๕๕๙)” ถูกนำไปกล่าวถึงในที่ประชุมนโยบายระดับสุดขอบเพดานบน หลังจากมีผู้รายงานข่าวดาวเทียมควอนตัมจีน ‘ม่อจื้อ’ ที่เพิ่งขึ้นสู่ท้องฟ้าปีก่อนหน้า (2016) โดยเมืองไทยควรขอร่วมไปกับทีม “จงกั๊ว” ด้วย จึงเป็นเหตุให้มีสัญญาณพิศวงนั้นตามมา ผลการสนทนานอกจากทำให้ตาสว่างต่อทุกภาพพื้นหลังได้แล้ว จึงประสงค์แจ้งแด่ทีมควอนตัมเชียงใหม่ทั้งระดับนโยบายและนักวิจัยที่สุดเส้นทางฝันไปแล้วด้วยว่าไม่ควรเสียดายหรือเสียใจ ประสบการณ์ที่เคยสร้างสรรค์มาแม้ผลน้อยและยังไม่เป็นที่ถูกใจนักอาจใช้ช่วยนักวิจัยรุ่นใหม่ให้ปลอดภัยจากวัฒนธรรมวิทย์รัฐพันลึก (‘science’ - deep state) ที่แผ่รัศมีอยู่ในวงการก็เป็นได้ [ ปัญญาอลวน ] ทุกความล้มเหลวยังคงเกิดประโยชน์ เป็นได้ทั้งความรู้และภูมิต้านทานสาธารณะชั้นยอด ดังนั้น จึงขอเชิญกลับมาขยายเส้นทางฝันจากหลายชิ้นงานเดิมกันต่อ
๐ ส่วนหนึ่งจาก ‘ทรัพย์สินทางปัญญา เทคโนโลยีรหัสลับเชิงควอนตัม’ ๐
สำหรับประเทศไทย นอกจากด้านทรัพย์สินทางปัญญา (สิทธิบัตร) แล้ว ไม่ว่าจะเป็นผลงานวิชาการ การศึกษาการเรียนการสอน งานวิจัยและพัฒนา ณ พ.ศ.2559 นั้น พบว่ายังไม่มีนัยสำคัญใดทุกส่วนงาน และจากประสบการณ์ด้านงานวิจัยและพัฒนาระบบโทรคมนาคมของประเทศที่ต้องอาศัยแนวทางเฉพาะ (7 OSI layers) และประสบความล้มเหลวจำนวนมากแล้วจากความคาดหวังของสังคมที่แตกต่างในอดีต รายงานนี้จึงเป็นการเตรียมการอีกมุมมองที่นักวิจัย นักศึกษา ผู้กำกับนโยบายในประเทศและที่เกี่ยวข้อง ควรได้ตระหนักนำไปประกอบการคาดการณ์สู่การวางแผนการรองรับให้ดียิ่งขึ้นกว่าอดีตต่อไป แม้จะเป็นเพียงเพื่อการจัดซื้อจัดหาเทคโนโลยีเพื่อการประยุกต์ใช้งานเพียงอย่างเดียวในอนาคตก็ตาม อันสอดคล้องกับสถานะภาพที่เป็นอยู่ของอุตสาหกรรมไอทีหรือสื่อสารโทรคมนาคมไทย
๐ นโยบาย 1990s & ควอนตัมสามย่าน ๐
เมื่อย้อนภาพกลับไป ‘เดือนแห่งการเปลี่ยนแปร’ ตั้งแต่ กันยายน พ.ศ.๒๕๖๒ เป็นต้นมา ปรากฏภาพข่าวมากมายเมื่อรัฐมนตรีผู้ดูแลแวะเวียนไปเยี่ยมห้องปฏิบัติการและแถลงกันที่เชียงใหม่ ส่วนข่าวการกำกับดูแลเชิงนโยบายนั้นต้องลงแม่ปิงล่องสู่เจ้าพระยาขึ้นท่าที่จตุรัสสามย่านกันก่อน จากการย้อนบันทึกอดีตตลอดสี่สิบปีของ “กระทรวงวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และการพลังงาน” กระทั่งยุบหายไปรวมกับงานอุดมศึกษา มีภาพสำคัญจำนวนมากมาพร้อมกับการแถลงนโยบายอื่นก่อนหน้าเช่นกันโดยเปลี่ยนไปตามหัวขบวนเจ้ากระทรวง อาทิ ภาพลงเสาเข็มหน่วยวิจัยไมโครอิเล็กทรอนิกส์ ตามด้วยภาพเปิดตัวอุตสาหกรรมฮาร์ดดิสก์กับงบวิจัยพันล้าน พร้อมภาพการแถลงก่อตั้งงานเทคโนโลยีนาโน ต่อด้วยภาพเวทีโครงการอุตสาหกรรมการอาหาร (food innopolis) จนมาถึงข่าวเมืองไทยจะไปดวงจันทร์ เป็นต้น กระทั่งล่าสุดวนกลับไมโครอิเล็กทรอนิกส์กับเวทีใหม่ (Thailand Hub of Talents in Microelectronic Design: THTMD) ในปี พ.ศ.๒๕๖๖ ประวัติศาสตร์ที่ผ่านมาแม้นโยบายวิทย์จะเปลี่ยนโจทย์วิจัยวูบวาบไปอย่างไรภาพอมตะฉากหลังเวทีมิเคยเปลี่ยน กลับมาใหม่อีกครั้งแน่นอนเมื่อความขลังของคำว่า ‘ควอนตัม’ มาถึง
“อาจารย์สิปนนท์ เกตุทัต สมัยเรียนจบกลับมาควอนตัมยังไม่ได้สอนในเมืองไทยเลย เราตามหลังเขามาก ควอนตัมเกิดเมื่อปี ค.ศ.1925 อาจารย์สิปนนท์กลับมาปี ค.ศ.1975 แม้ห้าสิบปีผ่านไปแล้ว ควอนตัมก็ยังไม่ถึงเมืองไทย” (จากบทสัมภาษณ์ ศ.ดร.สุทัศน์ ยกส้าน)
๖ มิถุนายน พ.ศ.๒๕๖๒ -- สามเดือนก่อนถึงกันยายนแห่งการเปลี่ยนแปรที่เชียงใหม่นั้น ช่วงกลางปีฤกษ์ดีเปิดประชุมยุทธศาสตร์การวิจัยขั้นแนวหน้า วาทะนโยบาย ‘frontier research’ คำใหม่นี้จึงเริ่มต้นขึ้นอย่างเป็นทางการ งบประมาณสองร้อยล้านส่วนที่นักการเมืองตั้งไว้ให้กับภารกิจวิจัยเทคโนโลยีควอนตัมเริ่มนำขึ้นไปอยู่บนเรือธงนโยบายลำใหม่ ขับเคลื่อนด้วยประสบการณ์ที่เคยใช้ล่องมาแล้วกับทั้งยุคไมโครอิเล็กทรอนิกส์ผ่านนาโนเทคโนโลยี และนำมา “หลีด (lead)” กลุ่มคอนซอร์เทียมงานระดับอนุภาคมูลฐานที่วางเป้าถึงปลายน้ำนี้ด้วยอีกครั้ง วิถีการกำกับวงการวิทย์แนวนี้ช่างละม้ายคล้ายกับของแวดวงรัฐศาสตร์การบ้านการเมืองโดยแท้ เพราะแม้กำเนิดเรือวิทยาการลำใหม่แต่ไต้ก๋งยังคงเดิม พ่วงเติมเข้ามาด้วยทายาทสืบสานวิศวกรรมปลายน้ำต่ออายุการบริหารแนวอนุรักษ์นิยมนั้นด้วย ภาพอนาคตที่กำลังจะเกิดขึ้นจึงมิใช่เรื่องน่าแปลกใจ เห็นเค้าลางได้บ้างแล้วตั้งแต่วันนั้นเป็นต้นมา
หากมีโอกาสศึกษาย้อนหลังภาพเรือธงนโยบายวิทย์ไทยลำเก่า ๆ จากยุค 1990s ด้วยวิถีนำร่องอันอยู่บนสารพันหลักวิชาการคาดการณ์เทคโนโลยี (foresight) ทั้ง Delphi method การบริหารแบบพหุภาคี อีกทั้ง POSDC PDCA แผนกลยุทธ์มุ่งสัมฤทธิ์เคพีไอ (KPI) Springboard หรือ SPA ที่ผ่านมือกันมาในรอบสี่สิบปี รวมกับการ ‘ลองผิดลองถูก’ ไม่น้อยอันปรากฏร่องรอยให้นักบริหารนโยบายวิทย์รุ่นหลังตามเก็บแก้ด้วยแล้ว อาจคลับคล้ายคลับคลาราวกับว่า ภาพเก่าเหล่านั้นยังอยู่เป็นพื้นหลังโจทย์ควอนตัมสาขาใหม่เพื่อการวิจัยขั้นแนวหน้า อีกครั้ง !
๐ ตรวจทิศแผนที่นำทาง ‘Classical’ vs ‘Quantum’ ๐
ผลการศึกษาจากหลายโครงการก่อนหน้าที่สะสมองค์ความรู้และเผยแพร่สู่สาธารณะเป็นทางการมาตั้งแต่ปี พ.ศ.๒๕๕๗ กอปรผลจากโครงการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีใหม่ขนาดใหญ่ที่ล้มเหลวในอดีต บ่งชี้ถึงสี่ปัจจัยสำคัญสำหรับการพัฒนาที่ยังคงไม่สามารถผลักดันไปถึงระดับจุดมวลวิกฤติได้ นอกจากด้าน “นโยบาย บุคลากร วิทยาการ และงบประมาณ” ยังเกิดช่องว่าง “การสื่อสารวิทยาศาสตร์” ที่กว้างมากกับสังคมภายนอกด้วย เช่นกัน ขณะที่เทคโนโลยีควอนตัมดังกล่าวได้เริ่มเข้ามาพร้อมด้วยศักยภาพที่อาจเปลี่ยนแปลง (disturb) อย่างมีนัยสำคัญ กลับพบความเข้าใจด้านลบโดยพร้อมที่จะกลายเป็นวาระซ่อนเร้น (propaganda) จากหลากหลายกลุ่มในสังคมเข้าอีก ทั้ง ‘วิชาการควอนตัมนั่งเทียน’ ‘สินค้าควอนตัมเทียม’ ‘ควอนตัมขายพ่วงในอุตสาหกรรมไฟฟ้ากำลัง’ ฯลฯ รวมไปถึงอีกกรณีใหญ่ เมื่อคำว่าวิจัยแถวหน้า ‘frontier research’ ของ ‘ควอนตัม’ วิทย์พื้นฐานมาถึงพร้อมกับงบสองร้อยล้านด้วยการ “หลีด” วิถี ‘classical’ ดั้งเดิมที่คุ้นเคยเพื่อไปให้ถึงปลายน้ำซึ่งได้นำมาสู่ “แผนที่นำทางการพัฒนาเทคโนโลยีควอนตัมของประเทศไทย พ.ศ.2563 – 2572” ที่ปรากฏขึ้นนี้ คำถามใหญ่ด้านการสื่อสารวิทยาศาสตร์เพื่อสังคมไทยจึงดังขึ้น อีกครั้ง !