top of page
QICTechFACTcheckLoGoWhite-2021.jpg

เตือนใจควอนตัมไทย ๓ - ช้าก่อน ! | Replay Nobel 2022 Footsteps | ตรวจทานเส้นทางโนเบลควอนตัมโลก | Entanglement with Anton Zeilinger | (อ้าง) ความพัวพันกับโนเบล |

“ตรวจสอบตรวจทานกันก่อน” -- ท่ามกลางกระแสชาตินิยม บุคคลนิยม ภาวะนิยมหรือความเชื่อศรัทธาที่นิยมอ้างโหนอยู่ในสังคมโดยมีพื้นหลังคลุมเครือใด ๆ ยามเปิดใจตาสว่างรู้แจ้งที่มาดีแล้ว มักส่งผลตรงกันข้ามตามด้วยผลข้างเคียงต่อลุ่มสังคมที่ ‘โหนนิยม’ กันอยู่นั้น วงการวิทยาศาสตร์ไทยเช่นกัน โหนเส้นทางของผู้รับรางวัลโนเบล นำวิทย์ไทยให้ก้าวไกลแน่แท้หรือ ?  

การอิงงานเด่น อ้างคนดัง นับถือผู้ประสบความสำเร็จมักเกิดขึ้นเป็นปกติยามต้องการยกระดับตนเอง เช่น โหน 'อีลอน มัสก์’ ‘มาร์ก ซักเคอร์เบิร์ก’ หรือ ‘แจ็ค หม่า’ รวมทั้งอ้างหน่วยงานเทคโนโลยีโลกทั้งนาซา (NASA) หรือบริษัทแอปเปิล เป็นต้น มีทั้งเรื่องเคยร่วมงานกันจริงและที่อิงเพียงเพื่อเรียกกระแสร่วม (engagement) สร้างรายได้จากโฆษณา ปั่นข่าวเพิ่มมูลค่า ฯลฯ กระนั้น มีไม่น้อยที่โหนแล้วได้ผลย้อนกลับทางลบแทน


ทบทวนอดีตของเมืองไทย การโหนตัวบุคคลพ่วงชาตินิยมไปกับ ‘ไทเกอร์ วูดส์’ ผู้มีมารดาเชื้อสายไทย กระทั่งมอบปริญญากิตติมศักดิ์ให้ถึงโรงแรมที่พักจึงตามมาด้วยกระแสสองด้านจากสังคม ส่วนวงการวิทยาศาสตร์มักอ้างผู้เคยทำงานกับนาซาหรือผ่านการศึกษามหาวิทยาลัยระดับโลก กระทั่งโหน ‘ไอน์สไตน์’ อย่างหนักหน่วงเมื่อครั้งครบรอบ ๑๐๐ ปีทฤษฎีสัมพัทธภาพ ค.ศ.2015 อาทิ เจ้าของรางวัลโนเบลฟิสิกส์ปี 1921 ผู้นี้ให้ความสนใจศาสนาพุทธเพื่อสรัางจุดขายให้หนังสือนิยายวิทย์แห่งธรรม อ้างวาทะกรรมศาสนสุภาษิตเคียงหลักการทางฟิสิกส์ว่ามีมาแต่พุทธกาล โดยไอน์สไตน์นั้นเพียงค้นพบตามหลัง ราวกับเป็นการจับนักฟิสิกส์คนดังมาบวชห่มจีวรให้ที่เมืองไทย [ ดุษฎีนิพนธ์: เสาวนี ชินนาลอง ] เป็นต้น จนมาถึงการโหน “รางวัลโนเบล” ของสื่อมวลชนระดับชาติที่จินตนาการไปเองจนน่าหวั่นใจ …

และเมื่อมาถึงยุคควอนตัมที่ลึกล้ำ เกิดการอ้างชื่ออย่างดื่มด่ำทั่วบ้านทั่วเมืองไปกับสินค้า บริการ งานสารพัน ‘ควอนตัมเทียม’ ของวงการวิชาการเองก็มีไม่น้อย [ เตือนใจควอนตัมไทย ๒ ] แล้วในที่สุดเมื่อวิทยาการสาขาที่จับต้องไม่ได้ด้วยประสาทสัมผัสปกติของมนุษย์นี้ได้รับ “รางวัลโนเบลฟิสิกส์ ค.ศ.2022” ได้ปรากฏการโหนควบทั้งสองเรื่องนั้นตามมาอีกด้วย !



๐ ทบทวนการโหนยุคอดีต ๐

ตลอดช่วงทศวรรษที่ผ่านมายามสนทนาแบบกันเองกับศาสตราจารย์สุทัศน์ ยกส้าน ราชบัณฑิตและที่ปรึกษาคนสำคัญวงการวิทย์เมืองไทยมักได้ภาษายุคพ่อขุนรามฯตามมาด้วย บ่งถึงน้ำหนักในการถ่ายทอดประสบการณ์ได้เป็นอย่างดี ทั้งเรื่องการรวมกลุ่มวิจัย (consortium) ด้านตัวนำยวดยิ่ง (superconductor) ยุค 1980s สมัยเพิ่งเริ่ม “กระทรวงวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีและการพลังงาน” ที่เปลี่ยนชื่อไปกระทั่งครบสี่สิบปีถูกยุบหายรวมกับด้านอุดมศึกษา ก่อนนั้น นักฟิสิกส์จาก มศว.ประสานมิตร เชียงใหม่ จุฬาฯ และสงขลารวมกลุ่มงานกัน ด้านฮาร์ดแวร์ต้องลงทุนสูงเกินกำลังจึงเลิกลากันไป เหลือส่วนทฤษฎีของอาจารย์สุทัศน์เองที่แจงว่า “ไปได้เรื่อย ๆ” ...


วงการแห่งความคาดหวังสูงสู่การประยุกต์อย่างยิ่งยวดนั้นผ่านการคุยโอ่เกินจริง (hype) ทั่วโลกมามาก แต่ยังไม่ถึงปลายน้ำที่หวังไว้สักที ไม่สามารถใช้งานในสภาวะอุณหภูมิทั่วไปแม้ขึ้นเวทีรับโนเบลมาแล้วร่วมสามสิบปี จึงเป็นอุทาหรณ์อย่างดียิ่งให้กับ “ควอนตัม” เทคโนโลยีหน้าใหม่กว่าและกำลังคุยโตกระหน่ำโลกอย่างมากมายกว่าด้วย !

ก่อนหน้านี้ ผู้ผ่านทั้งการรวมกลุ่มวิจัยอีกทั้งร่วมสร้าง “นักฟิสิกส์หัวกระทิ” เป็นติวเตอร์นักเรียนเพื่อล่าเหรียญฟิสิกส์โอลิมปิกรุ่นแรก ๆ ของประเทศนี้ เคยเอ่ยหลายวาทะคำถามสำคัญที่มีคำตอบพร้อมในตัวเอง อาทิ  “บรรดาผู้ที่สอบได้ที่หนึ่งที่สองของประเทศนี้ หายไปไหนกันหมด ?” “รู้ไหมเขาไปไหน ประเทศใช้เงินไปเท่าไหร่ ?”“บรรดานักเรียนฟิสิกส์โอลิมปิกได้เหรียญมาเป็นสิบ ๆ ปีแล้ว หายไปไหนกันหมด ?” “นักเรียนทุนจบกับมาได้ด๊อกเตอร์แล้ว ทำอะไรกันต่อ ?” และที่เกี่ยวข้องกับการโหนอ้างมีด้วยเช่นกัน สะท้อนเวที “เน้นพิธีกรรม” ยุคภาพลักษณ์วิชาการเบ่งบานเอาไว้ว่า 


“เชิญโนเบลมาถ่ายรูปด้วย มันไม่ใช่ !”  

 

๐ ยุคใหม่โหนอะไร ? ๐

เกิดข่าวทั้งจากเวทีนโยบายและจากโลกสังคมออนไลน์ที่แพร่กระจายเมื่อปี ค.ศ.2023 ในแนว “คนไทยมีส่วนร่วมกับผลงานของ ‘อันตัน ไซลิงเงอร์’ (Anton Zeilinger) หนึ่งในสามนักวิทยาศาสตร์รางวัลโนเบลด้านการทดลองควอนตัมปี ค.ศ.2022” จึงเป็นที่ฮือฮาของนักเรียน นักศึกษา เป็นความหวังของคนรุ่นใหม่ เป็นไอดอลเพื่อการเรียนต่อสายวิทย์มาข้ามปี การเล่นใหญ่คราวนี้มิใช่การขอถ่ายภาพกับผู้รับรางวัลเช่นที่คุ้นเคย แต่ลึกถึงการมีส่วนร่วมบนเส้นทางความสำเร็จของปรมาจารย์ด้านความพัวพันเชิงควอนตัม (quantum entanglement) ด้วยเลย

 

๐ รวมความคิดชีวิตโนเบลฟิสิกส์ 2022 ๐

การยกเหตุแล้วอ้างสู่ผลที่นึกคิดจินตนาการไปเองพบเห็นได้ปกติทั่วไป ไม่เว้นแม้วงสนทนาของผู้ได้รับรางวัลโนเบลด้วย โดยเริ่มจากเหตุการค้นพบวิทยาศาสตร์พื้นฐานต่อมาจึงโหนอ้างเพื่อผลการประยุกต์ใช้งานนอกสาขาตน ตัวอย่างนั้นมาจากเวทีถ่ายทอด “ความคิดความอ่าน” (Nobel Minds) ประจำปีของผู้รับรางวัล ซึ่งงานปี ค.ศ.2022 สามนักวิทย์ฟิสิกส์การทดลองควอนตัมพื้นฐานมาครบสาม พิธีกรโยนคำถามเรื่องการประยุกต์ใช้ ‘แอลง แอสเปก’ (Alain Aspect - นาที 32:20) หนึ่งในผู้พิชิตรางวัลตอบอย่างมั่นอกมั่นใจว่า ‘รหัสลับควอนตัม (Quantum cryptography - quantum cryptography - quantum key distribution - QKD) 'ไม่มีใครสามารถถอดแกะได้’ ตามความหมายของนักฟิสิกส์ ทั้งที่หน่วยงานกำกับไอทีหลักของโลกวงการประยุกต์ปฏิเสธมาโดยตลอดสามสิบปี !



คำว่า “ควอนตัม” นักฟิสิกส์กันเองยังตีความ (interpretation) ต่างกัน เมื่อนำมาอ้างการประยุกต์โหนพ่วงไปกับวงการที่ห่างไกลตนอีก ยิ่งเกิดวาทะลึกล้ำทิ้งห่างโลกความจริงมากขึ้นเรื่อย ๆ ซึ่งเรื้อรังมานานแล้ว ทั้งนี้ รหัสลับควอนตัมมีประโยชน์สูงยิ่งด้านการศึกษา สร้างบุคลากร และขยายหลักการสู่อนาคต เป็นอุปกรณ์ห้องปฏิบัติการที่ยอดเยี่ยม กลับถูกเร่งไปสู่การใช้งานด้วยแรงขับทางวาทกรรม ! ... ทั้งกำเนิดบริษัทผลิตสินค้าจริงแต่ประยุกต์ด้วยจินตนาการ แม้ผู้ผลิตก็หาได้ใช้ดูแลความปลอดภัยข้อมูลตนเองดังที่โฆษณา แต่กลับสร้างข่าวกำกวมอ้างการประยุกต์สำคัญทั้งใช้ดูแลความปลอดภัยโรงไฟฟ้านิวเคลียร์และอื่น ๆ จากโอกาสอุตสาหกรรมเพื่อการศึกษาแต่บิดตนเองไปพ่วงวงการไอทีจนหลุดโลกจึงปิดตัวกันไปมาก ที่เหลือรอดยังคงโฆษณาเกินจริงโดยแอบขายพ่วง (tie-in sell) มาถึงในเมืองไทยด้วยแล้ว ทั้งนี้ ความสับสนเข้าใจผิดครั้งใหญ่มากของสื่อมวลชนทั่วโลกเกิดขึ้นเมื่อปี ค.ศ.2017 จากการแถลงอ้างถ่ายทอดสดการประชุมข้ามทวีปพ่วงการทดลองดาวเทียมควอนตัมแต่กระทำเชิง “สมมติ” ซึ่งงานนั้นจัดโดยทีมงานศาสตราจารย์ไซลิงเงอร์ผู้ที่ร่วมนั่งอยู่ในวงสนทนา Nobel Minds 2022 เดียวกันนั้นนั่นเอง … สรุป การโหนอ้างสร้างวาทกรรมยกเหตุอ้างผลข้ามสาขามีอยู่ทั่วไป ไม่เว้นแม้บนเวทีโนเบล !

 

หมายเหตุ

๐ “รหัสลับควอนตัม” ถูกอ้างประยุกต์อย่างลึกล้ำ แต่ ! -- NCSC (National Cyber Security Centre - UK 2018), NSA (National Security Agency - US 2020), ANSS (Agence nationale de la sécurité des systèmes d’information - France 2022), and BSI (Federal Office for Information Security - Germany 2022) did not recommend QKD

 

๐ การบรรยายพิเศษ - Nobel lecture 2022 ๐

ศาสตราจารย์ไซลิงเงอร์ นักฟิสิกส์แนวปฏิบัติชาวออสเตรียนวัยแปดทศวรรษผู้สงบสุขุม เคยเปิดห้องทำงานต้อนรับและให้คำแนะนำต่อวงการไอทีควอนตัมเมืองไทยว่า “simple, do it simple”  เล่นกับอนุภาคนิวตรอนตั้งแต่เป็นนักศึกษา ต่อมาบุกเบิกการทดลองด้านอนุภาคแสงสร้างปรากฏการณ์ควอนตัมพัวพันของโฟตอนจนเป็นเจ้าตำรับและหัวหน้าโครงการรหัสลับควอนตัมยุโรป ร่วมงานกับศิษย์เก่าชาวจีน (Jian Wei Pan) เจ้าของดาวเทียมควอนตัม ‘ม่อจื้อ’ ดวงแรกของโลก มีผู้ต่อยอดผลไปสร้างเป็นเครื่องมือทางวิทยาศาสตร์ใช้ค้นหาคำตอบลึก ๆ ของสรรพสิ่งในธรรมชาติสาขาอื่นต่อด้วย เช่น การประยุกต์กับด้านชีววิทยา เป็นต้น 

จากการพบสนทนาหลายครา (ค.ศ. 2004 - ICTP-Trieste, 2008 - Vienna, 2009 - Vienna และ 2010  - Tokyo)) เคยเอ่ยประโยคสำคัญถึงเมืองไทยสองครั้ง นอกจากคำแนะนำ ร่วมมือทำกันแบบง่าย ๆ ไม่ต้องเป็นทางการอะไรให้ยุ่งยาก” ยังตอบคำถามให้ประเทศกำลังพัฒนาผู้นิยมการตั้งเป้าหาทางลัดไปรอใช้งานที่ปลายน้ำโดยปราศจากพื้นฐานที่มั่นคงด้วยว่า “การประยุกต์ให้วิศวกรเขาทำไป ส่วนของเราทำพื้นฐาน”


ท้ายปีค.ศ.2022 บนเวทีบรรยายสรุปเส้นทางชีวิตที่นำมาสู่รางวัลโนเบลอันทรงเกียรติ บุรุษผู้นี้เล่นมุกเรียกเสียงเฮฮาไปทั่วงาน โดยแสดงการเข้ารหัสภาพตุ๊กตาหญิงโบราณอายุนับหมื่นปีหนึ่งในสัญลักษณ์อารยธรรมของประเทศออสเตรีย บรรยายว่าเป็นครั้งแรกของโลกที่สามารถเผยแพร่ภาพวาบหวิวในวารสารวิทยาศาสตร์ได้ ...

ที่สำคัญช่วงท้าย (นาทีที่ 34:30) กล่าวขอบคุณผู้มีส่วนร่วมสร้างงานอันมาสู่วันแห่งเกียรติยศนี้ด้วยรายชื่อจำนวนหลายร้อยชีวิตของช่วงห้าสิบปี (1971 - 2020) โดยมีคนเชื้อสายเอเชียหลัก ๆ จากทีมศิษย์เก่าผู้โด่งดังชาวจีน ความร่วมมือกับญี่ปุ่น (NICT) บุคลากรจากศูนย์ควอนตัมสิงคโปร์และคนเวียดนามรวมอยู่ด้วย แต่ ... เส้นทางสู่โนเบลฟิสิกส์ค.ศ.2022 มิได้เครดิตชื่อสกุลคนไทยที่เอ่ยถึงกันทั่วเมืองไทยตลอดทั้งปี 2023 ในรายนามเหล่านั้น !

 

ศาสตราจารย์อันตัน ไซลิงเงอร์

 

๐ ‘ปัญญาอลวน’ สู่ ‘ควอนตัมอลเวง’ ๐

จากวัฒนธรรมการสถาปนารางวัลและคำสรรเสริญตนเองที่แฝงตัวอยู่ในวงการวิทย์ไทยเพิ่งได้รับการตรวจสอบย้อนหลัง “ปัญญาอลวน” (๒๕๖๕) ตามมาด้วยการโหนอ้างรางวัลใหญ่โนเบลแบบผ่าน ๆ เข้าอีกชุด (๒๕๖๖) ทำให้เกิดภาพจริงซ้อนอยู่กับภาพลักษณ์ทมึนเพิ่มขึ้นอีกครั้ง โดยต่อเนื่องจากประวัติศาสตร์ที่สำรวจไว้กว่ายี่สิบปีซึ่งหลายข้อมูลบ่งชี้ว่า สังคมวิทย์ไทยเมื่อลงลึก ๆ สู่ระดับมูลฐานแล้วมีภาพลักษณ์คล้ายดั่งหลักความไม่แน่นอน (uncertainty principle) หลายเรื่องดีที่โฆษณาสังคมเคยชื่นชมเบื้องหลังกลับแตกต่าง อีกทั้งมีการซ้อนทับทางตำแหน่งหรือประโยชน์แห่งตนของระดับนโยบายคล้ายดั่งความหมายอันกำกวม ‘สองสถานะในเวลาเดียวกัน (superposition)’ ของโลกควอนตัมด้วย ทั้งหมดนั้นบันทึกอยู่ในสี่สารคดีสี่จดหมายเหตุ 'ปัญญาอลวน' ดังกล่าว



ช้าก่อน ! ก่อนเดินทางกันต่อควรมองหลัง ตั้งหลักแล้วสำรวจตรวจทานให้ดีจะช่วยสร้างทั้งภูมิคุ้มกันจากจินตนาการสุดขั้วและเสริมความแข็งแกร่งของสังคมวิทย์ที่เป็นเหตุเป็นผล เพราะการเคลมร่วมกับความสำเร็จใดแล้วหาไม่พบอาจจบที่ความผิดหวังของเยาวชนคนรุ่นใหม่ผู้ยกใจให้แล้วดั่งที่เคยเกิดขึ้นกับ ‘รหัสเทอร์โบ’ อ้างว่าเป็นผลงานของคนไทยเต็มตัวเมื่อสามทศวรรษก่อนหน้า หลังการตรวจละเอียดจึงรู้แจ้งถึงการเป็นเพียงทีมงานส่วนหนึ่งผู้พึงได้รับเครดิตตามสมควร


ทั้งนี้ จากกระแสบุคคลนิยมอันพบเห็นได้ทั่วไปมีตัวอย่างอื่น ๆ ที่ควรค่าแก่การศึกษายามที่ภาวะนิยมเหล่านั้นถูกตีกลับส่งผลลัพธ์ตรงกันข้าม เช่น อดีตศิษยานุศิษย์สายวัดป่าเมืองกาญจน์หวังเกาะโหนผ้าเหลืองเจ้าอาวาสพ้นทุกข์ด้วย ครั้นผู้นำจิตวิญญาณละเส้นทางตัดกิเลสแบบปัจจุบันทันด่วนแต่งงานกับหนึ่งในสีกาผู้มาปฏิบัติธรรม เหล่าศิษย์จึงผิดหวังตั้งตัวไม่ทัน หรืออีกกรณีที่ปรมาจารย์ด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ครั้งหนึ่งนำงบหน่วยงานและขึ้นมอบเป็นรางวัลใหญ่ให้กับความสำเร็จของผู้อื่น กว่าทศวรรษถัดมากลายเป็นผู้รับรางวัลชื่อเดียวกันนั้นเสียเอง ... แม้สองกรณีทางธรรมและทางโลกนี้ "กฏระเบียบมิได้ห้ามไว้" แต่ผู้ปักใจยกย่องยึดถือตัวบุคคลเหล่านั้นย่อมยากที่จะยอมรับได้ 'ใจสลาย'



ทั้งหมดนี้คืออุทาหรณ์แด่คนรุ่นใหม่ต่อการยกใจให้ “โนเบลควอนตัม” แบบผิวเผินได้พอทำเนา แม้กรณีที่กล่าวอ้างกันในเมืองไทยโดยเนื้อแท้แล้วข้อมูลอาจผิด ตก ยกเว้น หรือด้วยเหตุผลเร้นอื่นใดบนความสัมพันธ์เดิมที่เคยมี โดยผู้ถูกโหนทั้งสองฝั่งอาจมิได้คาดหวังดังที่สังคมวิทย์ไทยขยายผลกันไปเองอีกด้วย


ที่สำคัญ ขณะที่ผู้เคยได้รับรางวัลโนเบลหลายกรณียังถูกตรวจสอบตามหลังเมื่อมีข้อมูลร้องเรียน หรือหากได้งานชิ้นใหม่แล้วน่าสงสัยอาจถูกตรวจเพิ่มได้อีกเช่นกัน ดังนั้น เพียงการอิงไปกับคำว่า 'โนเบล' จึงควรตรวจทานให้กระจ่าง ก่อนทุ่มเทใจไปแล้วกลับต้องหวั่นไหวภายหลัง

 

ทบทวนโครงการวิจัยร่วมสมัย (ฟิสิกส์และวิศวกรรมไฟฟ้า): ตัวนำยวดยิ่ง (1980s) นิวเคลียร์ (1980s) ไมโครอิเล็กทรอนิกส์ (1990s - มากกว่าพันล้าน) ฮอโลแกรม (1990s - มากกว่าร้อยล้าน) ฮาร์ดดิสก์ (2000s - มากกว่าพันล้าน) 3G (2000s - 50 ล้าน) UAV - อากาศยานไร้คนขับ (2000s - 100 ล้าน) นาโนเทคโนโลยี (2000s - มากกว่าพันล้าน) ดิจิทัลทีวี (2010s) เทคโนโลยีควอนตัม (2010s - 200 ล้าน ++) ไปดวงจันทร์ (2020s ++) 5G Use Cases (2020s) และกลับมาไมโครอิเล็กทรอนิกส์ (ชิป) 2024 ++

 

๐ สะกิดโยบายวิทย์ไทย ๐

กลยุทธ์ 'ภาพลักษณ์นิยม' ร่วมสมัยคล้ายยามเริ่มโจทย์วิจัยขนาดใหญ่ในอดีตแล้วสลายหายตัวตลอดช่วงสี่สิบปีที่ผ่านมาเหล่านั้นปรากฏขึ้นอีกครั้ง จะใช้นำวงการควอนตัมไทยสู่ผลใดที่ต่างไปได้จากเดิม ?


ร่วมกันทุ่มเทปั้นคนไทยรุ่นใหม่ไปให้ถึงรางวัลใหญ่ห่างไกลจาก ‘ควอนตัมเกินจริง’ ‘ควอนตัมปลอม’ และ ‘ควอนตัมขายพ่วง’ โดยตรวจสอบตรวจทานทั้งระดับปฏิบัติการและนโยบายอย่างโปร่งใส แม้ยากยิ่งนักอาจหนักกว่าเข็นครกขึ้นตึกใบหยก ประโยชน์อาจมีตกถึงสังคมทั่วไปได้บ้าง

 

"เรียนรู้ประวัติศาสตร์ เพื่ออนาคตที่ผิดพลาดน้อยลง"

| ภาค ๕) จดหมายเหตุ ๕๐ ปีควอนตัมไทย | ภาค ๖) 'ธรรมาภิบาล'

 

กาลามสูตร 'พิสูจน์ด้วยตนเอง'

  • Facebook page
bottom of page