top of page
QICTechFACTcheckLoGoWhite-2021.jpg
รูปภาพนักเขียนK Sripimanwat

Quantum@China 2021 - สิบข่าวไอทีควอนตัมจีน ๒๕๖๔ - ปีแห่งความสับสน

ไอทีควอนตัมของประเทศจีนมีความก้าวหน้าในแต่ละปีมากมายยิ่งนัก ทั้งด้านดีเด่นดังและด้านวาระเฉพาะกิจชวนให้สับสน อาทิ การสนองนโยบายด้วยแนวทาง “ฆ้อน & เคียว” ของกรณีรหัสลับควอนตัมที่สุดลึกล้ำ หรือรางวัลควอนตัมภาพลักษณ์(ม่อจื้อ)ของจีนที่หายไป รวมทั้ง กรณีบริษัทควอนตัมเข้าตลาดหุ้นเซี่ยงไฮ้พร้อมการขายจินตนาการผ่านโทรศัพท์ 5G เป็นต้น ...
พบกับสิบข่าวไอทีควอนตัมคัดสรรจากประเทศจีนในมุมมองหลากหลาย รวบรวมและสกัดมาจากข่าวจากนักวิจัย สำนักข่าว และเรื่องราวอื่น ๆ ที่ปรากฏตลอดทั้งปี พ.ศ.๒๕๖๔ ทุกมุม ทั้งข่าวความก้าวหน้าปกติและบางข่าวที่มีพัฒนาการราวกับนิยายกำลังภายในแม้เป็นเรื่องวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี !
๑) ภาพรวมสองทศวรรษ ควอนตัมจีนคุยอะไรกัน

มิควรต้องแปลกแล้วว่าสาขา "รหัสลับควอนตัม" (quantum cryptography, quantum key distribution - QKD) ของประเทศจีนที่ได้เน้นให้เป็นวาระระดับประเทศ (propaganda) กันไปทั่วแล้ว ซึ่งการเติบโตของวิชาการที่ต้องอาศัยชาตินิยมมาช่วยแบบนี้จึงเกิดมีเรื่องราวซ้อน ซ่อน ทับ พลาง น่าสงสัยจนต้องตามแกะรอยอย่างยิ่ง เช่นกรณีหลังจากที่ประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ได้ทวงถามหาอุตสาหกรรมจริงเมื่อปลายปีก่อนหน้า (2020) ที่ผ่านมา หลังจากนั้นได้เกิดมีภาพโฆษณาชวนเชื่อออกสู่สังคมในลักษณะภาพ "ฆ้อน & เคียว" เหมือนเมื่อครั้งในอดีต อันบ่งบอกความพยายามที่จะทำให้ QKD เป็นเรื่องชาตินิยม โดยภาพนี้เป็นการโฆษณาของบริษัทเอกชนรายหนึ่ง (ได้รับการดูแลหรือ “subsidize” จากรัฐบาลปักกิ่ง) ที่พยายามตอบสนองระดับนโยบายที่ได้ทวงถามมาผ่านไปกับภาพพื้นดาวแดง และฆ้อนเคียว และเตรียมการจัดทำแผนงานวิจัยควอนตัมกันใหม่ด้วย แต่กระนั้น การจัดงานเพื่อเผยแพร่แนวทางใหม่ดังกล่าวในเวลาต่อมา กลับยังไม่สามารถหลุดพ้นจากคำโฆษณาชวนเชื่อที่ว่า QKD สามารถใช้งานเพื่อความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ (cybersecurity) ได้ แม้นักวิชาการไอที วิศวกร หรือโลกอุตสาหกรรมกับการประยุกต์ใช้งานทั่วโลกไม่เล่นด้วย !

ณ ปี ค.ศ. 2021 โลกอินเทอร์เน็ตทำให้ปิดกั้นข่าวสารไม่ได้แล้ว ซึ่งต่างจากครึ่งศตวรรษก่อนเมื่อครั้งวิถีการโฆษณาชวนเชื่อลักษณะ "ฆ้อน & เคียว" ดังกล่าวกำลังแพร่กระจายไปทั่วและสำเร็จผลที่ประเทศจีน จึงควรติดตามดูกันต่ออย่างใกล้ชิดว่าวิทยาการเพื่อการสร้างคนสร้างอนาคตแต่ถูกนำไปอ้างว่าสร้างอุตสาหกรรมได้มากมายแล้วแบบที่เป็นอยู่นี้ สายป่านการสนับสนุนจากรัฐบาลปักกิ่งจะยาวต่อได้อีกเพียงใด แล้วหากถูกท่านประธานาธิบดีทวงถามหาอุตสาหกรรมจริงอีกครั้ง จะไปอย่างไรกันต่อ !


๒) ต้นทางของควอนตัมเกินจริงมาจากนักวิจัยต่อด้วยสำนักข่าว !

ตัวอย่างนี้เกิดขึ้นตั้งแต่ต้นปี โดยมาจากกลุ่มดาวเทียมควอนตัมจีน แล้วขยายผลโดยสำนักข่าวกระบอกเสียงของรัฐบาลต่อ โดยมีข่าวเป็นภาษาไทยให้พร้อมด้วย ! ซึ่งงานข่าวแบบนี้มีความอลังการด้านภาพลักษณ์หรือหน้าตาเป็นอย่างมาก หากแต่ว่า เนื้อหาข่าวภายในนั้นกลับกำกวมโดยส่วนใหญ่ และปรากฏมีส่วนที่เป็นข่าวผิดพลาดด้วย เช่น

(ประเด็นผิดพลาด)

ก) สาธิตใช้ในโลกจริง !

ข) อนาคตจะถูกนำไปประยุกต์ใช้ การเงิน การเมือง การป้องกันประเทศ

(ประเด็นกำกวม)

เครือข่ายสาธิตกว่าสี่พันกิโลเมตรที่ข่าวดังกล่าวอ้างถึงนั้น มิใช่เครือข่ายสื่อสารปกติทั่วไป แต่เป็นเครือข่ายจำลองเพื่อการสาธิตเท่านั้น โดยสังเกตได้โดยง่ายจากการมี "trused node (relay)" หรือโหนดที่ไว้ใจได้เชื่อมต่อตลอดเส้นทาง (หากโลกนี้มีการเชื่อมต่อที่ไว้ใจได้จริงก็ไม่จำเป็นต้องมีระบบรักษาความปลอดภัยข้อมูล) งานดังกล่าวนี้เป็นกิจกรรมสร้างวิทยาการ สร้างภาพลักษณ์การสาธิตเชิงจินตนาการ และสร้างบุคลากรเท่านั้น ไม่สามารถใช้งานจริงได้ (ซึ่งข่าวเครือข่ายควอนตัมทำนองนี้มีมากว่ายี่สิบปีแล้วทั่วโลก) (หลายหน่วยงานความปลอดภัยไอทีโลกได้ออกมาปฏิเสธข่าวเกินจริงเหล่านี้บ่อยครั้งในหลายปีมานี้ เช่น NCSC และ NSA)


ข่าวดังกล่าวนี้เป็นอีกหนึ่งการสื่อสารวิทยาศาสตร์ที่อาจสร้างปัญหาให้ทั้งเจ้าของข่าวและสำนักข่าวเอง เนื่องจากทำให้สังคมทั่วไปเข้าใจผิด เพราะวิทยาการ QKD ยังห่างไกลจากคำว่า "โลกจริง" ตามที่กล่าวอ้างมานั้นอย่างยิ่ง !

(หมายเหตุ: Trusted node นำมาต่อเชื่อมแต่ละจุดเพราะสถานะควอนตัมทำซ้ำและส่งผ่านชุมสายทั่วไปไม่ได้ จึงเป็นสิ่งที่นักฟิสิกส์นิยามขึ้นมาเองเพื่อ “สมมติ” ให้สถานะควอนตัมเดินทางได้ในระยะที่ไกลขึ้น ซึ่งเป็นเรื่องย้อนแย้ง ! เนื่องจากหากมีการใช้งาน trusted node จริงและไว้ใจได้จริงดังที่อ้างโลกการสื่อสารทั่วไปจะไม่จำเป็นต้องมีระบบการรักษาความปลอดภัยใด ๆ !)

๓) ของจริงแพงไป ของเล่นใหม่ถูกกว่า แต่ ... อย่าตื่นเต้นเกินเหตุ !

จากการสร้างข่าวให้ใหญ่โตด้วยดาวเทียมควอนตัมพร้อมกับการต่อพ่วงโครงข่ายควอนตัมภาคพื้นเมื่อปลายปี ค.ศ.2020 เมื่อข้ามปีมาได้ปรากฏต่อด้วยข่าวโดรนส่งสัญญาณควอนตัมที่น่าสนุกและตื่นเต้นดั่งภาพยนตร์ไซไฟ ข่าวนี้เริ่มจากการแถลงข่าวภาพลักษณ์ผลงานวิจัยคลุมเครือแล้วถูกหลายสำนักข่าวนำไปต่อยอด จนกลายเป็นข่าวอลังการเกินจริง กระทั่งเกิดเป็น “quantum internet” ลอยฟ้าผ่านเครือข่ายโดรนไปเองตามจินตนาการ

โดยแท้จริงแล้วกิจกรรมวิจัยลักษณะดังกล่าวนี้ มิได้มีอะไรต่างจากวาระเดิม ๆ ที่ผ่านมา นั่นคือเพื่อการสาธิตของนักฟิสิกส์ เพื่อการแสวงหางบประมาณ การสร้างกำลังคน และสร้างความหลากหลายของงานวิจัย ด้านในมีวัตถุประสงค์หลักที่แจ้งไว้ด้วยว่า ...

However, satellites are expensive and difficult to adapt to changing demands on the ground.

สรุป งานวิจัยลักษณะการสร้างภาพลักษณ์เช่นข่าวนี้เติบโตได้เพราะเป็นการใช้งบจากภาครัฐฯเพื่อพัฒนาคนและวิชาการ การเกิดแนวทางพลิกแพลงเช่นการใช้โดรนนี้จึงเป็นเรื่องปกติ (ต่างจากงานวิจัยของภาคอุตสาหกรรมที่อยู่บนต้นทุนเพื่อการค้าขายที่แท้จริง มิใช่ภาพลักษณ์) งานวิจัยโดยใช้โดรนนี้จึงไม่ต่างจากดาวเทียมควอนตัมหรือแม้แต่เครือข่ายภาคพื้นดินที่มิได้มีการใช้งานหรือประยุกต์ได้จริงใน "โลก(ไอที)จริง" แต่อย่างใด


๔) หนึ่งปีผ่านไปหุ้นควอนตัมตลาดเซี่ยงไฮ้เป็นอย่างไร ?

“ควอนตัม” เข้าตลาดหุ้นเซี่ยงไฮ้วันแรก ๙ ก.ค. เมื่อปีก่อน ได้ทุบทุกสถิติก่อนหน้าราบคาบขยับไปปิดที่ 924% แม้นักลงทุนยังไม่ทราบเลยว่าบริษัทดังกล่าวจำหน่ายสินค้าใดแน่ แต่ปรากฏว่าการเปิดตัวเข้าตลาดหุ้นของบริษัทด้านไอทีควอนตัมเป็นรายแรกของโลกนั้นกลับกลายเป็นดาวเด่น “rising star” ในทันที ทว่า หนึ่งปีต่อมากราฟได้แสดงแล้วว่าหุ้นควอนตัมตัวนี้ยังเป็นหุ้นดาวเด่นหรือล่อแมงเม่า !

(ข้อมูลเชิงลึกบริษัทควอนตัม)


บริษัทดังกล่าวได้ออกสินค้าไอทีควอนตัมมากมายหลายรุ่น ซึ่งสินค้ายักษ์ชุดใหญ่ได้เปิดตัวมาก่อนหน้าถึงสี่ปีแล้ว กระนั้น นอกจากเพื่อการเรียนการสอนและวิจัยแล้วกลับไม่ปรากฏการประยุกต์กับระบบไอทีทั่วไป โดยไม่เคยปรากฏมีผลการรีวิว (review) สินค้า หรือแม้เพียงการอยากโปรโมทขององค์กรที่จัดซื้อไปใช้ใด ๆ (หากมีการใช้งานจริง องค์กรเหล่านั้นควรประสงค์แจ้งต่อสาธารณะว่าได้ป้องกันความลับโดยสมบูรณ์แบบจากการใช้เครื่องควอนตัมเหล่านั้น เนื่องจากหากมีคุณสมบัติดีจริงตามที่อ้าง จะยิ่งสร้างมูลค่าให้กับองค์กรที่ใช้งาน และจะยิ่งได้รับความเชื่อมั่นสูงมากขึ้น แต่ ... ไม่เคยปรากฏ !)

นอกจากข่าวการชี้นำสังคมด้านควอนตัมในทางที่ผิด (quantum misleading) ด้วยการขายซิมโทรศัพท์ควอนตัม (SIM 5G) ในประเทศจีนที่ปรากฏมาพักใหญ่แล้วนั้น ในที่สุดได้มาพบข้อมูลทำนองเดียวกันจากบริษัทที่เข้าตลาดหุ้นแห่งนี้เสียเองด้วย กับรายการสินค้า QTCard หรือกุญแจควอนตัม "quantum secure encryption security" ซึ่งเป็นการนำเสนอสินค้าพ่วงการตลาดโทรศัพท์เคลื่อนที่ (แต่ไม่เกี่ยวข้องใด ๆ กับปรากฏการณ์เชิงควอนตัม) จึงเป็นเรื่องที่น่าประหลาดใจอย่างยิ่งที่เหตุคล้ายคลึงกันนั้นได้มาเกิดขึ้นกับบริษัทที่นำเข้าตลาดหุ้นเพื่อระดมทุนจากภาคสาธารณะ !

หมายเหตุ

"ควอนตัม" มิได้เกี่ยวข้องใด ๆ ทางตรงใด ๆ กับการรักษาความปลอดภัยให้กับระบบโทรศัพท์เคลื่อนที่ สถานะควอนตัมหายไปเมื่อถูกตรวจวัดจะไม่สามารถคงสถานะอยู่ในรูปซอฟท์แวร์ ซิม (SIM) หรืออยู่บนชิปไอซีที่ฝังในตัวโทรศัพท์แต่อย่างใด*


๕) อุตสาหกรรมภาพลักษณ์ควอนตัมจีน 2021 (๑๘ ก.ย.)

จนถึงช่วงท้ายปี สังคมไอทีแห่งหนึ่งในประเทศจีนยังคงเดินหน้าสร้างภาพลักษณ์ต่อไปกับกรณี “ควอนตัมขึ้นมือถือ 5G”

หลังจากโดน ประธานาธิบดีกล่าวเชิงทวงถามเมื่อปลายปีก่อนว่าลงทุนไปมากแล้วกับงานวิจัยด้านเทคโนฯควอนตัมจำเป็นต้องมีอุตสาหกรรมสร้างรายได้แต่เหตุใดถึงยังไม่ปรากฏ นักวิจัยที่เกี่ยวข้องจึงออกอาการกันถ้วนหน้า ปี ค.ศ. 2021 นี้จึงได้เกิดการจัดงานเพื่อสนองตอบต่อการทวงถามของผู้บริหารประเทศเป็นครั้งที่สองเมื่อวันที่ ๑๘​ ก.ย.๒๕๖๔ ซึ่งงานนี้มาพร้อมกับการยกคำพ่วงว่าอุตสาหกรรมเรียกความสนใจไปในตัวด้วย (Quantum Industry Conference 2021, Anhui) แต่ทว่า งานนี้ยังคงมีกิจกรรมสร้างภาพลักษณ์เป็นหลักเช่นก่อนหน้า

ทั้งนี้ ได้เกิดการโฆษณาพิลึกซ้ำเดิมอีกครั้งใหญ่ในงานดังกล่าว เมื่อบริษัทโทรคมนาคมรายใหญ่แห่งหนึ่งนำเสนอการสาธิตระบบโทรศัพท์เคลื่อนที่ 5G พร้อมซิมโทรศัพท์ (SIM) ชนิดใหม่ โดยอ้างว่าสามารถรักษาความปลอดภัยการสื่อสารได้ด้วยเทคโนโลยีควอนตัมและเปิดให้บริการไปเป็นจำนวนมากแล้ว (... has tried out the quantum encryption calls in 15 provinces since June and has garnered some 10,000 users)

"The users can have secure calls and messages encrypted with quantum keys after inserting a SIM card and installing a related app, which can ensure information security,"

จึงเป็นการตอกย้ำกระแสการสร้างภาพลักษณ์ของแขนงการสื่อสารเชิงควอนตัมในประเทศจีนอีกครั้งใหญ่ ซึ่งอาจได้กลายเป็นปัญหาใหญ่ต่อไปในอนาคตต่อด้วย


๖) หวาดเสียว - เมื่อโทรคมนาคมจีนเล่นใหญ่ !

นอกจากการนำเอาธุรกิจโทรศัพท์เคลื่อนที่ 5G ของตนเองเข้าไปพ่วงกับความขลังของคำว่าควอนตัมด้วยการเปิดตัวซิม (SIM) ควอนตัม (ที่ไม่ได้เกี่ยวอะไรกับปรากฏการณ์เชิงควอนตัม) แล้วโฆษณาไปทั่วว่ารักษาความปลอดภัยด้วยเทคโนฯควอนตัมจนถูกทักกันเองในประเทศว่าเป็นเรื่องไม่เหมาะ (misleading) ในงานเดียวกันนั้น บริษัทโทรคมนาคมใหญ่รายเดิมได้เปิดตัวความร่วมมือกับนักวิชาการควอนตัม (ของจริง) ที่เมืองหลวงควอนตัมโลก เหอเฝย์ (Hefei) อันฮุย (Anhui) ในงาน “อุตสาหกรรมควอนตัม”

จึงควรติดตามดูกันต่อว่าบริษัทยักษ์ใหญ่รายนี้ที่ยังไม่มีอะไรที่จะขายได้นอกจาก “ภาพลักษณ์ควอนตัม” นั้นจะไปต่ออย่างไร และสังคมที่ได้รับผลกระทบจากข่าววิทยาการเทคโนโลยีแปลกปลอมลักษณะที่เคยนำเสนอไปแล้วนั้นจะแก้ไขได้ด้วยแนวทางใดในอนาคต ... ความร่วมมือกับหน่วยงานวิจัยและพัฒนาด้านไอทีควอนตัมโดยตรงจากข่าวนี้อาจส่งผลดีมากขึ้นในอนาคตก็เป็นได้ ...

๗) นักข่าวคนเดิมอีกครั้งกับการสร้างกระแสควอนตัมความขลังให้ปักกิ่ง

ทั้งรหัสลับควอนตัม (QKD) ผ่านดาวเทียมควอนตัมและเส้นใยนำแสงต่างก็คือวิถีการพัฒนาแบบ “ชั่วคราว” ที่นักวิจัยต้องการพัฒนาต่อไปให้ถึงการสื่อสารควอนตัมสมบูรณ์แบบที่ยังไปไม่ถึง จึงยังคงไม่มี ไม่เคยเกิดขึ้น แต่งานวิจัยชั่วคราวดังกล่าวมักถูกอ้างให้ดูขลังว่าได้รับการประยุกต์ใช้งานจริงได้แล้ว โดยเฉพาะกับกิจกรรมที่ยิ่งใหญ่มากทั้งการดูแลความปลอดภัยให้กับโรงงาน/โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ (เกาหลีใต้ อิหร่าน) ใช้ดูแลความลับข้อมูลจีโนมหรือใช้ป้องกันความลับของตลาดหุ้น (ญี่ปุ่น) เป็นต้น โดยแนวทางการสร้างความขลังให้ข่าวจนดูน่าเกรงขามลักษณะนี้ได้กลับมามีข่าวใหญ่อีกครั้งในปี 2021 ที่ประเทศจีน โดยเจ้าของคอลัมน์ข่าวจากสำนักที่เคยสร้างข่าวความขลังควอนตัมมาหลายกรณีก่อนหน้าแล้ว ซึ่งข่าวใหม่นี้ได้ปั่นให้ QKD ขลังและอลังการมากยิ่งขึ้นไปอีกขั้นด้วยการ


ก) เน้นย้ำการใช้งานดาวเทียมควอนตัมม่อจื้อ (Mozi quantum satellite) ดูแลความปลอดภัยการสื่อสาร

ข) ประยุกต์ใช้เพื่อการดูแลความปลอดภัยโครงข่ายการจ่ายพลังงานไฟฟ้าที่ใหญ่ที่สุด

(ซึ่งมิใช่เรื่องจริงแต่อย่างใดเลยทั้งสองประเด็น ดาวเทียมวงโคจรต่ำม่อจื้อคือสนามทดลองของนักวิจัยมิได้ใช้งานจริง และ QKD คือการวิถีการกุญแจรหัสลับที่ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องใดกับเครือข่ายการส่งไฟฟ้าหรือกริด (grid) แห่งใดที่ใดบนโลกจริง)

แต่ถึงกระนั้น หากพิจารณาข้ามประเด็นด้านเทคนิคไว้ชั่วคราว เมื่อพิจารณาว่าเหตุใดจึงมีการผลิตข่าวแนวทางสร้างความขลังที่ย้อนแย้งกับ "โลกจริง" ออกมาเช่นนี้บ่อยครั้ง อาจได้พบกับหนึ่งในวาระ (propaganda) ที่ “เยี่ยมวรยุทธ" ก็เป็นได้ เนื่องจากว่าแม้จะมีความเห็นแย้งหรือตอบโต้จากผู้รับข่าวสารมากมาย แต่การนำเสนอผ่านนักข่าวคนเดิมของสำนักข่าวนี้ก็ยังคงผลิตซ้ำกับการสื่อสารชวนเชื่อแนวทางนี้ต่อเนื่องมา มิได้มีการแก้ไขหรือเปลี่ยนแปลงแนวทางแต่อย่างใด จึงอาจเป็นไปได้ว่าทั้งหมดนั้นคือยุทธศาสตร์หรือวาระ (propaganda) เดียวกันกับที่ได้พบมาแล้วจากหน่วยงานวิจัยหรือบริษัทรหัสลับควอนตัมที่ได้นำเสนอในหัวข้อก่อนหน้านั่นเอง


หากเป็นดั่งที่วิเคราะห์ จะคาดการณ์ต่อได้ว่า ปีต่อ ๆ ไป จะยังมีการนำเสนอข่าววาระใหญ่ด้านความขลังของวิทยาการรหัสลับเชิงควอนตัมจากเจ้าของคอลัมน์นี้ออกมาอีกอย่างแน่นอน !


๘) เมื่อรางวัลควอนตัม “ม่อจื้อ” ทางตัน ?

ดั่งคาดการณ์ การสร้างภาพลักษณ์ให้กับตัวรางวัลควอนตัม 'ม่อจื้อ' ด้วยการเชิญผู้มีชื่อเสียงต่างชาติมารับรางวัลจนเกือบหมดบุคลากรแถวหน้าของวงการแล้วในเวลาเพียงสามปี 2018 (quantum computing) 2019 (quantum cryptography) และ 2020 (quantum sensor) หากเป็นจริง ปี ค.ศ. 2021 จะมีการเชิญนักวิจัยแถวสองหรือบุคลากรในทีมเดิมของทั้งสามปีก่อนหน้ามารับรางวัลแทน ความขลังของรางวัลนี้จะทยอยลดลง หรืออาจไม่สามารถค้นหาเพื่อนำเสนอผู้ที่จะเชิญมารับรางวัลต่อได้ ซึ่งในที่สุดเมื่อสิ้นสุดปี ค.ศ. 2021 นี้ ไม่ปรากฏว่ามีการประกาศผลผู้ได้รับรางวัลแต่อย่างใด ...


(Updated: ในที่สุด เลื่อนไปประกาศในปี 2022 ๒ มี.ค. ๖๕ และบีบสาขาเล็กย่อยลงกับงานวิจัยเฉพาะด้านต่างจากสามปีแรกที่เป็นแถวหน้าของทั้งสามวงการ)


อนึ่ง ควอนตัมม่อจื้อนี้ คือหนึ่งในความพยายามของประเทศจีนที่ทำจริงจังแข่งขันทุกทางกับชาติตะวันตก เป็นอีกหนึ่งยุทธศาสตร์แนวทางการพัฒนาของประเทศจีนที่ถึงอย่างไรยังคงมีประโยชน์ต่อทั้งวงการและตัวผู้รับรางวัลนั้นด้วยแน่นอน แม้ความขลังจะลดลงและเส้นทางข้างหน้าจะลำบากมากขึ้น เนื่องจากถูกรายล้อมไปด้วยรางวัลอื่นที่ใหญ่กว่า (งบรางวัลสูงกว่า) และขลังมากกว่า และการบีบตนเองด้วยขอบเขตสาขาของรางวัลที่แคบมาก ... จึงควรติดตามและเอาใจช่วย รวมทั้งตามศึกษาวิถีการปรับตัวด้านการสร้างภาพลักษณ์วิทยาศาสตร์ของประเทศจีนผ่านรางวัลม่อจื้อนี้กันต่อไป


๙) ไม่ใช่แค่วัคซีที่จีนกำลังดัง “คอมพิวเตอร์ควอนตัม” ก็ทำได้เช่นกัน ...

นอกเหนือจากงบลงทุน ผลงานวิจัยตีพิมพ์ และสิทธิบัตรที่มีความก้าวหน้าสูงยิ่งขึ้นในแต่ละปี อุตสาหกรรมด้านการคำนวณเชิงควอนตัมของประเทศจีนเป็นอีกหนึ่งความก้าวหน้าที่มาถึงแล้วในปีนี้ โดยมาพร้อมกับต้นแบบเครื่องคำนวณควอนตัมของบริษัท Origin Quantum ที่ได้เปิดให้ใช้ผ่านคลาวด์ได้แล้วด้วย และมีกว่าร้อยบริษัทเข้าร่วมทดสอบใช้งาน บริษัทคอมพิวเตอร์ควอนตัมนี้ก่อตั้งโดยทีมงานของ Prof.Guo Guangcan หรือศาสตราจารย์คนดังจากมหาวิทยาลัย USTC บุคคลแห่งปีไอทีควอนตัม ๒๕๖๔ โดยสามารถระดมทุนเทียบเคียงกับบริษัท IBM และ Google เลยทีเดียว และเป็นแนวทางการใช้ชิปตัวนำยวดยิ่งเช่นเดียวกัน


๑) บริษัท Qrigin Quantum ก่อตั้งขึ้นเมื่อ ค.ศ. 2017 ชื่อก่อนหน้าคือ “Benyuan” หรือ “YuanYuan quantum”

๒) ก่อตั้งโดยปราชญ์ Prof.Guo Guangcan ผู้เดียวกับที่ Q-Thai forum ขอรับการถ่ายทอดเทคโนโลยี

๓) เป็นการระดมทุนจากอุตสาหกรรม มิใช่เงินป้อนสนับสนุนจากรัฐบาลปักกิ่งเช่นกรณีงานด้านรหัสลับควอนตัมก่อนหน้า

๔) บริษัทนี้ทำครบเพื่อแข่งจริงกับยักษ์ใหญ่ไอทีสหรัฐ

(a full-stack quantum computing company... Its key rivals are Google, IBM and Rigetti Computing, a Berkeley-based startup)

๕) เพียงแค่สองปี (2020) สามารถสร้างคอมพิวเตอร์ควอนตัมแบบตัวนำยวดยิ่ง (superconducting quantum computer - “Wu Yuan”) ด้วยชิป KF C6-130, a 6-qubit superconducting quantum processor ซึ่งเทียบเท่ากับของ IBM เมื่อสามปีก่อนหน้า (2017) ได้แล้ว

๖) จากชิปรุ่นแรก 2-qubit quantum processor, dubbed XW B2-100 กำลังก้าวหน้าไปสู่ 24-qubit computer (debugging stage) และ 64-qubit ต่อไป

๗) กว่าร้อยบริษัทลงชื่อขอใช้งานผ่านคลาวด์ (cloud) แล้ว

๘) ประเมินได้ว่า สถานะอยู่ในระดับสามปีที่ตามหลังห่างจากบริษัท IBM และสองปีห่างจากบริษัท Intel