top of page
QICTechFACTcheckLoGoWhite-2021.jpg

EP1/9 |“เข้าใจ”ควอนตัมกันอย่างไร ? | บทนำ

เปิดประตูการเรียนรู้ให้เหมาะตรง ความงุนงงต่อเรื่องราวร้อยปีของกลศาสตร์ควอนตัมที่นำโลกมาถึงยุคไอทีใหม่อันมีทั้งคอมพิวเตอร์ รหัสลับ การส่งถ่ายหรือเทเลพอร์ทเชิงควอนตัม ฯ จะไม่ยากเกินไปนัก พลันรู้จักและเข้าใจเรื่องราวของควอนตัมเหล่านั้นสะดวกขึ้น เมื่อได้เริ่ม “คุ้นเคย
คำทักทาย
ชุดการเรียนรู้เรื่องราวเกี่ยวกับคำว่า “ควอนตัม” นี้
สำหรับผู้ประสงค์จะทำความเข้าใจในอีกทางเลือกหนึ่ง
โดยไม่จำเป็นต้องมีความรู้พื้นฐานด้านฟิสิกส์ คณิตศาสตร์
วิทยาศาสตร์ หรือศาสตร์ข้นเข้มอื่นใดมากมายนัก
(และมิได้เกี่ยวข้องกับไสยศาสตร์แขนงใด)

หากด้วยต้องการจะซึมซับผ่านการบอกเล่าประสบการณ์
ผลจากการทดลองทางวิทยาศาสตร์อันพอจะเข้าถึงได้
รวมไปถึงผลสกัดจากองค์ความรู้และข่าวสารสารพัน
ที่ได้รวบรวม กลั่นกรอง แล้วจัดเรียงมาถ่ายทอดต่อ

ประสงค์ให้ร่วมเป็นส่วนหนึ่งในสังคมการเรียนรู้วิทยาศาสตร์ไทย
ช่วยทำให้เรื่องที่คิดว่ายากมากมายนั้นได้ง่ายเบาคลายลง

กระนั้น ฉบับการเรียนรู้แรกนี้อาจไม่เหมาะสำหรับ
นักวิชาการสายอนุรักษ์นิยมหรือแนวผสมจินตนาการ !
สำเนาจาก “เข้าใจ”ควอนตัมกันอย่างไร ?
ภาค ๑ - ความคุ้นเคย - ISBN : 978-616-572-644-3

สงวนลิขสิทธิ์ © พ.ศ. ๒๕๖๓ - copyright

(เพื่อการศึกษาสาธารณะเท่านั้น)

 
บทนำ
การที่มนุษย์จะทำความเข้าใจสิ่งที่แวดล้อมอยู่ทั่วไปได้ โดยพื้นฐานแล้วจะมากับการรับรู้ไม่ว่าทางใดทางหนึ่ง หลายทาง หรือรวมทุกทางทั้งหมดของ รูป รส กลิ่น เสียง และกายสัมผัส ซึ่งจะส่งการรับรู้นั้นผ่านมาจากตัวตรวจจับหรือเซนเซอร์ที่มีชีวิตนั่นก็คืออวัยวะของมนุษย์เอง ทั้งที่ตา ลิ้น จมูก หู และผิวกาย อันรวมเป็นระบบประสาทสัมผัสขั้นพื้นฐานทั่วไปทั้งห้า ความเข้าใจต่อสิ่งรอบตัวจึงเกิดขึ้นได้ในที่สุด

ความสงสัยหรือคำถามควรเริ่มตามมาให้คิดต่อว่า แม้ร่างกายมนุษย์จะมีสัมผัสทั้งห้าอย่างเหมือนกัน แต่การใช้รับรู้สิ่งแวดล้อมเดียวกันกลับตีความให้เกิดความเข้าใจได้ไม่เหมือนกัน เช่น ดาราคู่ขวัญ ณเดชน์-ญาญ่า เมื่อ “มอง”แล้วอาจประทับใจว่าหล่อและสวยที่สุดแห่งปีสำหรับแฟนคลับผู้ติดตาม แต่ก็อาจมีผู้ที่เห็นว่าพระนางคู่อื่นเด่นกว่าก็เป็นได้ หลายกรณียกยอว่าทุเรียนราชินีแห่งผลไม้นั้น “หอมและเอร็ดอร่อย” แต่คนที่รับไม่ไหวอาจถึงกับส่ายหน้าหนี จึงเป็นตัวอย่างของการตีความว่าต่างคนก็ต่างการรับรู้ แม้ว่าจะใช้ระบบประสาทลักษณะเดียวกันอาจรับรู้ได้ไม่เหมือนกัน ทั้งที่มองเห็นภาพเดียวกันหรือได้ดมดอมและลิ้มชิมรสวัตถุเดียวกัน ความเข้าใจยังคงแตกต่างกันได้

ต่อด้วยตัวอย่างเรื่อง “เสียง” อาทิ กรณีที่ชมชอบเพลงขนมเสี่ยงทายว่าไพเราะและจังหวะสนุกจังเลย ผู้สูงอายุบางคนอาจฟังไม่ออกว่าเนื้อหาร้องว่าอะไร แล้วหันไปเปิดเพลงช้าที่ชอบยุคสุเทพ วงศ์กำแหง ฟังจากตลับเทปเก่าแทน ... กายสัมผัสก็เช่นกัน สิ่งบางอย่างหากมีโอกาสไป “แตะสัมผัส” เอ๊ะ ! มันช่างนุ่มน่าจับชวนลูบไล้ดีแท้ แต่คงมีแน่คนที่จะบอกว่ามันแข็ง ช่างหยาบกระด้างอะไรปานนั้นหนอ การรับรู้สู่การพิสมัยต่างคนจึงต่างระดับกันเป็นปกติ เป็นต้น

ดังนั้น เมื่อมนุษย์มีประสาทสัมผัสทั้งห้าเคียงกันแต่การตีความเข้าใจสิ่งแวดล้อมอาจได้ผลไม่เหมือนกัน จึงนำมาสู่คำถามให้คิดต่ออีกว่าแล้วเรื่องของคำว่าควอนตัมล่ะ ทั้งเล็กจัด มองไม่เห็น สูดไม่ได้กลิ่น ไม่ได้ยินเสียง อีกทั้งไม่มีโอกาสรับรู้รส แตะต้องหาได้รู้สึกไม่ เรา ๆ ท่าน ๆ จะเข้าใจกันอย่างไร และหากมีใครคิดว่าตนเองเข้าใจคำนี้ได้แล้ว ความเข้าใจที่ว่านั้นเหมือนกับของคนอื่น ๆ ไหม ?

แม้คำว่า “ควอนตัม” กำเนิดขึ้นบนโลกมานับร้อยปีก่อนหน้าแล้ว ศาสตร์ด้านนี้มาถึงเมืองไทยเกินสี่สิบปี อีกทั้งโลกกำลังเคลื่อนเข้าสู่ยุคไอทีควอนตัมที่มีคอมพิวเตอร์ การสื่อสารรหัสลับ และการส่งถ่ายเชิงควอนตัมอันน่าตื่นตะลึงกำลังมาถึง แต่ยังคงปรากฏคำถามอันเป็นปกติในสังคมทั่วไปบ่อยว่า “ควอนตัมคืออะไร ?” แบบที่ผู้ถามอาจรู้สึกหัวเสียหนักขึ้นตามเวลาที่ผ่านไปเพราะยังไม่มีใครนำพาความเข้าใจมาส่งมอบให้ประสาทสัมผัสทั้งห้าของตนเองได้ถูกใจ เหตุแห่งความไม่เข้าใจนี้ระบาดไปทั่ว ยิ่งมีข่าวดาวเทียมควอนตัมของประเทศจีนถูกส่งขึ้นทำงานบนท้องฟ้าระดับวงโคจรต่ำตั้งแต่เมื่อปี พ.ศ. 2559 อีกทั้งคอมพิวเตอร์พันธุ์ใหม่ที่มีชื่อควอนตัมแปะติดมาพร้อมศักยภาพให้ผลลัพธ์เฉพาะจากความเร็วที่สูงกว่าคอมพิวเตอร์ใดในโลก โดยข่าวมีมาจากทั้งบริษัทไอบีเอ็ม กูเกิล ไมโครซอฟท์ และยักษ์ใหญ่ไอทีอีกหลายเจ้าเดิมของโลกที่คุ้นเคย จึงเชื่อกันอย่างมั่นใจไปแล้วแม้ยังไม่ทราบว่าทำงานได้อย่างไร และยิ่งอาจเกิดความหงุดหงิดใจกันมากขึ้นเมื่อข่าวสารไหลเข้ามาในชีวิตประจำวันบ่อยถี่ขึ้นหากยังคงเข้าใจเรื่องราวพ่วงคำควอนตัมนั้นไม่ได้สักที !

โดยเฉพาะกับการเอื้อนถามมาจากสองกลุ่มคนสำคัญจนเป็นแรงผลักดันสู่การจัดทำบันทึกชุดนี้ กลุ่มแรกมาจากกรณีข้อเสนอโครงการวิจัยและพัฒนา เอกสารขอความร่วมมือ โครงการขอรับการสนับสนุน ขอเชิญร่วมโครงการ ฯลฯ รวมทั้งหลายกว่าพันรายการในช่วงสิบกว่าปีก่อนหน้า กลั่นคำถามจากคณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิสารพันสาขา กลุ่มผู้กำกับนโยบายด้านการศึกษาการวิจัยและพัฒนา รวมทั้งด้านนโยบายวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของประเทศได้ออกมาทำนองเดียวกันว่า
คุณมีเวลาแค่ห้านาที ถ้าอธิบายให้เข้าใจไม่ได้ว่าควอนตัมคืออะไร คุณหมดสิทธิ์ !
ส่วนคำถามที่สองมาจากสังคมวัยรุ่นกลุ่มคนรุ่นใหม่ ว่ายังมีเวลาน้อยยังไม่อยากศึกษาลงลึก ไม่อยากฟังนาน พร้อมเมื่อไหร่จะกลับมาอ่านใหม่ เพราะกำลังตื่นตะลึงจากข่าวไอทียุคใหม่ยังไม่เข้าใจจึงรีบมาถามก่อน ดังนั้น ขอสั้น ๆ นะ ช่วยเขียนมาให้อ่านก่อนว่าควอนตัมคืออะไร
แต่อย่าเกินแปดบรรทัด
แม้สารพัดวิถีทางการตอบในรอบสิบกว่าปีที่ได้อธิบาย สาธยาย บรรยาย (จนหูตาลาย) อย่างไรก็วนกลับมาที่เดิมคือ “ไม่เข้าใจ” ... พ่วงด้วยความหงุดหงิดจากผู้อาวุโสที่ประสงค์จะนำเรื่องนี้ไปออกข่าวทั่วเมืองไทย เพื่อสร้างข่าวกระแสภาพลักษณ์ตนหรือหน่วยงานให้ดูขลังแต่ยังคงไม่เข้าใจจริงจัง

ส่วนการจะผลักดันให้ท่านทั้งหลายไปเข้าชั้นเรียนวิชากลศาสตร์ควอนตัมกับนักศึกษาสาขาฟิสิกส์ผู้ที่มีปณิธานแรงกล้าจะยิ่งไปกันใหญ่ มิใช่หนทางที่เหมาะสำหรับคนส่วนใหญ่แน่ แม้กับคนในสาขาหลักนี้เองเมื่อรวมจำนวนผู้สำเร็จการศึกษาสายตรงทั่วประเทศแล้วหลงเหลือความตั้งใจพาชีวิตไปต่อกับวิทยาการด้านนี้ ปรากฏว่ามีน้อยกว่าจำนวนนายพลทหารหลายเท่าตัวนัก จึงมิใช่หนทางสร้างกองกำลังปฏิวัติการเรียนรู้เพื่อเมืองไทยได้แน่

ชุดการเรียนรู้ภาค ๑ ที่จะเริ่มด้วยการสร้างความคุ้นเคยเพื่อนำไปสู่ความเข้าใจทางอ้อมต่อคำสั้นสองพยางค์นี้ สรุปมาจากการบรรยาย ผลการตอบคำถามที่ทั้งงง ขำ (ไม่ออก) ทึ่ง ตะลึง และแปลกใจ รวมเกร็ดสำคัญอันมาจากห้องประชุมผู้ทรงคุณวุฒิผู้พิจารณาโครงการวิจัยและพัฒนาระดับประเทศจำนวนครั้งเกือบหนึ่งโหลที่ยังคงเงียบหายไป ร่วมกับปัญหาถามตอบที่ได้สนทนาบนโลกออนไลน์ตลอดช่วงกว่าทศวรรษที่ผ่านมา นำมาจัดเรียงเป็นเจ็ดบทขั้นบันไดเพื่อไต่ไปสู่ความเข้าใจ โดยก่อนมาเป็นบันทึกภาคแรกนี้ได้ทยอยจัดทำเป็นวีดีโอหลายหัวข้อโยนหินถามทางพักใหญ่ในยูทิวบ์ ซึ่งก็กลับมาทั้งดอกไม้ของความพอใจของผู้เข้าถึงได้มากขึ้น รวมทั้งเด้งก้อนหินนั้นกลับมาด้วยความไม่พอใจเช่นกันเพราะยังคงหัวเสียไม่เข้าใจอยู่เช่นเดิม ทั้งหมดได้นำมาปรับปรุงเป็นตัวหนังสือฉบับปฐมบทนี้อันจะตามต่อ ๆ มากับภาคหัวเรื่องการสร้างอุปกรณ์เครื่องมือทดลอง การถ่ายทอดประสบการณ์ของผู้ที่มีโอกาสไปใกล้เคียงกับปรากฏการณ์ต่าง ๆ มาจากการทดลองทั่วโลก และรวมเรื่องแปลกควอนตัมหลอกลวงอื่น ๆ ต่อเนื่องไป เพื่อให้แนวทางอ้อมเหล่านั้นได้เร่งส่งมอบความเข้าใจแด่สังคมได้มากขึ้น อันเป็นเป้าหมายที่ตั้งใจไว้ก่อนที่เมืองไทยจะสายมากเกินไปอีกกับยุคสารสนเทศหรือไอทีเชิงควอนตัม ... อนาคตที่กำลังมาถึง

เกียรติศักดิ์ ศรีพิมานวัฒน์
(OQC academy)
 

|“เข้าใจ”ควอนตัมกันอย่างไร ? | ภาค ๑ - ความคุ้นเคย | EP1-9 |


 

๐ (คอลัมน์แนะนำ) ควอนตัมกับสิ่ง “มีชีวิต”vs“ไม่มีชีวิต” | Quantum Biology ๐

ชีววิทยาเชิงควอนตัม (Quantum Biology)

หมายถึงควอนตัมของ “ส่ิงมีชีวิต” แน่แท้หรือ ?



  • Facebook page
bottom of page