ศาสตราจารย์ อันตอน ไซลิงเงอร์ ฉลองวันเกิดครบรอบ 80 ปี | Anton Zeilinger - Nobel 2022 | (ข่าวแปล) โดย อุมา ตราชู
- Q-Thai Admin
- 2 วันที่ผ่านมา
- ยาว 2 นาที
อันตอน ไซลิงเงอร์ (Anton Zeilinger): นักวิทยาศาสตร์ชื่อดังที่สุดของออสเตรีย ครบรอบ 80 ปี
20 พฤษภาคม 2025

นักฟิสิกส์ควอนตัมผู้มีบทบาทสำคัญในการวางรากฐานของศาสตร์แขนงนี้และได้รับรางวัลโนเบล
“เราต้องเชื่อในความเพ้อฝันของตนเองสักหน่อย”
– คติประจำใจนี้ทำให้ศาสตราจารย์อันตอน ไซลิงเงอร์ (Anton Zeilinger) ไปถึงจุดสูงสุดในอาชีพของตน: ปี 2022 ท่านได้รับรางวัลโนเบลสาขาฟิสิกส์ ผลงานต่างๆ ของท่านจะเกิดขึ้นไม่ได้เลย หากปราศจากเสรีภาพในการ “ทำสิ่งที่ไม่ใช่กระแสหลัก” นักฟิสิกส์ควอนตัมผู้ซึ่งฉลองวันเกิดครบ 80 ปีในวันอังคาร (20 พ.ค.68) นี้ได้กล่าวไว้ ปัจจุบันฟิสิกส์ควอนตัมเริ่มเข้าถึงผู้คนมากขึ้นโดยในปีค.ศ.2025 นี้ได้รับการประกาศให้เป็น “ปีแห่งวิทยาศาสตร์ควอนตัมสากล”
ศาสตราจารย์ไซลิงเงอร์ (Zeilinger) กล่าวเน้นถึงความเชื่อมั่นในความเพ้อฝันของท่าน และการไม่ตามแนวทางกระแสหลักในงานแถลงข่าวหลังได้รับรางวัลโนเบล ซึ่งท่านได้รับร่วมกับนักฟิสิกส์ชาวฝรั่งเศสศาสตราจารย์อาลอง แอสเปต์ (Alain Aspect) และชาวอเมริกัน ดร.จอห์น เคลาเซอร์ (John Clauser) จากผลงาน “การทดลองกับโฟตอนที่พัวพันกัน การพิสูจน์การละเมิดอสมการของเบลล์และวิทยาศาสตร์สารสนเทศควอนตัมแนวบุกเบิก” และนักฟิสิกส์ผู้นี้ก็ไม่ลืมที่จะขอบคุณ “ผู้เสียภาษีชาวออสเตรีย” ที่ทำให้การวิจัยของท่านเกิดขึ้นได้
การวิจัยที่สุดขอบแห่งความรู้
ศาสตราจารย์ไซลิงเงอร์มุ่งมั่นวิจัยในพื้นที่นอกสุดขอบของความรู้ในปัจจุบัน และสร้างการค้นพบใหม่ที่มีบทบาทสำคัญในการวางรากฐานของฟิสิกส์ควอนตัม แม้การวิจัยล่าสุดที่ท่านให้สัมภาษณ์เนื่องในวันเกิดกับสำนักข่าว APA (Austria Presse Agentur) ก็อาจทำให้บางคนส่ายหัวด้วยความไม่เข้าใจ
จากคำถามที่ว่า ทำไมฟิสิกส์ควอนตัมจึงมีอยู่? ท่านเชื่อมโยงจากความไม่สามารถในการอธิบายความเป็นจริงของฟิสิกส์ควอนตัม ไปจนถึงตรรกะและภาษา ซึ่งท่านเชื่อว่าในเรื่องเหล่านี้มีโครงสร้างที่ถูกทำให้เป็นควอนตัม (quantized) อยู่ ท่านไม่ปฏิเสธว่าความคิดเหล่านี้มีลักษณะเป็นปรัชญา “ฟิสิกส์ที่ดีทุกแขนงหลีกเลี่ยงปรัชญาไม่ได้” ท่านกล่าว ใครจะไปรู้ว่าความเพ้อฝันเหล่านี้จะพาไปถึงไหน
จากดาไล ลามะ จนถึงงานแสดงศิลปะดอคูเมนทา (Documenta)
ด้วยลักษณะภายนอกที่เป็นเอกลักษณ์ คือ หนวดเคราสีเทาและผมหยิกฟู ทำให้ศาสตราจารย์ไซลิงเงอร์กลายเป็นที่รักของสาธารณชนและได้รับฉายาว่า “Mr. Beam”, “สันตะปาปาแห่งควอนตัม”, หรือ “ซูเปอร์สตาร์แห่งวิทยาศาสตร์” ความนิยมของท่านเกิดจากการที่ท่านไม่เคยลังเลที่จะออกจากหอคอยงาช้าง ท่านเคยอธิบายเกี่ยวกับโลก (ควอนตัม) ให้ท่านดาไล ลามะ ฟัง ถกปรัชญาชีวิตกับเจ้าของรางวัลโนเบลท่านอื่นๆ และนำเสนอหลักการพื้นฐานในศาสตร์สาขาของตนกลางงานแสดงศิลปะดอคูเมนทา (Documenta) ที่เมืองคัสเซิล (Kassel)
“ใครที่สนใจวิทยาศาสตร์จะมีชีวิตที่น่าสนใจแน่นอน” ท่านกล่าวเมื่อปีที่แล้ว ระหว่างการเปิดตัวหนังสือ PIXI สำหรับเด็กนักเรียน ซึ่งท่านเป็นตัวละครหลักในหนังสือนี้
ท่านเกิดเมื่อวันที่ 20 พฤษภาคม ค.ศ.1945 ที่เมือง Ried im Innkreis (ในจังหวัดอัปเปอร์ออสเตรีย) ตอนเรียนชั้นมัธยมในเขต Hietzing กรุงเวียนนา ท่านเป็น “คนนอกสายตา” แต่โชคดีที่ได้พบเพื่อนที่มีความสนใจแปลกๆ เช่นเดียวกัน และได้รับแรงบันดาลใจจากครูคนหนึ่งให้เรียนฟิสิกส์ ท่านเริ่มเรียนในมหาวิทยาลัยเวียนนาเมื่อปี 1963 แต่กลับไม่มีวิชาที่บรรยายเกี่ยวกับฟิสิกส์ควอนตัมเลย
คณิตศาสตร์ที่ดีงามอย่างไม่น่าเชื่อ
ท่านต้องเรียนฟิสิกส์ควอนตัมจากหนังสือด้วยตัวเอง “และมันทำให้ผมหลงใหลทันที เพราะฟิสิกส์ควอนตัมมีคณิตศาสตร์ที่ดีงามอย่างไม่น่าเชื่อ” ท่านกล่าว ท่านยังรู้สึกตื่นเต้นกับสิ่งที่ไม่ได้อยู่ในหนังสือด้วย “เมื่อถามถึงความหมายของกลศาสตร์ควอนตัมตามแนวการตีความ คุณจะรู้สึกได้เลยว่าต้องมีบางอย่างที่น่าสนใจซ่อนอยู่”
ท่านโชคดีมากที่ได้ทำปริญญาเอกกับศาสตราจารย์เฮลมุท เราค์ (Helmut Rauch, 1939–2019) บิดาแห่งทัศนศาสตร์เชิงควอนตัม (quantum optics) ของออสเตรีย ตอนแรกศาสตราจารย์ไซลิงเงอร์ทำงานกับโฟตอนตามแนวทางดั้งเดิม แต่ศาสตราจารย์เราค์ (Rauch) แสดงให้เห็นว่าไม่เพียงแค่อนุภาคแสงเท่านั้นที่มีคุณสมบัติเป็นคลื่น - อนุภาคมวลมาก เช่น นิวตรอน ก็มีเช่นกัน ซึ่งสอดคล้องกับข้อสันนิษฐานของทางฟิสิกส์ควอนตัม เส้นทางด้านฟิสิกส์ควอนตัมต่อจากนั้นของศาสตราจารย์ไซลิงเงอร์จึงชัดเจน
หลังจบปริญญาเอกในปี 1971 ท่านทำงานเป็นผู้ช่วยของศาสตราจารย์เราค์ ในช่วงนี้ท่านได้ไปทำงานวิจัยในต่างประเทศ เช่น ที่ Massachusetts Institute of Technology (MIT) กับศาสตราจารย์คลิฟฟอร์ด ชัลล์ (Clifford Shull) ผู้ได้รับรางวัลโนเบลในเวลาต่อมา และได้ถกประเด็นสำคัญกับนักฟิสิกส์ชาวอเมริกันศาสตราจารย์แดเนียล กรีนเบอร์เกอร์ (Daniel Greenberger) และดร.ไมเคิล ฮอร์น (Michael Horne) เกี่ยวกับปรากฏการณ์ของ "การพัวพันเชิงควอนตัม"
การพัวพัน: เครื่องมืออันทรงพลัง
ในสภาวะทางควอนตัมนี้ อนุภาคสองอนุภาคจะยังคงพัวพันกันอย่างเหนียวแน่นไม่ว่าจะอยู่ห่างกันเท่าใดก็ตาม และจะเห็นได้ว่าการเปลี่ยนแปลงของอนุภาคหนึ่งจะส่งผลต่ออีกอนุภาคหนึ่งทันที ศาสตราจารย์ไซลิงเงอร์ได้นำปรากฏการณ์นี้มาใช้เป็นเครื่องมืออันทรงพลังทั้งในงานวิจัยพื้นฐานและในการประยุกต์ใช้งาน
ท่านและเพื่อนนักฟิสิกส์ศาสตราจารย์กรีนเบอร์เกอร์ (Greenberger) และ ดร.ฮอร์น (Horne) ได้อธิบายสถานะพัวพันแบบพิเศษของอนุภาคสามในปี 1986 (“สถานะ GHZ”) งานวิจัยนี้ได้รับการยกย่องในวงการฟิสิกส์ว่าเป็นหนึ่งในผลงานที่สำคัญที่สุดของพวกท่าน โดยต้องใช้เวลาจนถึงปี 1998 จึงสามารถสร้างสถานะนี้ในเชิงทดลองได้ ซึ่งเส้นทางสู่ความสำเร็จนี้อุดมไปด้วยความรู้ทางวิทยาศาสตร์
รากฐานฟิสิกส์ควอนตัมของออสเตรีย
ในปี 1983 ศาสตราจารย์ไซลิงเงอร์เป็นผู้ช่วยที่มหาวิทยาลัยเทคนิคแห่งเวียนนา (TU Wien) และในปี 1988 ได้ดำรงตำแหน่งอาจารย์รับเชิญที่มหาวิทยาลัยเทคนิคแห่งมิวนิก (TU Munich) จนกระทั่งปี 1990 ท่านได้รับการแต่งตั้งเป็นศาสตราจารย์ที่มหาวิทยาลัยอินส์บรุค และได้วางรากฐานฟิสิกส์ควอนตัมของออสเตรียซึ่งปัจจุบันเป็นผู้นำระดับโลกในสาขานี้
ปี 1999 ท่านย้ายไปที่มหาวิทยาลัยเวียนนา ดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการสถาบันฟิสิกส์เชิงปฏิบัติ และทำงานจนเกษียณในปี 2013 โดยในปี 2003 ท่านกับนักฟิสิกส์ในมหาวิทยาลัยอินส์บรุคได้ร่วมกันก่อตั้งสถาบันทัศนศาสตร์เชิงควอนตัมและสารสนเทศเชิงควอนตัม (IQOQI) ที่สถาบันการศึกษาวิทยาศาสตร์แห่งออสเตรีย (ÖAW) ซึ่งท่านเป็นประธานตั้งแต่ปี 2013 ถึงปี 2022
นักทดลองผู้มีพรสวรรค์
ในแวดวงผู้เชี่ยวชาญศาสตราจารย์อันตอน ไซลิงเงอร์ ได้รับการยกย่องว่าเป็นนักทดลองผู้มีพรสวรรค์ การทดลองอันแยบยลของเขาทำให้พบความเชื่อมโยงใหม่ ๆ และสามารถยืนยันหรือหักล้างทฤษฎีที่มีอยู่ได้ ด้วยความแม่นยำทางเทคนิคและวิสัยทัศน์ทางปัญญา เขาได้ทุ่มเทให้กับคำถามพื้นฐานทางฟิสิกส์ควอนตัมอย่างต่อเนื่อง
การพิเคราะห์พิจารณ์เหล่านี้นำไปสู่ผลลัพธ์มากมายที่สร้างความฮือฮาในระดับนานาชาติ หนึ่งในนั้นคือการทดลองที่มีชื่อเสียงที่สุดของศาสตราจารย์ไซลิงเงอร์ในระหว่างที่มุ่งสู่การทำให้ "สถานะ GHZ" เกิดขึ้นจริง: ในปี 1997 ท่านประสบความสำเร็จเป็นครั้งแรกในการเคลื่อนย้าย (teleportation) อนุภาคแสง แม้ว่าในกรณีนี้จะไม่ใช่การส่งสสารทางไกลเหมือนใน "Star Trek" แต่เป็นการถ่ายโอนข้อมูลที่แม่นยำ ทว่า การทดลองดังกล่าวก็ยังถูกเปรียบกับ "การฉายแสง" (beaming)
ท่านจึงได้รับความสนใจจากสาธารณชนอย่างไม่ต้องสงสัย และท่านเองก็สนองต่อความสนใจนี้ด้วยงานเผยแพร่ความรู้ที่หลากหลาย ซึ่งทำให้สโมสรผู้สื่อข่าวด้านการศึกษาและวิทยาศาสตร์มอบรางวัล "นักวิทยาศาสตร์แห่งปี" ให้กับท่านในปี 1996 มีผู้เคยกล่าวถึงท่านว่า "เขาสามารถทำให้เราตื่นเต้นตามได้ เพราะเขาเองก็ตื่นเต้นกับสิ่งนั้น"
คำถามเกี่ยวกับศักยภาพในการประยุกต์ใช้เป็นเรื่องน่าชัง
แม้ว่าท่านจะไม่ชอบแนวโน้มที่เพิ่มขึ้นในการตั้งคำถามเกี่ยวกับศักยภาพในการประยุกต์ใช้ของงานวิจัย และท่านเองก็สนับสนุน “การเปิดกว้างต่อคำถามพื้นฐานอย่างแท้จริง” แต่ศาสตราจารย์ไซลิงเงอร์และทีมของท่านก็ทราบดีว่าปรากฏการณ์เชิงควอนตัมนั้นสามารถนำมาใช้ได้ เช่น การเข้ารหัสลับเชิงควอนตัม (Quantum Cryptography) ซึ่งใช้อนุภาคที่พัวพันกัน (entangled particles) ในการส่งผ่านกุญแจเข้ารหัสลับที่ปลอดภัยจากการดักฟัง
ในปี 1999 ศาสตราจารย์ไซลิงเงอร์แสดงให้เห็นเป็นครั้งแรกว่าสิ่งที่กล่าวมานั้นเป็นไปได้ ห้าปีต่อมา ท่านสาธิตการโอนเงินโดยใช้การเข้ารหัสลับเชิงควอนตัมเป็นครั้งแรกในโลก ด้วยวิสัยทัศน์เกี่ยวกับ "อินเทอร์เน็ตควอนตัม" (Quantum Internet) ศาสตราจารย์ไซลิงเงอร์และทีมของท่านได้ผลักดันขีดจำกัดของการพัวพันและการเคลื่อนย้ายเชิงควอนตัม (Teleportation) เพิ่มขึ้นไปเรื่อย ๆ จนกระทั่งสามารถส่งข้อมูลระหว่างเกาะสองเกาะในหมู่เกาะคานารี (Canary Islands) ได้สำเร็จ
ศาสตราจารย์ไซลิงเงอร์ต้องการไปให้ไกลยิ่งกว่านั้น ท่านจึงพยายามผลักดัน (แม้จะไม่ประสบผลสำเร็จ) ให้มีดาวเทียมสื่อสารควอนตัมระดับภูมิภาคยุโรป แต่สุดท้ายก็เป็นประเทศจีนที่ลงมือสร้าง และในปี 2016 ได้ปล่อยดาวเทียมภายใต้ชื่อ “Micius” (ม่อจื๊อ) ขึ้นสู่อวกาศ นักฟิสิกส์ชาวเวียนนาผู้นี้ (ศาสตราจารย์ไซลิงเงอร์) ก็เป็นพันธมิตรร่วมโครงการด้วย – เพราะหัวหน้าโครงการของจีน ดร.พาน เจียนเว่ย (Pan Jian-Wei) เคยทำปริญญาเอกภายใต้การดูแลของศาสตราจารย์ไซลิงเงอร์นั่นเอง
วิดีโอคอลโดยใช้การเข้ารหัสลับเชิงควอนตัมครั้งแรกของโลก
ในปี 2017 ศาสตราจารย์ไซลิงเงอร์ในฐานะประธานสถาบันวิทยาศาสตร์แห่งออสเตรีย (ÖAW) ได้ทำการวิดีโอคอลผ่านดาวเทียม “Micius” (ม่อจื๊อ) โดยใช้การเข้ารหัสลับเชิงควอนตัมเป็นครั้งแรกของโลกกับคู่เจรจาชาวจีนของท่าน ศาสตราจารย์ไซลิงเงอร์ ซึ่งเป็นหนึ่งในนักวิจัยที่ถูกอ้างอิงผลงานมากที่สุดและทรงอิทธิพลที่สุดของออสเตรียมาเป็นเวลาหลายปี ได้รับความสนใจจากทั่วโลกอีกครั้งจากปฏิบัติการครั้งนี้
ศาสตราจารย์ไซลิงเงอร์เคยยอมรับด้วยตัวเองว่า อำนาจและขอบเขตไม่เคยมีความหมายสำหรับท่านแม้ในสมัยที่ยังเป็นนักเรียน ท่านไม่เคยลังเลที่จะแสดงความคิดเห็นต่อประเด็นร่วมสมัย และในระดับอุดมศึกษาท่านก็มีบทบาทในด้านนโยบายการวิจัยของมหาวิทยาลัย ต่อมาท่านผลักดันแนวคิดในการสร้างสถาบันวิจัยระดับแนวหน้าในออสเตรียอย่างจริงจัง ท่านสามารถชักจูงฝ่ายการเมืองให้สนับสนุนแนวคิดนี้ได้ และในปี 2009 สถาบันวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งออสเตรีย (Institute of Science and Technology Austria – ISTA) ก็ได้เปิดตัวที่เมืองโคลสเตอร์นอยบวร์ก (Klosterneuburg) ในปีเดียวกันนั้น ท่านยังก่อตั้ง สถาบันการศึกษานานาชาติที่ทราอุนเคียร์เคิน (Internationale Akademie Traunkirchen) เพื่อสนับสนุนเยาวชนผู้มีพรสวรรค์ สำหรับผู้ที่รักการแล่นเรือใบอย่างศาสตราจารย์ไซลิงเงอร์ พื้นที่ทะเลสาบทราอุน (Traunsee) จึงกลายเป็นบ้านหลังที่สองของท่าน
บทบาทนอกเหนือจากวงการวิทยาศาสตร์
ความมีชื่อเสียงของท่าน ประกอบกับความรักใน “ดนตรีที่ขาดไม่ได้และมีความสำคัญต่อชีวิต” นำพาศาสตราจารย์ไซลิงเงอร์ ผู้ชื่นชอบการชมคอนเสิร์ตและโอเปราอย่างลึกซึ้ง ไปสู่การมีส่วนร่วมและบทบาทในวงการอื่นนอกเหนือจากวิทยาศาสตร์ เช่น การเป็นผู้กล่าวสุนทรพจน์ในพิธีเปิดเทศกาลดนตรี Salzburg Festival ปี 2023 หรือการเป็นผู้จัดเทศกาล “Musikverein Perspektiven” ในปี 2024
ท่านได้รับรางวัลและเกียรติยศมากมายในชีวิต หนึ่งในนั้นคือการได้รับตำแหน่งดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์จากหลายสถาบัน ในปี 2001 ท่านได้รับเครื่องอิสริยาภรณ์ "Pour le Mérite" จากประเทศเยอรมนี และได้รับเครื่องอิสริยาภรณ์แห่งออสเตรียแสดงกิตติคุณด้านวิทยาศาสตร์และศิลปะ ในปี 2005 ท่านได้รับรางวัล “King Faisal Prize” จากประเทศซาอุดีอาระเบีย และในปี 2007 ได้รับ “เหรียญไอแซก นิวตัน” (Isaac Newton Medal) ซึ่งมอบโดยสถาบันฟิสิกส์แห่งสหราชอาณาจักร (Institute of Physics) เป็นครั้งแรก ต่อมาในปี 2010 ท่านได้รับรางวัล Wolf Prize อันทรงเกียรติ ในโอกาสวันเกิดครบรอบ 70 ปีของท่านในปี 2015 ท่านได้รับเครื่องอิสริยาภรณ์กิตติคุณแห่งสาธารณรัฐออสเตรีย ชั้นมหาอิสริยาภรณ์ทอง เพื่อเป็นบำเหน็จแก่ผู้ที่ทำคุณประโยชน์ให้กับประเทศออสเตรีย (Großes Goldenes Ehrenzeichen für Verdienste um die Republik Österreich) ตามมาด้วยรางวัล John-Stewart-Bell Prize ในปี 2017 รางวัล Micius Prize จากประเทศจีนในปี 2019 และในล่าสุดในปี 2024 ท่านได้รับเครื่องอิสริยาภรณ์ชั้นมหาอิสริยาภรณ์ทองพร้อมสายสะพาย เพื่อบำเหน็จความชอบในการทำคุณประโยชน์ต่อสาธารณรัฐออสเตรีย (Großes Goldenes Ehrenzeichen am Bande für Verdienste um die Republik Österreich)
การประชุมสัมนาเนื่องในวันเกิดในกรุงเวียนนา
ศาสตราจารย์ไซลิงเงอร์กล่าวกับสำนักข่าว APA ว่าในวันเกิดของเขานี้เขาจะใช้เวลา “กับครอบครัวอย่างเรียบง่าย” บรรดาเพื่อนร่วมงานได้จัดงานสัมมนาทางวิชาการเพื่อเป็นเกียรติแด่ศาสตราจารย์ไซลิงเงอร์ ระหว่างวันที่ 21 ถึง 23 พฤษภาคม ภายใต้หัวข้อ “ขอบเขตความรู้ของเรา” โดยคาดว่าจะมีลูกศิษย์ของท่านหลายคนเข้าร่วม
ในช่วงปิดท้ายของการประชุมสัมนาในวันที่ 23 พฤษภาคม สถาบันวิทยาศาสตร์แห่งออสเตรีย (ÖAW) และมหาวิทยาลัยเวียนนา ได้เชิญชวนประชาชนเข้าร่วมกิจกรรมภาคค่ำ ณ ห้องโถงจัดงานของสถาบันโดยในงานมีการบรรยายพิเศษจากศาสตราจารย์เกร์ฮาร์ด กีเกเรนเซอร์ (Gerhard Gigerenzer) นักจิตวิทยาชาวเยอรมันและรองประธานสภาวิจัยยุโรป (ERC) ในหัวข้อ “ระหว่างความน่าจะเป็นและความแน่นอน: การตัดสินใจของมนุษย์ในโลกที่ไม่แน่นอน”
การแสดงความยินดีเนื่องในวันเกิดของศาสตราจารย์ไซลิงเงอร์เริ่มหลั่งไหลเข้ามาก่อนวันจริงจากสถาบันสำคัญ 4 แห่งที่ท่านเคยมีบทบาท ได้แก่ สถาบันวิทยาศาสตร์แห่งออสเตรีย (ÖAW) มหาวิทยาลัยเทคนิคแห่งเวียนนา มหาวิทยาลัยอินส์บรุค และมหาวิทยาลัยเวียนนา รวมถึงจากกองทุนวิจัยทางวิทยาศาสตร์ของออสเตรีย (FWF) โดยได้มอบคำอวยพรแด่
“นักวิจัยที่มีชื่อเสียงที่สุดของออสเตรียที่ยังมีชีวิตอยู่”
(เอเจนซี่/ สำนักข่าว) | วันที่ (เผยแพร่): 20.05.2025, 09:54 น. เรียบเรียงโดย อุมา ตราชู
(คอลัมน์เก่า) ศาสตราจารย์อันตัน ไซลิงเงอร์
กาลามสูตร 'พิสูจน์ด้วยตนเอง'
コメント