top of page
QICTechFACTcheckLoGoWhite-2021.jpg

ขึ้นเวทีรับโนเบลสองครั้ง สร้างผลงานด้วยตาข้างเดียว ! | Nobel Minds 2022 | “บทเรียนสอนไทย”ขึ้นเวทีซ้ำ

เวทีรางวัลโนเบล 2022 ที่ผ่านมา สอนใจเมืองไทยอะไรได้บ้าง ?

ภาพที่ปรากฏบนเวทีการรับรางวัลโนเบลปี ค.ศ. 2022 สาขาฟิสิกส์เป็นที่ประทับใจไปทั่ว เมื่อสามรายชื่อคือบุคคลผู้บุกเบิกการทดลองด้านปรากฏการณ์ควอนตัม ทำให้เรื่องราวธรรมชาติที่ประสาทสัมผัสทั้งห้าของมนุษย์เข้าไม่ถึงนั้น ขยับเข้าใกล้ความเข้าใจได้อีกขั้น ขณะที่เวทีสาขาเคมีน่าประทับใจไม่แพ้กันพลันประกาศรายชื่อ เพราะหนึ่งในสามคือผู้ที่เคยรับรางวัลสาขานี้ไปแล้วเมื่อยี่สิบเอ็ดปีก่อนหน้า ตามมาด้วยเรื่องเล่าขานทั่วโลกต่อด้วยว่า ศาสตราจารย์มาดสุขุมนุ่มลึกผู้นั้นสูญเสียดวงตาไปหนึ่งข้างกับอุบัติเหตุจากงานทดลองที่ทำอยู่ ทว่า ด้วยตาด้านเดียวที่เหลือสามารถสร้างผลงานจนได้รางวัลโนเบลถึงสองครั้ง จึงเกิดเป็นคำถามถึงที่ไปที่มาแล้วตามด้วยคำตอบกันเองอย่างมากมายจากหลายมุมโลก ประวัติส่วนตัวอย่างละเอียดลออของท่านผู้นี้จึงปรากฏขึ้นทั่วไป โดยยกย่องกันถึงความเพียรพยายามที่ก้าวข้ามขีดจำกัดของร่างกาย รวมไปถึงเกร็ดความสุขจากการทำงานวิจัยตลอดชีวิตอันนำพามาสู่ภาพแห่งเกียรติยศของปี ค.ศ.2022 ... น่าสรรเสริญยิ่งนัก !


นั่นคือเรื่องราวของนักเคมีดัง Barry Sharpless ผู้ประสบเหตุในห้องทดลอง (lab) จนสูญเสียการมองเห็นส่วนหนึ่ง กระนั้น วิสัยทัศน์แห่งอนาคตยังคมกริบ สำเร็จผลรับสารพัดรางวัลมาตลอดชีวิตงาน รวมทั้งขึ้นเวทีโนเบลถึงสองครา [2001 2022] ทั้งหมดมาจากผลการค้นพบทางเคมีล้วน ๆ [เคมี เคมี] โดยเป็นบุคคลลำดับที่ห้าของผู้มีโอกาสกลับมาเยือนเวทีโนเบลนี้ซ้ำ ทั้งนี้ เคยมีผู้ทำสถิติสองครั้งมาก่อนแล้วสี่ราย กลับมารับสาขาเดิมรวมทั้งข้ามสาขาด้วย คือ Frederick Sanger [เคมี เคมี] Linus Pauling [เคมี สันติภาพ] John Bardeen [ฟิสิกส์ ฟิสิกส์] และ Marie Curie [ฟิสิกส์ เคมี] ซึ่งรายหลังสุดคือสตรีเพียงผู้เดียว และเป็นรายแรกที่รับรางวัลโนเบลข้ามสาขาวิทย์อีกต่างหาก น่าทึ่งมากเช่นกัน ...

(นาที 4:15)


และช่วงงานรับรางวัลของทุกปีจะมีการรวมพลคนเก่งมานั่งถ่ายทอดความคิดความอ่านร่วมสนทนากันกับกิจกรรม 'Nobel Minds' หรือ 'ความคิดชีวิต' ของผู้รับรางวัลโนเบลด้านวิทยาศาสตร์และเศรษฐศาสตร์ สำหรับงานที่จัดขึ้นเมื่อท้ายปี ค.ศ.2022 นั้น อัจฉริยะสายตาเดี่ยวผู้พากเพียร Barry Sharpless ได้มาร่วมโต๊ะกลมกับสุดยอดขุนพลอื่น ๆ รวมสิบท่าน โดยมีภาพเหรียญรางวัลสีทองวางเด่นอยู่ตรงกลางข้างหน้า เมื่อพิธีกรยิ้มแล้วเอ่ยถาม (นาที 4:15) ว่า


“มีแผนงานที่หวังว่าจะสำเร็จรางวัลโนเบลครั้งที่สามไหม ?”

ส่วนหนึ่งของคำตอบคือ

“ไม่มี แค่อยู่กับการทำวิจัยงานในฝันที่มีความสุข (ดั่งสวรรค์)”


นั่นแล ! 'งานวิจัย' คือสิ่งที่นักวิทยาศาสตร์ผู้สำเร็จมรรคผลทั้งหลายมานั่งรวมตัวกันอยู่นั้นยังคงทำอยู่ และจะทำต่อไป


วงสนทนา 'ความคิดชีวิตโนเบล' คือตัวอย่างดีที่ว่านักวิทยาศาสตร์เที่ยงแท้ทำอะไรกันมา คิดอย่างไร และไปต่อทางไหน หาได้มีใครรับรางวัลเพื่อภาพลักษณ์ตนเองแล้วสิ้นสุดเลิกเส้นทางงานวิจัยเพื่อไปเถลิงประโยชน์จากตัวรางวัล (กลางวงสนทนามีแซวกันว่า เงินรางวัลโนเบลมิได้เพียงพอที่จะทำให้หยุดงานวิจัยแล้วไปใช้ชีวิตได้อย่างสุขสบาย 😃)

เช่นกัน หลากหลายสำนักข่าวและบรรดาผู้ใกล้ชิดหรือลูกศิษย์ลูกหากล่าวในแนวทางเดียวกันกับที่ปรมาจารย์เหล่านั้นถ่ายทอด พร้อมร่วมกันเปล่งคำสรรเสริญปรากฏไปทั่วโลกออนไลน์คล้าย ๆ กัน เวที 'Nobel Minds' ของทุกปีแบบนี้จึงสะท้อนภาพความสำเร็จอันแท้จริงของวงการวิทย์โลกได้เป็นอย่างดี ทั้งกับตัวรางวัลอายุข้ามศตวรรษและตัวผู้รับรางวัลเอง ... สุดยอด !

๐ ดูหนัง ดูละคร แล้วย้อนดูตน ๐

เมื่อมองกลับมายังประเทศไทย ณ พ.ศ.๒๕๖๕ ปีเดียวกันนั้น ปรากฏภาพคู่ขนานสำคัญที่เกี่ยวข้องกับเวทีรางวัลวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีด้วย โดยผ่านมากับกรณีการสถาปนารางวัลและคำสรรเสริญจากหนังสือแนวสารคดีเรื่อง “ปัญญาอลวน” อันมีเนื้อหาและภาพ 'ความคิดชีวิต' ของวงการวิทย์ไทยบันทึกไว้ ทว่า กรณีศึกษาระดับชาตินั้นกลับเปล่งซึ่งคำถามที่ยังคงไร้คำตอบไปทั่ว แตกต่างจากความสำเร็จบนเวทีนานาชาติ 'Nobel Minds' ที่แจ้งแล้วโดยสิ้นเชิง


จดหมายเหตุ (2022) เล่มนี้ย้อนภาพงานรับรางวัลเมื่อครั้งอดีต พ.ศ.๒๕๔๖ ซึ่งกว่าทศวรรษต่อมาผู้ที่เคยขึ้นเวทีเกียรติยศดังกล่าวกลับมาขึ้นเวทีเดิมนั้นซ้ำ คล้ายกับเรื่องราวของผู้รับรางวัลโนเบลซ้ำสองครั้งทั้งห้าท่านรวมนักเคมีโนเบลดวงตาเดี่ยว Barry Sharpless [เคมี เคมี] คนล่าสุดด้วย หากต่างกันตรงที่ ของเมืองไทยมิใช่ด้วยผลงานสาขาเดิมหรือแม้จะข้ามสาขา แต่เป็นการหวนคืนสังเวียนเปลี่ยนสถานะจาก “ผู้นำงบหน่วยงานมาขึ้นมอบเป็นรางวัล กลายมาเป็นผู้รับรางวัลเดียวกันนั้นเสียเอง” [ผู้มอบ ผู้รับ] !


รางวัลโนเบลผ่านร้อนผ่านหนาว ผ่านเหตุการณ์ที่ถูกทักท้วงติติงจากผู้พลาดหวังและอื่น ๆ มามากมาย แต่ด้วยธรรมาภิบาล (governance) ขององค์กรผู้มอบรางวัล รวมทั้งจริยธรรม (ethics) ของผู้เกี่ยวข้อง โดยปราศจากประโยชน์ทับซ้อน (conflict of interest) ของผู้รับรางวัล จึงยืนหยัดมานานนับศตวรรษและยังคงความขลังเป็นที่สุด การประกาศผลและมอบรางวัลของทุกปีผู้คนทั่วโลกจึงจดจ่อต่อทั้งตัวรางวัลและตัวผู้รับทุกสาขา โดยพร้อมที่จะสรรเสริญและรอการมาร่วมเวที 'Nobel Minds 2023' และของปีต่อ ๆ ไป ... รางวัลของเมืองไทยเองมีเป้าหมายคล้ายคลึงกัน มิใช่หรือ ?

งานวิจัยคือ “ความสุข (ดั่งสวรรค์)

เนื้อแท้ของความคิดและเส้นทางชีวิตการเป็นนักวิทยาศาสตร์ผ่านออกมากับสายตาแห่งความสุขแม้เพียงด้านเดียวของ Barry Sharpless วลีนี้ มอบไว้แด่วงสนทนาสู่ประชาคมวิทย์ของโลก มั่นใจกันได้ว่าจะยังคงเป็นเช่นนั้น ... ตลอดไป [เคมี เคมี ... ...]


แล้วสายตาผู้คนรุ่นหลังของวงการวิทย์เทคโนฯไทยล่ะ ควรมองไปข้างหน้าสู่ผลสำเร็จบนเส้นทางอนาคตกันอย่างไร รวมทั้งควรเอ่ยวลีใดบนเวทีหากมีโอกาสขึ้นรับรางวัลเกียรติยศระดับชาติแล้วพบภาพอดีตสีเทาเป็นฉากพื้นหลังอยู่ก่อนแล้ว [ผู้มอบให้ (กลายมาเป็น) ผู้รับ ... ...]

ฤา วงการวิทย์และเทคโนฯไทยจะเลือกเดินบนเส้นทางเดิมด้วยการ 'ปิดตาตนเองข้างหนึ่ง ข้างเดียว' ... ตลอดไป ?


 

"วัฒนธรรมการสถาปนารางวัลและคำสรรเสริญตนเอง

ได้กลายเป็นพฤติกรรมเลียนแบบกันต่อเนื่องมา ..."

 
 

  • Facebook page
bottom of page