top of page
QICTechFACTcheckLoGoWhite-2021.jpg

“To Honor the Award #1”–สร้างภาพลักษณ์ให้กับรางวัล(๑)

ยุทธศาสตร์การสร้างภาพลักษณ์ด้วยรางวัลด้านวิทยาศาสต์และเทคโนโลยีและที่เกี่ยวข้อง กำลังขับเคี่ยวกันอย่างคึกคักทั่วโลก แม้โนเบลคือสุดยอดรางวัลอันทรงเกียรติที่มอบกันมาเกินร้อยปีแล้ว แต่มิใช่สำนักเดียวที่สร้างเวทีสรรเสริญและจ่ายเงินรางวัลให้กับวงการวิทยาศาสตร์และวงการสำคัญอื่น ๆ เพียงแต่ยังไม่มีรางวัลใดขลังเทียบเท่าได้เลย เพราะเหตุใด ? เหตุใดหลายองค์กรหรือประเทศอื่นนอกเหนือจากสวีเดนและนอร์เวย์ที่เป็นเจ้าภาพรางวัลแห่งศตวรรษจึงพยายามสถาปนารางวัลใหม่ขึ้นมา แม้ทราบว่าจะยังคงห่างไกลซึ่งความขลังกระทั่งช่วงหลัง ๆ ถูกจี้ให้ช้ำใจกันมากด้วยว่า เป็นการนำรางวัลไปยัดใส่มือนักวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีคนที่โด่งดังอยู่แล้วเพื่อสร้างภาพขลังทางลัดให้กับตัวรางวัลเอง หาใช่เป็นรางวัลเพื่อส่งเสริมคนและความสำเร็จแท้จริงไม่ ... แล้วเมืองไทยมีเหตุให้เสียทรัพยากรเพื่อภาพลักษณ์ด้วยการแจกรางวัลแบบนั้นบ้างไหม ? มาศึกษาจากห้าตัวอย่างดังของโลกเพื่อย้อนดูตนเองกันดังนี้

๑) รางวัลควอนตัม 'ม่อจื้อ' (Micius prize)

ชื่อเดียวกับดาวเทียมควอนตัมจีนที่หยิบเอานามปราชญ์โบราณมาตั้งเป็นเกียรติ และนั่นคืออีกหนึ่งกลยุทธร่วมยุทธศาสตร์การครองโลกใหม่ด้วยการออกตัวก่อน (fist move) ของจีน องค์กรเอกชนรวมตัวและเริ่มแจกรางวัลนี้ให้คนควอนตัมโลกมาตั้งแต่ปี ค.ศ. 2018 โดยจับเอารายชื่อดังในวงการไอทีควอนตัมทั้งหลายมารับรางวัลมูลค่าหนึ่งล้านหยวน (RMB 1 million ~ US$ 150,000) เพียงปีแรกแต่แบกมาครบทีมของ “การคำนวณควอนตัม” ทั้ง Ignacio Cirac, David Deutsch, Peter Shor, Peter Zoller, Rainer Blatt และ David Wineland ทั้งหมดนั้นคือปรมาจารย์ผู้เล่นกับปรากฏการณ์ควอนตัมด้านการทดลอง (experiment) และเจ้าของทฤษฎีอันนำโลกมาสู่ยุคไอทีการคำนวณแขนงใหม่ รายชื่อเหล่านี้โด่งดังอยู่เป็นทุนเดิมและหากเปรียบกับวงการฟุตบอลจะเทียบเท่า "โรนัลโด" หรือ "เมสซี่" มาเล่นที่เมืองจีน และที่สำคัญชื่อสุดท้ายคือผู้เคยรับรางวัลโนเบลมาก่อนแล้วด้วย


กิจกรรมการแจกแบบนี้เป็นแนวทางใหม่ที่เลียนแบบรางวัลใหญ่อื่น ๆ ของโลก แต่งานนี้เน้นมาเฉพาะกับคำว่า "ควอนตัม" เท่านั้น ภาพรวมจึงมองได้ว่าเป็นอีกหนึ่งการเคลื่อนไหวใหญ่ของฝั่งจีนที่จะครองโลกวิชาการด้วยการรวบบิดาของแต่ละสาขาย่อยไปรับรางวัลล้านหยวนพ่วงด้วยชื่อปราชญ์จีนโบราณ รางวัลนี้เป็นข่าวติดกระแสได้เพราะเป็นงานสาขาที่จีนอยู่แถวหน้าของโลกด้วย เมื่อใช้กลยุทธทั้งรวบคนดังและฝังชื่อปราชญ์ติดเหรียญนี้จึงมิใช่เรื่องน่าเขินอายแต่อย่างใด เพียงแต่หากหมดรายชื่อแถวหน้าของวงการที่เล็กมากนี้แล้ว ปีต่อ ๆ ไปจะมอบให้ใครล่ะหนอ ?

มาถึงปี ค.ศ. 2019 รางวัล (ควอนตัม) "ม่อจื้อ" จีนกวาดอีกครั้ง ไม่ใช่การกวาดรางวัลของนักวิทย์จีนแต่รางวัลนี้กวาดเอานักวิทย์ดังทั้งโลก "รหัสลับควอนตัม" ไปรับรางวัลปีที่สองหรือ “รวบเอาภาพลักษณ์ของทั้งโลกไอทียุคใหม่ไปที่เหอเฝย์" เมืองหลวงแห่งควอนตัมโลกที่กำหนดเปิดศูนย์ควอนตัมแสนล้าน(บาท)ตั้งแต่ปี ค.ศ.2020 รอบนี้มีทุกชื่อหลักนักวิทย์ทั้ง Charles Bennett, Gilles Brassard, Artur Ekert, & Stephen Wiesner หรือสี่คนแถวหน้าของวงการที่มีอายุกว่าสามสิบปี ทั้งเจ้าของความคิดต้นกำเนิด ผู้สร้างต้นแบบแรก และทฤษฎีเฉพาะทางของรหัสลับควอนตัม รวบพามาประกาศเกียรติคุณให้ว่า


"for their pioneering contributions in establishing the theoretical framework for quantum communications"

รางวัลปีนี้แบ่งให้กับคู่หูศิษย์อาจารย์คนดังที่นั่งแถลงข่าวดาวเทียมควอนตัมกับการประชุมทางไกลด้วยคือ Jian-Wei Pan ชาวจีนหัวหน้าโครงการดาวเทียมม่อจื้อชื่อเดียวกับรางวัลนี้นั่นเอง พร้อมด้วย Anton Zeilinger สัญชาติออสเตรียอดีตอาจารย์ที่ปรึกษาสมัยเรียนปริญญาเอก โดยขนานนามผลงานด้านการทดลองรหัสลับควอนตัมให้กวาดพื้นที่ครอบทั้งวงการดักเอาไว้ว่า


"for their groundbreaking Experimental work makes wide-area quantum communication with real security possible"

เมื่อครบสองปีรางวัลนี้จึงกวาดหมดคนดังแถวหน้าของโลกไปแล้ว แบบนี้จีนจะไม่ครอบทั้งโลกไอทีควอนตัมได้อย่างไร เล่นทั้งบู้ บุ๋น ภาพลักษณ์ หักทุกมุมควอนตัมนำไปที่เหอเฝย์หมด กระนั้น มีเสียงเกริ่นถามทั่วไปว่า รางวัลนี้จะยั่งยืนต่อไปไหมเพราะตั้งขึ้นมาเพื่อสรรเสริญตนเอง และหากปีต่อ ๆ ไปมอบให้กับนักวิทยาศาสตร์แถวสองของวงการหรือมีผลงานชื่อเสียงน้อยกว่าจะเกิดอะไรขึ้น ทั้งนี้วงการเฉพาะทางนี้ไม่ได้มีความก้าวหน้ารวดเร็วในระดับที่จะค้นพบหรือสร้างสิ่งใหม่ ๆ ได้ในทุกปี และรายชื่อที่มารับรางวัลสองปีแรกนั้นกว่าจะโด่งดังจนเจ้าของรางวัลไปเชิญมารับมอบผ่านการเสนอชื่อ (nomination) เขาเหล่านั้นได้ผ่านการสร้างงานมาร่วมสามทศวรรษเป็นอย่างน้อย และยังคงยืนเป็นแถวหน้าของวงการเช่นนี้อยู่ อีกนัยหนึ่ง ทั้งหมดนั้นคือเจ้าของโครงการวิจัย หัวหน้ากลุ่มวิจัย หรือบุคคลยืนหนึ่งที่กำลังขะมักเขม้นทำภารกิจใหญ่หลวงของวงการอยู่ในปัจจุบัน ยังมิได้มีคนรุ่นใหม่อื่นมาทำหน้าที่แทน ดังนั้น หากการมอบรางวัลรอบต่อ ๆ ไป มอบซ้ำคนรับเดิมแม้จะเป็นผลงานใหม่หรือหากมอบให้บุคคลในทีมลำดับแถวถัด ๆ ไปแทน รางวัลนี้จะลดค่าลงในตนเอง ความยั่งยืนจะถูกท้าทายในที่สุด


เมื่อมาถึง ค.ศ.2020 ความเสี่ยงตามที่คาดการณ์เริ่มปรากฏ สัญญาณแรกของปีที่สามคือการเลื่อนกำหนดประกาศรางวัลจนเกือบหลุดปี จนในที่สุดประกาศท้ายปีตรงกับวันรัฐธรรมนูญไทยขยับหนีไปที่ด้าน “มาตรวิทยา” (metrology) จากสองประเทศ (สหรัฐฯ และ ญี่ปุ่น 1) Carlton Caves, University of New Mexico 2) Hidetoshi Katori, University of Tokyo & Jun Ye, University of Colorado Boulder) ซึ่งอาจยังถือว่าคือบุคคลของเทคโนโลยีควอนตัมข้างเคียงที่เริ่มห่างออกจากสาขาไอที (การสื่อสารและการคำนวณภาพลักษณ์สูงกว่า) ชื่อเสียงและเสียงปรบมือจึงเบาบางลง กระนั้น รางวัลนี้ยังสามารถเอาตัวรอดไปได้อีกหนึ่งปี จึงคาดการณ์ไว้ก่อนได้ว่า ปีต่อไปอาจแสวงหาคนดังกับสาขาแขนงแยกย่อยอื่นที่เล็กลงอีก เช่น quantum simulation เป็นต้น หากเป็นแนวบีบแคบลงนั้นจะยิ่งมีความเสี่ยงสูง เพราะเทคโนโลยีควอนตัมเกิดใหม่ (emerging) ตามวัตถุประสงค์มิได้ปรากฏมากนักและถูกแขนงใหญ่ฉายภาพความขลังไปกว้างขวางก่อนแล้ว

รางวัลนี้ใหม่มากและตามหลังรางวัลอื่นต่อไปนี้ที่ทั้งจ่ายเงินรางวัลสูงกว่าเกินสิบเท่าตัว อีกทั้งสังคมโลกทั่วไปเข้าใจความหมายของผลงานและเกียรติยศที่รับได้ยากกว่ากับทั้งคำ “ควอนตัม” หรือแม้กับประวัติของปราชญ์ “ม่อจื้อ” เอง ความยั่งยืนของรางวัลนี้จึงมีสถานะที่อาจไม่มั่นคงนัก


๒) รางวัลล้านเหรียญของจีนเอง (Future Science Prize)

รางวัลเพื่อวิทยาศาสตร์อนาคตนี้กำเนิดก่อนรางวัล “ม่อจื้อ” สองปี (ค.ศ.2016) ตั้งขึ้นมอบเพื่อนักวิจัยเฉพาะจากกลุ่มประเทศจีน (รวมไต้หวัน ฮ่องกง และมาเก๊า) เน้นหนักให้กับสาขาพื้นฐาน (Life Science, Physical Science และ Mathematics and Computer Science) โดยมีมูลค่ารางวัลมูลถึง $1 ล้านเหรียญใกล้เคียงรางวัลโนเบล แต่ถูกระบุว่ามิได้มาแข่งกับโนเบลเพียงแต่ศีกษารูปแบบและเรียนรู้ข้อดีนำมาปรับใช้เท่านั้น ปีค.ศ. 2020 มอบรางวัลแด่บุคคลสามสาขาด้านการแพทย์ นาโนฯ และ คณิตศาสตร์

โดยภาพรวมของ “การออกตัวก่อน" ด้วยสองรางวัลแรกอายุน้อยจากประเทศจีนนี้ก็ได้ทำให้เกิดผลกระทบกับวงการวิทยาศาตร์อย่างคุ้มค่ามาก ทั้งภาพลักษณ์ของประเทศจีน การกระตุ้นคนรุ่นใหม่ประเทศ และผลดีทางอ้อมอื่น ๆ อีกมาก แต่อย่างไรก็ตามคำถามเดิมยังคงมีอยู่โดยตลอด สองรางวัลหน้าใหม่เอี่ยมนี้จะไปต่อได้ไกลแค่ไหนโดยเฉพาะรางวัลม่อจื้อที่เกิดหลังรวมถึงเล็กและแคบกว่ามาก ทั้งต้องแสวงหาผู้มารับที่มีน้อยมากมารับรางวัลทุกปี ส่วน Future Science Prize ครอบคลุมกว้างกว่าแต่มอบให้กลุ่มเป้าหมายเพียงเฉพาะในประเทศเท่านั้น ดังนั้น จึงต้องตามดูอนาคตกันอีกพักใหญ่ ... อีกหลายปี


(คำถาม) ณ ปีค.ศ.2021 สองรางวัลจากประเทศจีนนี้มีนำ้หนักไปในทิศทางใดมากกว่ากัน ?

ระหว่าง “สร้างภาพลักษณ์ให้กับรางวัล” หรือ “รางวัลเพื่อสร้างเกียรติยศให้ผู้รับ”

(ต่อ ภาค ๒ - พบกับรางวัลล้านเหรียญ ล้านปอนด์ สามล้านเหรียญ และรางวัลไทยผู้เคยให้กลับมารับเอง !)


by K Sripimanwat

 

"วัฒนธรรมการสถาปนารางวัล (รวมทั้งคำสรรเสริญ) ให้ตนเอง ได้กลายเป็นพฤติกรรมเลียนแบบกันต่อเนื่องมา ..."

(updated: video on April 9, 2021)


 



Comments


FEATURED POSTS

FOLLOW US

  • Facebook Long Shadow

 

DROP US A LINE 

Your details were sent successfully!

  • Facebook page
bottom of page