(EP3) ปฐมบทวิศวกรหญิงแกร่ง | Woman in Science & Engineering 2022 | อัศนีย์ ก่อตระกูล
“เราเป็นคน ‘nobody’ เราได้กำไรชีวิต เมื่อเราไม่คาดหวังสูง เราก็ไม่อกหัก”
ช่วงเวลาทศวรรษท้าย ๆ ของระบบการศึกษาไทยสายสามัญแบบ ‘7 3 2’ (ประถม ๑ - ๗ : มัธยมต้น ๑ - ๓ : มัธยมปลาย ๔ - ๕) ก่อนจะปรับมาเป็น ‘6 3 3’ ที่คุ้นเคยยาวนานกาลต่อมานั้น เชื่อมต่อระดับอุดมศึกษาด้วยการสอบเอ็นทรานซ์ (entrance) เข้ามหาวิทยาลัยแบบที่ยังไม่แยกลงตามคณะเพียงแค่แบ่งเป็น ก.๑ สายวิทย์ และ ก.๒ สายศิลป์ เมื่อเข้าได้แล้วต้องมาเรียนรวมกันก่อน การเลือกคณะเอาไว้ปีถัดไป โดยที่ ‘หนอนหนังสือ’ แห่งสตรีวิทยาผู้นี้ก็ไม่พลาด เป็นหนึ่งในกลุ่มผู้มีโอกาสเข้าสถาบันอุดมศึกษาของรัฐฯ รอบพ.ศ.๒๕๑๕ ปีที่สายวิทย์ยังมีที่นั่งจำนวนจำกัดเหลือเกิน ส่วนกลางมีเพียงมหาวิทยาลัยสี่แห่งเก่าแก่กับสามพระจอมเกล้าฯ ด้านเทคโนโลยี ต่างจังหวัดก็มีแค่สามแห่งใหม่ศูนย์กลางของภาคเหนือ (เชียงใหม่) อีสาน (ขอนแก่น) และใต้ (สงขลาฯ) ทั้งหมดเพิ่งก่อตั้งอายุยังไม่ถึงหนึ่งทศวรรษใหม่มาก ๆ เฉพาะคณะวิศวกรรมศาสตร์เองรวมกันแล้วมีเปิดสอนเพียงแปดแห่ง (แปดเกียร์) รวมประมาณหลักพันที่นั่งทั้งประเทศ แต่ละแห่งเริ่มที่ตัวเลขน้องใหม่หลักร้อยเศษพอ ๆ กัน เมื่อจัดสรรแยกไปตามภาควิชาแล้วจึงเหลือนักศึกษาไม่กี่สิบคนต่อสาขาที่เปิดสอน ... หลักสิบเท่านั้น !
นักเรียนที่สอบไม่ติดจำนวนมากจำต้องเลี้ยวไปสายอื่นกับการเป็น “ลูกพ่อขุนฯ” ที่รับไม่จำกัดบ้าง ย้ายไปสายอาชีวะหรือวิชาชีพบ้าง ฯ สมัยนั้น สถาบันอุดมศึกษาเอกชนกับการสร้างบุคลากรสายเทคโนโลยียังไม่ปรากฏตัว ดังนั้น หากสอบไม่ติดแต่ยังปักใจกับสายวิทย์ล่ะก็อาจต้องไปเรียนต่อกันที่ฟิลิปปินส์ ประเทศที่เคยมีโอกาสมากมายกว่าของเมืองไทย ค่าใช้จ่ายไม่แพงนัก ‘บิ๊กหอย’ ‘น้าแอ๊ด’ กับสารพัดนักการเมืองชุบตัวเลือกไปที่นั่นไม่น้อย ... แต่ภาพเหล่านั้นกลายเป็นอดีตไปหมดแล้วและต่างลิบลับจากปัจจุบันที่โอกาสทางการศึกษามีมากมายกว่า จำนวนที่เปิดรับสายวิทย์สายเทคโนฯก็มากเกินจำนวนผู้อยากเรียนนานมาแล้ว
“ติดมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ก.๑ เรียนรวมกันทุกคณะทั้งสายวิทย์สายศิลป์”
หนึ่งในวัยรุ่นที่เพิ่งจบ มศ.๕ จากโรงเรียนสตรีล้วนบนถนนประชาธิปไตย พับเก็บชุดนักเรียนไปได้เวลาสวมชุดนักศึกษากับการเป็นนิสิตมหาวิทยาลัยแห่งนี้ จากนักเรียนผู้เรียบร้อยไม่มีชุดไว้ใส่เที่ยวกำลังจะออกท่องเที่ยวสู่โลกที่กว้างใหญ่กว่าหนังสือหรือชั่วโมงอบรมบ่มเพาะกุลสตรีกันแล้ว
“สมัยปีหนึ่ง ชอบที่สุดคือคณะวนศาสตร์ เพราะกิจกรรมอัตนลักษณ์ ‘วันอินเดียนแดง’ และเกือบเข้าแล้ว เพราะชอบกิจกรรม”
แต่ท้ายสุดตัดสินใจเลือกที่อยากเรียน ส่วนกิจกรรมเพื่อสังคมที่ยังคงฝังหัวเปิดตาเหล่านั้น จะไปค้นหาทางอื่นกันต่อ
“ปีสองเลือกเข้าคณะวิศวฯ ทุกสาขารวม ๑๒๘ คน แยกอีกทีปีที่สาม ภาควิชาวิศวฯไฟฟ้ามี ๒๕ คน” โดยที่ “ทั้งคณะมีผู้หญิงรวม ๑๕ พอถึงปีสามเข้าภาคฯไฟฟ้าแล้วเหลือเพียงแค่ ๕”
อาจารย์อัศนีย์บอกเล่าบรรยากาศเมื่อห้าสิบปีก่อนมาแบบนี้ ...
“ดีใจที่เลือกวิศวฯ คิดไม่ผิด เพราะสัมผัสได้ทุกคณะ เรียนรวมกัน พี่ทุกคณะดูแล” แล้วก็ ... “ได้ออกค่ายวิศวฯ ชลประทาน เครื่องกล โยธา สร้างเขื่อน สร้างโรงเรียน”
มาแล้ว เริ่มแล้ว ช่วงเวลาของการคืบคลานสู่สังคมที่กว้างใหญ่กว่าหน้าหนังสืออันมีกระดาษห่อปกไว้เรียบกริบ หนอนหนังสือร่างน้อยกำลังค่อย ๆ เดินเข้าสู่โลกความจริงที่ยิ่งใหญ่และอลหม่าน โดยเน้นคำการตกหลุมรักกิจกรรมเพื่อสังคมไว้แบบนี้
“ชีวิตไม่มีอะไรตื่นเต้น นอกจากออกค่าย” “ถูกกดขี่ เรียนอยู่จะไม่รู้ ต้องออกค่ายทำกิจกรรม” “มันเป็นกระแส อยากรู้อยากเห็น” ...
เอ้า ! เพลงพร้อม ...
“โยธิง โยธิง โยธิง ชายหญิงมาร่วมแสดง มากันหลายแห่ง มาร่วมแสดงเล่นรอบกองไฟ
ฉันมาก็ด้วยใจภักดิ์ ฉันรักก็ด้วยความจริง โย้น โย้น โยทิง โยทิง โยทิง”
นอกจากตัวเทคโนโลยีที่ต้องเล่าเรียนแล้ว ชีวิตสาวมหาวิทยาลัยของ ‘ผ้าพับไว้’ จึงมาถึงเวลาคลี่ผืนผ้าแห่งชีวิตเพื่อโอบรับประสบการณ์ใหม่อย่างอิ่มเอมใจ เสมือนอยู่เส้นทางอนาคตที่มีเสียงเพลงต้อนรับไปทั่ว ทั้งเพลงรำโทน เพลงเพื่อชีวิต ละครรอบกองไฟ ขับขานนิทาน พบปะฟังเสียงชาวบ้านชาวนา ความเบิกบานเหล่านั้นปรากฏออกมากับการเล่าเรื่องพร้อมโชว์ภาพเก่าขาวดำจากค่ายอาสาฯ เป็นภาพนิ่งที่ราวกับว่ามีเสียงประสานเปล่งออกมา ...
“เราอาสา พัฒนา ใจเริงร่าและสามัคคี เราร่วมจิตอุทิศชีวิตพลี ทำความดีเพื่อพี่น้องผองไทย” ... ฮุ้ย เล ฮุ้ย !
ณ เวลานั้นดูเหมือนสาวน้อยจากเมืองกรุงได้ค้นพบตนเองเข้าแล้วกับเรื่องใหม่และใหญ่มาก เวทีโลกกว้างที่มีทั้งความรักความศรัทธา ท้องฟ้ากว้างใหญ่ ภูเขา ท้องนา และสายลม จะชมนกหรือดูดาวก็สุขใจยิ่งนัก ...
“แม้ห่างไกล ไม่ท้อถอย ถึงยอดดอย สูงเยี่ยมเทียมฟ้า เราบากบั่นฝ่าฟันเข้าไปหา ร่วมพัฒนาด้วยพี่น้องผองไทย”
ท้ายเดือนเมษายน พ.ศ.๒๕๖๕ เป็นโอกาสดีเมื่อต้นเรื่อง “Woman in Science & Engineering 2022” ในวัยเกษียณผู้นี้พาเดินทัวร์มหาวิทยาลัยย้อนความหลัง พ.ศ.๒๕๑๕ ให้รำลึกภาพของห้าสิบปีก่อน สถานที่ ๆ คุ้นเคยมายาวนานตั้งวศ.บ (ไฟฟ้า) และ วศ.ม มหาบัณฑิตแขนงโทรคมนาคม รวมทั้งกลับมาเริ่มงานใหม่จนเกษียณก็ที่เดียวกันแห่งนี้ ในอดีต ด้านหน้าของมหาวิทยาลัยคือถนนพหลโยธิน ส่วนวิภาวดีหลายเลนยังไม่มี โทลเวย์ยังไม่มา รถไฟฟ้าสายเขียวหรือแดงคืออะไรยังไม่มีใครรู้จัก สิ่งที่แวดล้อมอยู่คือท้องทุ่งและดงตาล หากเลยขึ้นไปอีกนิดก็จะถึงทุ่งสีกันพื้นที่ดอนโล่งกว้างของกองทัพอากาศ ... ‘ลาดพร้าว’ ‘บางเขน’ ยังมีนาข้าวกันอยู่เชียวนา ครึ่งศตวรรษก่อนหน้าโน่นไง ดังนั้น ร้อยกว่าคนของคณะวิศวฯ สมัยเรียนจึงมีโอกาสได้ “สัมผัสสีเขียว” ร่มรื่น จะดูนก ชมดาว ปั่นจักรยานท่องไพร ทั้งหมดยังทำได้ในเขตรั้วมหาวิทยาลัย
“มีสอบทุกอาทิตย์ สมัยเรียนติวโต้รุ่งแล้วไปสอบเลย ...” และตื่นเต้นมากหากได้หม่ำ “มาม่า” เพราะถือเป็น “อาหารวิเศษ” ขณะที่ข้าวแกงจานละ ๕๐ สตางค์ !
สำหรับของติดมือคนสายช่างที่จำเป็นและถือกันอยู่นอกจากหนังสือแล้วก็มี ‘ไม้ที ไม้โปรฯ วงเวียน ฯ’ ส่วนเครื่องคิดเลขก็เพิ่งเกิดแต่ราคายังหูฉี่ ๒,๐๐๐ บาท แพงกว่าเงินเดือนบัณฑิตจบใหม่สมัยนั้นเสียอีก อุปกรณ์ช่วยคำนวณโจทย์ที่ซับซ้อนขึ้นมาหน่อยจึงนิยมใช้ ‘สไลด์รูล’ (slide rule)
แต่ไหนแต่ไรมา วิศวฯ ทั่วประเทศคือคณะจ้าวตำรับการรับน้องด้วยระบบโซตัส (SOTUS) ที่นี่เองมีด้วยแน่ แต่ ... อีกห้าสิบปีต่อมาองค์การนิสิต (อบ.ก.) ประกาศเลิกรับน้องระบบโซตัสอย่างเป็นทางการไปแล้ว กระนั้น อดีตนักศึกษาวิศวฯหญิงรุ่นแรกของม.เกษตรฯ เปรยสิ่งที่แตกต่างซึ่งผันแปรมาจนเพี้ยนไว้ให้ด้วยว่า โซตัสสมัยก่อนนั้นคือ “ความรักของรุ่นพี่ แบบนั้นจริง ๆ” การมาถึงของ ‘ผ้าพับไว้’ ได้เคยมาพบกับการบ่มเพาะความรักความเข้าใจต่อสังคมรอบด้านทั่วไปที่รุ่นพี่มอบให้ เมื่อเติบโตเป็นรุ่นพี่จึงส่งให้รุ่นน้องกันต่อ ๆ ไป ... หาใช่แบบ ‘อำนาจนิยม’ ที่มีพัฒนาการถดถอยเรื่อยมาจนสังคมตาสว่างกันหมดแล้วในยุคสมัย 5G นี้
“เป็นติวเตอร์”
ไม่พลาดอีกครั้ง เมื่อความสามารถหลักคือการชอนไชความรู้อยู่บนหนังสือ การส่งต่อเรื่องดีให้เพื่อนร่วมรุ่น (E 28) และรุ่นน้องจึงผ่านมากกับการช่วยให้เรียนรอดปลอดภัยกับยุคสมัยที่การรีไทร์ของสายช่างยังกระหึ่ม
เรื่องราวดี ๆ ในรั้ว ‘มหาวิทยาลัยสีเขียว’ มากมายที่อาจารย์อัศนีย์ทยอยรำลึกออกมานั้น เป็นช่วงเวลาเดียวกันกับเรื่องของ ‘เครื่องแบบสีเขียว’ นอกรั้วมหาวิทยาลัยที่กำลังเข้มข้นขึ้นด้วย ซึ่งกำลังจะนำพาไปสู่เหตุการณ์ ๑๔ ตุลาคม พ.ศ.๒๕๑๖ ในเวลาอันใกล้ แต่ก่อนจะไปนั่งคุยย้อนความหลังกับจุดหักเหของชีวิตครั้งสำคัญเรื่องนั้น ตบท้ายการเดินทัวร์ช่วงชีวิตการเรียนที่ “ไม่รักสวยรักงาม” “ไม่บู้” ด้วยอีกสองภาพเก่ายิ้มไปเล่าไปว่า ที่นี่ “ไม่มีดาวคณะ แต่วิศวฯ ก็มีคนสวยนะ !” แล้วคนเล่าเรื่องเองก็เคยเป็นถึงนักกีฬาว่ายน้ำเหรียญเงินมาแล้วเชียว โดยแจกอีกหนึ่งยิ้มพร้อมเอ่ยถึงความสำเร็จนั้นไว้ว่า “มีคนลงสระแข่งขันกันแค่สองคน !” ... “ฮ่ะ ฮ่า”
... “พวกเรามิย่อท้อใจเรียนไปทำการ
ตั้งใจหวังจะสร้างผลงานให้เหมือนรุ่นพี่
เพื่อไทยนี้รุ่งวิไลกายใจเราพลี
พวกเรานี้ร่วมสามัคคีมิมีวันหน่าย
ศึกษาพร้อมกันร่วมผูกพันน้ำใจไมตรี
จิตชาวดงตาลเรานี้มิมีเสื่อมคลาย”
(ส่วนหนึ่งจากเพลง 'วิศวดงตาล')
๐ ยุคตุลาฯ เห็นอะไรที่มากกว่าหนังสือ
‘อ๊าร์ต’ คือชื่อเล่นอันหมายถึงศิลปะ (art) ผู้เป็นพ่อตั้งให้เพราะชอบวาดรูปสร้างภาพเชิงศิลป์ แล้วก็ช่วยติวแถมแต้มเติมการบ้านส่งครูให้อีกด้วยสมัยเป็นนักเรียน แต่ยามสอบไล่พ่อช่วยไม่ได้วิชาศิลปะจึงตกเพราะคะแนนต่ำกว่าครึ่ง ‘อ๊าร์ต’ จึงเป็นเพียงชื่อหาใช่ความถนัดของตนเองในการใช้พู่กันไม่ แต่ ... แต่หากเป็นศิลปะการใช้ชีวิตแนวอิมเพรสชันนิสม์ของภายภาคหน้าแล้วล่ะก็ ดูเหมือนจะได้คะแนนสูงลิบลิ่ว เพราะสามารถปรับตัวเปลี่ยนไปตามครรลองของสังคมได้เองอย่างเด็ดเดี่ยว วาดภาพสะบัดสีวางแสงแบ่งโทนลมหายใจแห่งชีวิตให้ตนเองได้อย่างสวยงามจริง ๆ
การออกค่ายอาสาฯ เปิดตากับโลกกว้างปะทะกับความจริงที่แตกต่างของช่วงการเป็นนักศึกษาสายช่างช่วงนั้น เริ่มพร้อมกับบรรยากาศการบ้านการเมืองที่สะสมความครุกรุ่นสมัยสารพันจอมพลทหารยังเต็มบ้านเต็มเมืองและเต็มสภา ฯ ศิลปะการใช้ชีวิตจึงถูกเอ่ยว่าว่าอยู่ในยุค “แสวงหาข้อเท็จจริง” และ “เป็นส่วนหนึ่งของการขับเคลื่อน เป็นส่วนหนึ่งในการเปลี่ยนแปลงประวัติศาสตร์” เพราะ “ใครไม่ทำ เป็นคนล้าหลัง” โดยย้ำว่านั่นคือความคิดตนเองช่วงวัยรุ่น แล้วก็เป็นช่วงที่สังคมไทยปรากฏวรรคทองฮิตติดปากจาก ‘เพลงเถื่อนแห่งสถาบัน’ ด้วยที่ว่า
“ฉันเยาว์ ฉันเขลา ฉันทึ่ง ฉันจึง มาหา ความหมาย
ฉันหวัง เก็บอะไร ไปมากมาย สุดท้ายให้กระดาษฉันแผ่นเดียว”
“ใครไม่มี ไม่ทันสมัย ไม่มีจิตใจการต่อสู้เพื่อส่วนรวมเพื่อสังคมที่ดีขึ้น” ... อีกทั้ง “เป็นการเสียสละ” “เป็นกระแส” แม้คำ “๕ ย” (ผมยาว รองเท้ายาง ถือย่าม เสื้อยืด และกางเกงยีนส์) นี้ก็เช่นกัน อดีตนักเรียนหญิงผู้ไม่เคยมีชุดเที่ยว ไม่ถนัดงานศิลปะ แต่ก็ปรับตัวตนไปตามกระแสติสม์ยุค 70's แบบนั้นด้วยได้ โดยทิ้งคำศิลป์ให้แกะเองต่อแบบงง ๆ อีกหนึ่งว่า ... “โลกกว้าง มีสิ่งที่สัมพันธ์กับสังคม” ... อุ๊ !
และแล้ว เหตุการณ์เดือนตุลาฯ ๒๕๑๖ จึงได้มาเปิดโลกที่เคยพับเพียบเรียบร้อยไปอย่างสิ้นเชิง แม้ตนเองจะไม่ใช่นักต่อสู้แต่ก็ไปร่วมเพราะ “เราเป็นวิศวกรนะ ฟังข้อเท็จจริงด้านเดียว ไม่ชอบ” รวมถึงการที่ “เพื่อนถูกจับ” จึงเข้าร่วมเดินขบวนประท้วงกับเหล่านิสิตนักศึกษาจากทั่วประเทศเพื่อ “ไปพิสูจน์” ด้วยตนเอง
“ไปในฐานะรุ่นพี่ ติวน้องกลับมาสอบ เดินขบวนสำเร็จ การเรียนไม่เสียหาย” ... โอ้มายก๊อด !
ประโยคเดียวจบในตัวนี้ หากรุ่นน้องได้ยินคงอยากจะเปล่งวาจาเยลรอบกองไฟให้ว่า “สุดยอดพี่อ๊าร์ต พี่อ๊าร์ตเยี่ยมจริง ๆ เยี่ยมจริง ๆ”
“ปี ๑ เกรดสี่ทุกตัว ปีสองเดินขบวน เกรดตก” ... อ้าว !
(ถึงกระนั้นก็ยังจบปริญญาตรีด้วยเกียรตินิยมอันดับสองได้อยู่)
แล้วจะมีใครนึกภาพออกไหมว่า ติวเตอร์วิชาการหญิงที่ดูนุ่มนิ่มผู้นี้จะเป็นอย่างไรกับเหตุการณ์เดือนตุลาฯ เมื่อ ...
“ได้รับแต่งตั้งเป็น ‘ฝ่ายรักษาความปลอดภัย’ !”
เพราะไม่ได้รักษาสถานการณ์อยู่คนเดียว หมายถึงเหล่าหนุ่มสาวในชุดนักศึกษาผู้มาเดินขบวนร่วมกันประสานมือล้อมเพื่อ “ปกป้องประชาชน” ‘ผ้าพับไว้’ จึงสะบัดพัดไสวด้วยจิตใจที่ฮึกเหิมร่วมไปกับเขาด้วยได้
“ระเบิดลงตู๊ม” ... เสียงระเบิดลูกแรกในชีวิตกับนักศึกษามือเปล่าบนถนนย่านสยามแสควร์ กลายเป็นจุดหักจุดเปลี่ยนทางจิตใจเพราะ “กระตุกความรับผิดชอบกลับมา” ... รถพยาบาล คนบาดเจ็บ เหตุชุลมุน ผู้คนมากมาย ฯลฯ คือสารพันหน้าความรู้ใหม่ที่ไม่มีอยู่ในหนังสือจึงทำให้รู้สึกตนเองว่า “กล้าหาญมากขึ้น” กล้าที่จะ “เจ็บด้วยกัน”
เมื่อเหตุการณ์ลากยาวมาถึงวันที่ ๑๓ ตุลา ฯ วันที่ฝนตกเปียกปอน ฝ่ายรักษาความปลอดภัยสาวน้อยในอดีตผู้นั้นจึงไม่รอด “เป็นไข้” ๑๔ ตุลา ฯ วันมหาวิปโยคจึงไม่ได้สัมผัสเต็มที่นัก กระทั่ง “ชนะ” “ผู้มีอำนาจออกนอกประเทศ ...ฯ” เป็นอันว่า “จบคือจบ” ตบท้ายด้วยคำว่า “เรียนรู้” ปิดหน้าหนังสือแห่งชีวิตเล่มแรก หลังจากนั้นแยกย้ายกลับสู่บรรยากาศการเรียน ออกค่าย ทำกิจกรรม ค้นหาความหมาย บ่มเพาะกันต่อไปกับว่าที่วิศวกรหญิงรุ่นแรกของมหาวิทยาลัย
เช่นเดียวกับผู้คนทั่วไป ใครจะคิดว่าเหตุการณ์ที่สังคมเข้าใจไปแล้วว่า “ชนะ” นั้น ได้ไปจุดกระแส “เอาคืน” อย่างเลือดเย็นของผู้มีอำนาจติดอาวุธในอีกสามปีข้างหน้ากับเหตุการณ์ ๖ ตุลาฯ พ.ศ.๒๕๑๙ อันเป็นปีที่สตรีผู้นี้สิ้นสุดการศึกษาขั้นต้นของ “กระดาษแผ่นเดียว” พอดี โดยเลือกข้ามฝั่งถนนเข้าทำงานยังการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค ณ ทุ่งงามวงศ์วานต่อ แต่แล้วยังได้กลับมาพบกับเหตุการณ์ราวกับว่ามี “กระดาษอีกแผ่น” ที่สำคัญกว่า เพราะหลังจากวันที่บาซูกาถูกยิงถล่มเข้าไปในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ ...
“เพื่อนบอกมีชื่ออยู่ในลิสต์ (list) ... กลัวถูกจับ”
จึงได้เวลาพาตนเองเข้าสู่พงพนาอันกว้างใหญ่ที่ไม่เคยมีวี่แวว ไม่มีตัวอย่าง ไม่มีภาพศิลปะใดที่ผู้เป็นพ่อจะเคยวาดให้ลูกสาวคนโตเดินหายไปในป่าทึบอย่างแน่นอน ภาพวาดแบบนั้นไม่เคยมี แต่อิมเพรสชันนั้นกำลังจะกลายเป็นภาพจริง เพราะคำตอบจากที่ถามว่า “แล้วที่บ้านรู้ไหม ?” คือ ... “ก็หนีสิคะ” !
วิศวกรหญิงที่เพิ่งรู้จักและหลงรักค่ายอาสาพัฒนาเข้าหาผู้คนผู้ถูกกดขี่ บัณฑิตด้านไฟฟ้าที่เพิ่งรู้จักระบบโซตัส (ดั้งเดิม) อันอบอวลด้วยความรักจากรุ่นพี่ พี่สาวคนโตของบ้านที่เพิ่งสลัดภาพ ‘หนอนหนังสือ’ แบบเต็มตัวมาเป็นหนอนความรู้ช่วยติวเพื่อนฝูงและรุ่นน้อง ... ใครจะคาดคิดว่าผู้ที่มีชีวิตเรียบง่ายราวกับผ้ารีดเรียบ เรียบร้อยเหลือเกินคนนี้ จะเลือกวาดถนนชีวิตของตนให้ออกไปผจญกับเสียง “ตูม” จากทั้งกับระเบิดฝังดินและที่ปล่อยลงมาจากเครื่องบินรบอีกมากมายหลายลูกอยู่ในป่าสองฝั่งโขง
“เรียนให้ดี งานดี แต่งงานมีครอบครัว ... ไม่ได้เป็นส่วนหนึ่งของชีวิตเรา” “ทำยังไงให้ประเทศดีขึ้น”
คือสองประโยคคำตอบท้าย ผลจากการตั้งคำถามด้วยความสงสัยอย่างยิ่งถึงศิลปะการใช้ชีวิตและตัวตนคนที่ชื่อ ‘อ๊าร์ต - อัศนีย์ ก่อตระกูล’ ก่อนวันที่จะเปลี่ยนการเรียกขานตนเองให้เหลือเพียง ‘สหายตะวัน’
“ดอกหาง นกยูง สีแดงฉาน
บานอยู่ เต็มฟาก สวรรค์
คนเดิน ผ่านไป มากัน
เขาด้น ดั้นหา สิ่งใด”
-- (จบภาค ๓)
Woman in Science & Engineering - The Series 2022
“เรียนรู้ประวัติศาสตร์ เพื่ออนาคตที่ผิดพลาดน้อยลง”
ร่วมสนับสนุนกิจกรรมถ่ายทอดประสบการณ์สาธารณะ รวมทั้งข้อคิดเห็น คำแนะนำ ฯ ได้ที่
Email: thailand_chapter@comsoc.org
Comments