top of page
QICTechFACTcheckLoGoWhite-2021.jpg

(Final - EP7) หัวใจไม่ยอมแพ้ “อีกสักตั้ง” | Woman in Science & Engineering 2022 | อัศนีย์ ก่อตระกูล

‘อัศนีย์ ก่อตระกูล’ ในวัยเกษียณคือผู้ผ่านชีวิตทรหดมาหลายทศวรรษ เป็นต้นแบบสตรีแกร่งสร้างแรงบันดาลใจให้กับรุ่นหลังผู้ที่กำลังจะเลือกเส้นทางอนาคตสายวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีได้เป็นอย่างดี วิถีการดำเนินชีวิตมีมากมายเกร็ดที่น่าสนใจ ลองศึกษาและฝึกทำตามอย่างกันได้ (เว้นไว้หนึ่งกรณีกับการไปอยู่ในป่าห้าปี อาจไม่จำเป็นแล้ว !)

๐ สร้างตัว สร้างงาน สร้างคน ๐

หลังจากกลับจากแดนซามูไรด้วยสมองและหัวใจที่เต็มเปี่ยมไปด้วยความพร้อมเพื่อการถ่ายทอดความรู้และเริ่มงานวิจัย ‘ดร.อัศนีย์ ก่อตระกูล’ ถือไม้บรรทัดจัดเสกลแห่งชีวิตกลับมาด้วยเพื่อใช้ทั้งวัดผลการพัฒนาตนเองและเทียบวัดการสร้างคนอย่างเข้มข้นกันต่อราวกับเป็นไม้เรียวไปในตัว สำหรับภาระการเรียนการสอนนั้นว่ากันไปตามประสา ทว่า งานวิจัยสาขาการประมวลผลภาษาธรรมชาติที่ใหม่เอี่ยมไม่เป็นที่รู้จักมักคุ้น จึงกลายเป็นอาจารย์ที่ปรึกษาโครงงานวิทยานิพนธ์สุดเหงาของภาควิชาวิศวกรรมคอมพิวเตอร์ สาขาที่กำลังทยอยแยกตัวออกมาจากวิศวกรรมไฟฟ้าของมหาวิทยาลัยทั้งแปดแห่งหลักทั่วประเทศ

“ผมจบ senior project (โครงงานวิทยานิพนธ์) การประมวลผลภาษาธรรมชาติ - สัมภาษณ์งานตก !”

นั่นคือคำระบายจากบัณฑิตช่วงเริ่มสร้างทีมสมัยที่ยังมีแค่เครื่องคอมพิวเตอร์ประจำโต๊ะ ยังไม่ถึงยุคสื่อสารกันเป็นเครือข่าย ยังไม่มีเครื่องตั้งตักหรือมือถือ นิสิตบอกต่อกันรุ่นต่อรุ่นว่าเสี่ยงจึงเลี่ยงที่จะเลือกห้องทำงานนี้กัน แต่พลันเพิ่มชื่อสุดฮิตพ่วงท้าย


“เติมคำ Intelligent Information System (ระบบสารสนเทศอัจฉริยะ)”


ทำให้ติดลมบน เคยมีลูกศิษย์มากถึง ๒๕ ถึง ๓๐ คน อยู่ในห้องทำงานที่นำบรรยากาศแบบอย่างมาจากญี่ปุ่น สุมงานร่วมกันทั้งกลางวันกลางคืน จึงทยอยสร้างสรรค์ผลลัพธ์ตามออกมาอย่างมากมาย โครงการขอทุนวิจัยก็ขยับขยาย กิจการวิจัยสาขาใหม่นี้จึงฮิตติดตลาด ยิ้มเอ่ยว่า “เป็นความภูมิใจร่วม”


ตามด้วยการยกเพดานสู่ระดับปริญญาโทและเอก ผลงานจึงต่อยอดทบสูงขึ้นไปอีก นักศึกษาที่ผ่านการขัดเกลาด้วยไม้บรรทัดสร้างคนอันเถรตรงจากมืออาจารย์สายป่าและซามูไรญี่ผู้นี้ เข้าร่วมการแข่งขันวิชาการคราใดมักได้รางวัลติดมือกลับมา และมากถึงขนาดที่หัวหน้าห้องปฏิบัติการ (lab) ใช้คำว่า “เยอะแยะ !”

“World Imagine Cup (การแข่งขันที่สนับสนุนโดยบริษัทซอฟท์แวร์ดังของโลก) ได้ที่หนึ่ง การประมวลผลภาษาธรรมชาติ”


“ภูมิใจยิ้มจนแก้มปริ คือความสำเร็จของลูกศิษย์”


แล้วเมื่อชำเรืองไปรอบข้างต่อพบว่า


“เพื่อนอาจารย์ยิ้มยามเห็นลูกศิษย์ตนเองขึ้นนำเสนอผลงาน ในการประชุมวิชาการที่ต่างประเทศ”


ตู๊ม ! ระเบิดกลางใจที่ตั้งใจให้ดังขึ้นเอง จึงตามมาอีกลูก


“ฉันต้องทำให้ได้ หนักขึ้น ทำวิจัย เก็บเล็กผสมน้อย แล้วพาลูกศิษย์ไปเมืองนอกให้ได้”


เมื่อครั้งเงินทุนยังไม่พอสนับสนุนให้แต่ละคนแต่แรงขับกลับเหลือล้น “อยากให้เขาไปสัมผัสโลกทัศน์ภายนอก ... มีความทะเยอทะยาน”

เรื่องราวด้านความสำเร็จสารพันจึงทยอยมาถึง ทั้งหมดเป็นผลจากการทำงานหนัก แน่น นาน ด้วยจิตใจที่แน่วแน่ “กัดไม่ปล่อย” ไม่น่าแปลกใจแต่อย่างใดกับครูช่างคนนี้แล้ว หนอนหนังสือก็ใช่ วินัยก็แน่นหนา หัวใจทะเยอทะยาน พลังงานราวกับไม่เคยหมด ความหรหดก็ไม่ต้องพูดถึง ความสุขจากผลที่ได้จึงปรากฏ แต่ แต่ แต่ ... ความเสียใจอีกด้านนั้นหรือมีด้วยเช่นกัน !


“ความเป็นไม้บรรทัดที่ร้อนเกินไป คนที่เราสัมผัสเขารับได้หรือไม่ได้ ?”

น้ำเสียงหม่นหมองเอาเรื่องยามเล่าอดีตแนวนี้ รอยยิ้มไม่มีราศีหดหาย วิถีการสร้างคนที่ผสมผสานจากการฝึกฝนตนเองจากป่าที่เหลาเป็นไม้นำทางชีวิตแล้วนำไปขัดเกลาเหลาเลี่ยมอีกหลายปีที่ต่างประเทศ เมื่อนำกลับมาใช้แม้ “วิธีการนี้จะใช้กับคนอื่นได้” และสำเร็จได้เหมือนกัน แต่ส่วนหนึ่งกลับยังผลให้เกิดทุกข์กัดกินหัวใจ


“ทำให้เรากลับมาคิด มีวิธีการที่ดีกว่านี้ไหม” “เรารู้สึกเสียใจที่เขาไม่จบ” ...


ประโยคบอกเล่าที่เศร้าจริง ๆ ของคนเป็นครูอาจารย์หากเรือจ้างนำพาผู้โดยสารไปส่งไม่ถึงฝั่งฝัน


แต่กระนั้น หากได้สนทนาเรื่องการงานกับวิศวกรสายเข้มแห่งทุ่งบางเขนนี้จะเศร้าก็เพียงสั้น ๆ ไม่นานนัก ไม่กี่อึดใจ หลักการอันทรงพลังจะกลับปรากฏแทนที่ เช่นทุกครั้ง

“หงุดหงิดทันทีเมื่อได้ยินคำว่า ‘ไม่’ ก่อนลงมือทำ หรือ ‘อย่าไปทำเลย’ มันยิ่ง challenge (ท้าทาย) ต้องพิสูจน์”


เป็นเรื่องปกติไปแล้วหากมีเหตุที่ต้องหาคำตอบอันเที่ยงแท้ไม่ว่ากับชีวิตช่วงใด การลองของ “สักตั้ง” แบบนี้จะตามมา ตั้งแรกกับการตัดสินใจเข้าป่านั่นคือครั้งใหญ่ที่ได้ลองพิสูจน์นานถึงห้าปี และอีกหลายตั้งต่อ ๆ มายิ่งตอกย้ำความแกร่ง โดยเฉพาะยามได้ยินประโยคที่ใคร ๆ ชอบพูดกันนักว่า “ผู้หญิงสู้ผู้ชายไม่ได้” จึ่งนับจำนวน 'ตั้ง' ไม่ถ้วนเสียแล้วที่เคยได้ “พิสูจน์จากการกระทำของเรา” !


สำหรับภารกิจระดับประเทศ อาจารย์อัศนีย์เล่าถึงโครงการขนาดยักษ์ด้านมาตรฐานข้อมูลไอทีที่ทำต่อเนื่องมานานกว่าสิบกว่าปีว่าเพิ่งจะได้การยอมรับ ส่วนข่าวคราวปัญหาบ้านเมืองในแต่ละวันที่เกี่ยวข้องกับปริมาณข้อมูลขนาดมหึมา เช่น มลพิษทางอากาศกับปัญหาสุขภาพที่สัมพันธ์กับการวิเคราะห์ข้อมูลรอบด้านเพื่อนำไปใช้ป้องกันภัยและอื่น ๆ นั้น อดีตหัวหน้าทีมข้อมูลสารพัดอัจฉริยะ (Smart health, smart farm และอีกสารพันสมาร์ท) ของเมืองไทยผู้นี้เปรยว่า


“เศร้าใจ ลงทุนบิ๊กดาตา (big data) มากมาย แก้ปัญหาดูแลประชาชนเชิงป้องกันไม่ได้เลย ทุกอย่างมีร่องรอยของปัญหา หาต้นตอได้ไม่ยากถ้าจะทำจริง ๆ”

และนั่นคือหนึ่งในเหตุผลที่เกษียณอายุราชการแล้วยังคงทำงานอยู่ “เพราะยังไม่เห็นผลความสำเร็จที่วาดหวังเอาไว้”

... แม้ผลงานปรากฏตลอดช่วงชีวิตรับราชการมามาก แต่ใจยังไปไม่ถึงเส้นชัย คงต้องใช้งานสังขารที่บ่มเพาะความรู้และประสบการณ์มายาวนานนี้กันต่อ จึงยังนั่งทำงาน เรียนรู้ สอบ ประชุม ฯ เช่นเดิมต่อไปแม้จะเข้าสู่วัยหกสิบท้าย ๆ แล้ว


(อนึ่ง ผลงานความสำเร็จต่าง ๆ อาจเว้นไว้มิต้องสาธยาย เพราะกูเกิลบอกเรื่องราวเหล่านั้นไว้มากแล้วนั่นเอง ค้นเมื่อใดสารพันกิจกรรมงานจะโผล่ขึ้นมาเต็มจอ)

๐ เรื่องของหัวใจ ๐

ก่อนปิดจบการสนทนากับเดินทางย้อนเวลา มีของฝากให้กับนักเรียนหญิงที่จะเลือกเส้นทางการเรียนสายช่าง นักศึกษาหญิงที่กำลังจะจบไปทำงาน หรือผู้ที่กำลังหาต้นแบบชีวิต ... รศ.ดร.อัศนีย์ ก่อตระกูล แนะเบา ๆ แต่เข้มเหลือเกินมาให้ว่า


“อย่าพูดคำว่าไม่” “เวลารับผิดชอบ ต้องทำให้ดีที่สุด และอย่าเพิ่งคิดถึงประโยชน์เป็นที่ตั้งหรือสิ่งที่เราจะได้รับ”


และ “ความเก่งจากการทำงานหนักไม่ได้อยู่ที่ใครอื่นเลย อยู่ที่ตัวเรา”


อืมมม ... สารพันข้อแนะนำเหล่านี้ดูเหมือนว่าได้ขีดเขียนไว้บนไม้บรรทัดแห่งชีวิตตนเองที่เคยร่ายเรื่องยาวออกมาหลายตอนก่อนหน้าแล้ว แบบเดียวกันเป๊ะ ! ดังนั้น วัยรุ่นหญิงใดกำลังมองหาไอดอลสู่เส้นทางอนาคต จึงควรทดลองหยิบไม้บรรทัดเล่มเดียวกันนั้น (หกตอนก่อนหน้า EP1 - EP6 ลิงก์ด้านท้าย) มาปรับใช้กันดู


กระนั้น ความอยากรู้ของเด็กหญิง นักศึกษาหญิง หรือบัณฑิตหญิงจบใหม่ คงอยากได้ข้อแนะนำลึก ๆ กับ 'เรื่องส่วนตั๊วส่วนตัว' ด้วยเป็นแน่ การสนทนาแนวนั้นกับสุภาพสตรีผู้เรียบร้อยมากคนนี้เป็นเรื่องต้องหายใจเข้าลึก ๆ เช่นคำถามต่อจากนี้หากใครมีโอกาสได้เอ่ยคงต้องรวบรวมความกล้าอย่างมากเช่นกัน


“มีประโยคมาตรฐาน (จากคนอื่น ๆ) ที่ชอบพูดกันว่า ผู้หญิงเก่งมักจะไม่แต่งงาน ! เอิ่ม ... อือ ...​ อ่าาา”

คำตอบที่ได้จึงเป็นแบบมาตรฐานเช่นกัน มาเป็นข้อประการย่อยราวกับเตรียมไว้ให้ล่วงหน้าแล้ว ทั้ง


"๑) ผู้หญิงเก่ง คนอื่นอาจไม่ชอบเข้าใกล้ เพราะ ๒) ผู้หญิงเลือกได้มากขึ้น เมื่อตนเองเก่งก็เป็นสิทธิ์เพราะแข็งแกร่งที่จะเลือกอยู่กับตนเองได้ (ไม่ต้องพึ่งพาผู้ชาย)" แล้วก็ “หากใช่ก็คือใช่ ถึงเวลาก็มีเอง !”


“เอิ่ม ... อือ ... ​อ่าาาา”


๐ คุณหญิงอ่อนปฏิเสธ ๐

การเข้าใจเรื่องหลังบ้านของผู้ประสบความสำเร็จมักเป็นที่สนใจไม่แพ้เรื่องราวด้านหน้าเช่นกัน เรื่องเล่าชีวิตส่วนตัวของการเป็นสตรีแกร่งแจงหลายมุมแบบสบาย ๆ มีด้วยเหมือนกัน


“เมื่อไหร่ได้ทำงาน ความทุกข์จะถูกแทรก ไม่มีเวลาที่จะหมกหมุ่นกับตนเอง”

ทำให้มีสมาธิขั้นสูงอยู่กับงานอยู่กับวิชาการและภารกิจสารพัดของสังคม แต่ว่า การอยู่กับงานนานมากจนหยุดเองไม่ได้ เก็บของหลังเกษียณแปดปียังคงไม่แล้วเสร็จแบบนั้น จะกลายเป็นผู้สูงวัยที่แฮงก์ปรับตัวยากไหม ? คำตอบที่ได้คือ

“ยังไม่ถึงตรงนั้นเลย” “เตรียมตัวอย่างไร” “ใช้ชีวิตให้ช้าลง”

“... (นั่นไงล่ะ) ...”

ดังนั้น ดูเหมือนว่าพรรคพวกหมู่สหายจำต้องเรียกฉายาเพื่อนคนนี้ว่า “คุณหญิงอ่อนปฏิเสธ” ต่อไปอีกนาน


แต่ที่แน่ ๆ คงไม่เหมือนฝั่งตัวอย่าง “ชายสูงวัย” ที่เคยสนทนาก่อนหน้าแล้วกับกรณี ติดอำนาจ ไม่ยอมเลิกจากตำแหน่งหรือปล่อยการตัดสินใจสู่คนรุ่นหลัง กลายเป็นทั้งอุปสรรคและความทุกข์ของตนเอง ไม่อาจทำใจหลุดจากสิ่งที่ยึดติดมานานลงได้ กระทั่ง ได้สร้างจดหมายเหตุสีเทาให้กับสังคมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีไทย (เช่น บทบาทการสรรเสริญตนเอง การมอบรับรางวัลกันเองหรือผู้ให้กลายมาเป็นผู้รับรางวัลเดียวกันในภายหลัง เป็นต้น) เพราะอาจารย์อัศนีย์ไม่ติดกับตำแหน่งบริหารหรือมีอำนาจให้คุณให้โทษกับใคร และโดยอุปนิสัยผ้าพับไว้ที่ผ่านมาถึงวัยเกษียณปรากฏชัดในตนเอง ถึงพร้อมด้วยคติพจน์ที่ว่า “ละคำสรรเสริญ ลดอัตตา รักษาวินัย” จึงผ่านกรณี ติดอำนาจ แบบที่เกิดกับชายสูงวัยตัวอย่างจำนวนมากนั้นไปโดยปริยาย


และจากการเป็น “คุณหญิงอ่อนปฏิเสธ” มาโดยตลอดนั้น ทศวรรษก่อนหน้าวัยเกษียณเคยได้รับการจีบงานครั้งใหญ่โดยวิศวกรหนุ่มใหญ่ผู้เป็นรุ่นน้อง เมื่อครั้งเข้ารับหน้าที่อำนวยการศูนย์วิจัยแห่งชาติจึงมาเชิญให้ 'พี่อาร์ต' ไปช่วยงานฐานะรองผู้อำนวยการเพื่อสานความสัมพันธ์หน่วยงานวิทย์กับภาคการศึกษา แน่นอน ! ยิ่งมีใครร้องขอให้ช่วยแบบนี้ยิ่งได้คำตอบเน้นย้ำฉายาการเป็นคุณหญิงพยักหน้าเสมอ โดยประโยคแนะนำตัวทีมงานใหม่ของผู้อำนวยการบริหารศูนย์วิจัยฯ บอกครบทุกเรื่องในตัวเองแล้ว

“อาจารย์อัศนีย์เป็นรุ่นพี่ผมที่เกษตรฯ ชอบช่วยเหลือคนอื่น จะมาช่วยงานพวกเรา”

‘คุณหญิง’ ตำแหน่งจำแลงที่เหล่าเพื่อนสนิทตั้งให้ท่านนี้จึงปฏิเสธได้แค่เพียงการพักผ่อนเท่านั้น เพราะต้อง “นอนน้อยมาก” ไปถึงแปดปี วิ่งรอกสองหน่วยงานแบ่งเวลาด้วยรอยยิ้มตลอดช่วงการประสานภาคส่วนใหญ่ของวงการวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีกับมหาวิทยาลัยและภาคผู้ใช้ผลงานอื่น ๆ เช่น หน่วยงานด้านสาธารณสุข การเกษตร สถิติ มาตรฐานข้อมูล ฯลฯ ก่อนจะกลับมาเกษียณที่ห้องทำงานเดิม

๐ พลังใจ ๐

ขยับการสนทนาเรื่องส่วนตัวมาถึงคำถามท้ายเรื่องสุขภาพ โรคภัย และการจากไปของคนรู้จักที่ปรากฏบ่อยขึ้น ผลจากการทำงานหนักมาตลอดมีบ้างเหมือนกันกับ

“โรคเครียด บางทีก็ไม่รู้ตนเอง”

แต่สุขภาพทั่วไปที่ปรากฏนั้นยังเยี่ยมกว่าผู้มาเยี่ยมเยือนใด ๆ ทั้งอาหารการกินที่ไม่มีข้อจำกัด ผลการตรวจร่างกายก่อนหน้าและสภาพร่างกายภายนอกชัดเจนว่า ยังคงเป็นไม้บรรทัดที่ตรงแน่วและแข็งแรงยิ่ง

การถ่ายทอดประสบการณ์ชีวิตของอาจารย์อัศนีย์เริ่มตั้งแต่ต้นมาถึงกลางปี พ.ศ. ๒๕๖๕ ปีโควิด ๑๙ จางลงมากแล้ว เรื่องราวของอดีตสาวน้อยวัยยี่สิบสองช่วงเข้าไปใช้ชีวิตในป่านั้นยังคงได้รับการรื้อฟื้นโดยเหล่าสหาย “สาววิศวะ” วัยเกษียณอย่างออกรสออกชาติ ทยอยรำลึกออกมาจากวงสนทนาที่มีนัดกันเป็นประจำทุกเดือน ภาพจากป่าจึงชัดเจนมากขึ้น หลายข้อมูลเก่าที่ยังเบลอ ๆ หรือลืมเลือนกันไป เช่น เดือนปีของเหตุการณ์ เครื่องบินรบทิ้งระเบิด หรือสภาพความเป็นอยู่ในป่า ฯ มีโอกาสปรับจูนได้บ่อยครั้ง แต่ระยะหลังขาดช่วงหายไป


กระทั่งทราบเหตุว่ากลายเป็นผู้ติดเชื้อไวรัสช่วงสั้น ๆ กระนั้น ประโยคบอกเล่าคงความเป็นไม้บรรทัดที่แข็งแกร่งเช่นเดิมยามหายขาดจากโควิดนั้นแล้ว

“กลับมายังไม่เหมือนเดิมค่ะ ทำงานแล้วขาดพลังไปเยอะค่ะ”

“นั่น !” ... อย่างไรก็อยู่กับว่า “งาน” เป็นหลัก แม้เจ้าไวรัสได้พรากพลังงานไปมาก แต่ยังมุ่งมั่นอยู่กับคำนี้ไม่ขาดหายทุกการสนทนาเลยจริง ๆ

ทว่า อีกหลายครั้งกับการตรวจสอบข้อมูลเหตการณ์ ๖ ตุลาฯ บางช่วง การถามไถ่รอบท้ายมีสัญญาณสั่นไหวจนหวั่นใจว่าสุขภาพที่แข็งแกร่งแต่จางหายซึ่งพลังงานไปนานนั้นอยู่ในสถานะใดกันแน่ ? คำตอบที่ได้หากสหายผู้ใดมีโอกาสรับฟังคงอึ้งไปครึ่งวันเหมือน ๆ กัน ... ยอมเอื้อนเอ่ยเหตุที่เงียบไปว่า “ช่วงนี้โรครุมเร้าเหมือนกัน เพิ่งไปตรวจมา” พ่วงด้วยคำ


“ลิ้นหัวใจ” “กล้ามเนื้อหัวใจ ... บางส่วน”


หญิงแกร่งก็คือหญิงแกร่ง ตั้งแต่วัยเด็กจนเลยวัยเกษียณยังคงแผ่รัศมีความแกร่งและทำให้คนรอบข้างยิ้มตามได้เสมอ ปิดท้ายการสนทนากิจกรรมถ่ายทอดประสบการณ์ประจำปีนี้กันแล้ว 'คุณหญิงแกร่ง' ตอบคำถามเรื่องสุขภาพเพิ่มเติมโดยบอกเป็นแบบแผนชีวิตแนวเดียวเป๊ะ ๆ กับที่เคยผ่านมาอย่างทรหดให้ยิ้มได้อีกว่า

“ตั้งใจจะสู้กับโรค แบบมีวินัย อีกสักตั้ง !”

-- ‘อาร์ต’ ‘สหายตะวัน’ ‘สหายชีวา’ ‘อัศนีย์ ก่อตระกูล’

(ธันวาคม ๒๕๖๕)

 

Woman in Science & Engineering - The Series 2022

“เรียนรู้ประวัติศาสตร์ เพื่ออนาคตที่ผิดพลาดน้อยลง”


ร่วมสนับสนุนกิจกรรมถ่ายทอดประสบการณ์สาธารณะ รวมทั้งข้อคิดเห็น คำแนะนำ ฯ ได้ที่

Email: thailand_chapter@comsoc.org

 
  • Facebook page
bottom of page