top of page
QICTechFACTcheckLoGoWhite-2021.jpg

(EP1 - เกริ่นนำคนธรรมดา)|Woman in Science & Engineering 2022 | อัศนีย์ ก่อตระกูล |

กิจกรรมการถ่ายทอดประสบการณ์ชีวิตจากวิศวกรอาวุโส

(เกริ่นนำคนธรรมดา) - อดีตพนักงานการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคบัณฑิตหมาด ๆ จากรั้วนนทรี ทำงานได้ไม่กี่เดือนเหตุการณ์ ๖ ตุลาฯ ๒๕๑๙ พาให้เปลี่ยนหน้าที่ไปถึงห้าปีกับการมีชีวิตอยู่ในป่าอีสานข้ามฝั่งโขงในนาม “สหายตะวัน" ผ่านน่านย้ายมาเชียงรายชื่อจัดตั้งใหม่ว่า “สหายชีวา” เคยร่วมทับเดียวกับ “นายผี - อัศนี พลจันทร” บุรุษผู้ที่มีชื่อออกเสียงและความหมายถึงสายฟ้าคล้ายกัน ต่างกันที่คนหลังเคยเป็นอัยการผู้ช่วยและกวีผู้แต่งเพลง “เดือนเพ็ญ” เมื่อครั้งอยู่ในป่า ส่วนสตรีผู้นี้คือวิศวกรหญิงรุ่นแรกจากรั้วเกษตรศาสตร์ผู้แต่งตำราเรียนในสาขา “วิศวกรรมคอมพิวเตอร์” หลังกลับมาอยู่ในเมือง


ชีวิตนักเรียนไม่เคยมีชุดเที่ยวกระทั่งจบ มศ.๕ โรงเรียนสตรีล้วนติดกับอนุสาวรีย์และถนนแห่งประชาธิปไตย เป็น-อยู่-คือ ‘หนอนหนังสือ’ อ่านเขียนเรียนซ้ำ ๆ “นับสิบรอบ” จนแตกฉาน มีความสุขกับการเป็นหนอนผู้ชอนไชความรู้อยู่บนหน้ากระดาษเหล่านั้น จนถึงกาลที่ได้ออกมาเปิดตากับโลกกว้างปะทะกับความจริงที่แตกต่างจากตำรา เมื่อเข้าหาเหตุการณ์เดินขบวน ๑๔ ตุลาฯ ๒๕๑๖ ในชุดนักศึกษากับหน้าที่ “The Bodyguard” กางแขนประสานมือล้อมพร้อมดูแลประชาชน ทั้งที่ตัวตนคือผ้าที่พับไว้ผืนเรียบ ๆ


“ระเบิด” ตูมแรกย่านสยามสแควร์เปลี่ยนทัศคติไปแบบพลิกชีวิต “สังคมที่ถูกกดขี่ หากมัวแต่เรียนเป็นเพื่อนกับเพียงหนังสือ จะไม่รู้ ต้องออกค่ายทำกิจกรรม”

“ระเบิด” ตูมถัดมา ๖ ตุลาฯ ๒๕๑๙ ได้เวลาพาตนเองหนีที่บ้านเข้าป่าเพื่อ “ค้นหาความหมาย” เพราะ “อยากพิสูจน์” และ “ขอสักตั้ง” “ถ้ายังไม่สามารถปลดปล่อยชนชั้นได้ จะไม่กลับบ้าน” ... มีสายน้ำ ท้องฟ้า ทุ่งนาและขุนเขาเป็นมหาวิทยาลัยชีวิตที่สะท้อนวิถีป่าและชาวนาได้อย่างสุดซึ้ง จนหล่อหลอมจิตใจวัยสาวไปสู่ความแข็งแกร่ง อดทน เรียบง่าย แทนที่จะเป็นเวลาของ “วัยที่สวยที่สุดกับช่วงอายุยี่สิบกว่า ไม่เคยได้เห็นหน้าตนเอง” เพราะป่ามิใช่ห้องแต่งตัวหรือโต๊ะเครื่องแป้ง


“ระเบิด” ที่ตูมต่อมามอบความเข้าใจให้แล้วหนากับคำว่า “ขวัญ หนี ดี ฝ่อ” ที่มาพร้อมกับ “ความรัก ความจริงใจ” ของเหล่าสหายร่วมอุดมการณ์ที่ช่วยดูแลซึ่งกันและกันยามห่างไกลบ้าน โดยไม่รู้ว่า “จะมีวันพรุ่งนี้อีกหรือไม่” แล้ววันไหนที่คิดถึงบ้าน เหงา เศร้า ... “วิ่งขึ้นภูเขา ร้องไห้ ๆ จบ ๆ ปิดสวิตซ์ !”


กิจวัตร ณ กลางป่า ความรู้เกียรตินิยมด้านวิศวกรรมจากกระแสไฟฟ้าที่ติดตัวมาจำต้องปลิดทิ้งไป หน้าที่ใหม่เลือกเส้นทางที่เคยเป็นเป้าหมายชีวิตเดิมทำหน้าที่อยู่ในโรงหมอดูแลผู้ป่วยและสอนลูกหลานชาวนากับการจ่ายยาพร้อมพื้นฐานภาษาอังกฤษ แล้วก็มีโอกาสเป็นคนไข้เสียเองด้วยเคสที่ (หนัก) ไม่ต่างจากจากการถูกระเบิดกับการผ่าตัดไส้ติ่งท่ามกลางขุนเขาธรรมชาติ

“เพราะไม่ได้คาดหวัง จึงไม่ผิดหวัง”

เมื่อเสียงระเบิดจางหายได้เวลาย้ายตัวตนแบบที่ไม่ใช่ “คนอกหัก” กลับสู่เส้นทางวิศวกรกับภารกิจสอนหนังสือในสถาบันเดิมที่จบมา พร้อมกับเขย่าวิชาช่างศึกษาต่อโทรคมนาคมระดับปริญญาโท กระทั่งต่อเนื่องไปสู่ประเทศญี่ปุ่นที่ทุกมุมสังคมมีแต่ผู้ชายเป็นใหญ่ กว่าสี่ทศวรรษก่อนดินแดนซามูไรแห่งนั้นผู้หญิงจบปริญญาตรีคือสิ้นสุดการศึกษาสู่การมีครอบครัว หนุ่มญี่ปุ่นทั้งหลายจึงมั่นใจได้ทันทีว่าสตรีผู้กล้ามาเรียนระดับดุษฎีผู้นี้คือนักศึกษาจากต่างชาติ


ช่วงชีวิตต่างแดนต้องสู้กับตนเองอย่างหนักและยาวนานทั้งภาษาถิ่นและวิทยาการภาษาธรรมชาติ สาขาเทคโนโลยีแขนงใหม่เอี่ยมที่เลือกเรียน แถมท้ายด้วยเหตุการณ์ “ตูม” ใหญ่อีกครั้งกับการถูกส่งเข้าไอซียูค่ำคืนก่อนวันสอบปริญญาเอก พ่วงประกาศิตจากอาจารย์ผู้ดูแลสำทับว่า “ต่อให้คลานมา ก็ต้องมาสอบ ไม่เลื่อนสอบ !”


แต่แล้วในที่สุด หญิงแกร่งผู้ก็นี้ผ่านมาได้ทุกการระเบิดน้อยใหญ่ทั้งนอกและในจิตใจที่มารบกวน ทั้งช่วงวัยเรียน วัยค้นหาความหมาย หรือวัยทำงาน ...

“ไม่มีอะไรที่ทำไม่ได้ เราผ่านมาแล้ว !”

วิธีการหล่อหลอมตนที่เคี่ยวข้นจากอดีตหลายบทเรียน ได้นำมาสร้างเป็นไม้บรรทัดจัดเส้นทางชีวิตงานที่รออยู่ข้างหน้าด้วย กระทั่งประสบผลสารพันอย่างภาคภูมิกับช่วงเวลาต่อ ๆ มา แต่ ... แต่ แต่ระดับมาตรวัดที่สูงยิ่งนั้นได้ลิขิตมุมชีวิตไม่พึงประสงค์ให้ด้วยเช่นกัน เพราะ “ความเป็นไม้บรรทัดที่ร้อนเกินไป ... คนที่เราสัมผัสเขาอาจทั้งรับได้และไม่ได้” ความสำเร็จเหล่านั้นจึงมีบ้างที่พ่วงมากับความเสียใจ


แม้ไม่เคยพบเห็นใบหน้าผุดผ่องของสตรีผู้มีจิตใจดีคนนี้มีเส้นหยักจากความทุกข์ใด แต่เจอเข้าจนได้ยามเอ่ยถึงกรณีลูกศิษย์ “ยกธงขาว” ยอมแพ้ออกจากเส้นทางการศึกษาไป ... คนเป็นครูเป็นอาจารย์จะมีอะไรเล่าที่ทำให้ทุกข์ใจได้มากเท่าการส่งศิษย์ไม่ถึงฝั่ง ไปไม่ถึงเส้นชัย

และนั่นก็ทำให้หญิงแกร่งผู้ฝึกตนผ่านโลกมาอย่างเข้มข้นผู้นี้ ยังต้องหวนทวนมาตรวัดของตนว่า ไม้บรรทัดเล่มที่เหลามาจากป่าและเกลาจนเลี่ยมจากนาโกยาอันนี้นั้น “ยังจะมีทางเลือกอื่นที่ดีกว่าไหม ?”

การได้พบปะ ร่วมงาน สนทนา เดินทาง ฯลฯ หลายช่วงหลังได้พบคำพูดที่ราวกับว่า อาจารย์โรงเรียนช่างผู้นี้ได้ถอดแกะสารพันสไลด์รูลหรือมาตรฐานของชีวิตที่แตกต่าง วางหน่วยวัดจัดเสกลแนวใหม่อย่างหลากหลายแล้ว อาทิ “เปลี่ยนลบไปเป็นบวก” หรือการปรับที่ตนเองจากท่ามกลางโลกของนายช่างที่ห้อมล้อมอยู่ของสังคมที่ยังไม่เท่าเทียม ... “ผู้ชายเป็นใหญ่ ก็ปล่อยให้เขาเป็นใหญ่ไป เราเป็นใหญ่ในใจของเราเอง” “ฉันต้องทำให้ได้” “สู้กับตัวเอง” “ชนะตัวเอง” รวมทั้งประโยคสั้นวลีเด่นแนวที่เอ่ยใช้สร้างแรงขับเพื่อส่งต่อพลังให้คนรอบข้างก็ได้ยินซ้ำอยู่บ่อย ๆ ... บ่อยมาก บ่อยเสียจนเพื่อนฝูงและลูกศิษย์นำกลับมาทัก (และแอบแซวไปทั่ว) กับคำว่า “กัดไม่ปล่อย” “เมื่อขึ้นหลังเสือแล้ว ...

(ฮึ่ม !)”

หากใครจะขอให้แนะนำสตรีผู้นี้แบบสั้น ๆ อยากจะเกริ่นแบบห้วน ๆ แทนให้ว่า ‘วิศวกรข้อมูลสังคมมนุษย์ผู้ผ่านมาหลากมาตรฐาน หลายระดับงาน มากหน่วยวัด’ ... แล้วก็ผ่านมามากแบบที่ว่าไม่ใช่แค่สั่งแต่นั่งทำด้วยเลย อีกทั้งไม่ใช่เพียงเช้ายันเย็น แต่เลยไปถึงดึกจนบ่อยครั้งที่ข้ามไปเช้ามืด เพราะว่าหลายบททดสอบนั้นต้องพิสูจน์ให้ได้ด้วยตนเอง

“เราเป็นวิศวกรนะ ฟังข้อเท็จจริงด้านเดียว ไม่ชอบ ...”

ในที่สุด ผู้หญิงคนนี้ได้บุกเบิกสร้างทีมวิศวกรสายการประมวลผลภาษาธรรมชาติและเทคโนโลยีสารสนเทศอัจฉริยะหรือเอไอ กลายมาเป็นหนึ่งในห้องปฏิบัติการวิจัยและพัฒนาแถวหน้าของเมืองไทย อีกทั้งยังร่วมบริหารองค์กรวิจัยรวมทั้งจัดการหลากหลายโครงการประยุกต์เทคโนโลยีขนาดใหญ่ของประเทศ และสารพันงานระบบมาตรฐานทั้งของหลวงและงานอาสาที่เข้ามาอย่างมากล้น “ไม่เคยปฏิเสธใคร ใครขอให้ช่วยอะไรก็ช่วย” ช่วยจนเลยเวลาเกษียณอายุราชการมานานแล้ว ... ไม่พลาด ! สมญานามที่ฟังแล้วไม่แน่ใจว่าเจ้าตัวจะรู้สึกดีใจหรือฉงนใจ มิตรสหายจึงอวยยศตามมาให้ด้วยว่า

'คุณหญิงอ่ปฏิเส'


ส่วนเมื่อขอให้นิยามตนเอง ได้มาเพียงสั้น ๆ

“เป็นแค่คนธรรมดา ๆ คนหนึ่ง ที่ทำแต่วิชาการเงียบ ๆ”

-- - (จบภาคแรก )
 

Woman in Science & Engineering - The Series 2022

“เรียนรู้ประวัติศาสตร์ เพื่ออนาคตที่ผิดพลาดน้อยลง”


ร่วมสนับสนุนกิจกรรมถ่ายทอดประสบการณ์สาธารณะ รวมทั้งข้อคิดเห็น คำแนะนำ ฯ ได้ที่

Email: thailand_chapter@comsoc.org

 
  • Facebook page
bottom of page