top of page
QICTechFACTcheckLoGoWhite-2021.jpg
รูปภาพนักเขียนK Sripimanwat

(EP5) คนสองตุลาฯ “อัตตากับวินัย” | Woman in Science & Engineering 2022 | อัศนีย์ ก่อตระกูล

“วัยที่สวยที่สุดเราไม่เคยเห็นหน้าตัวเอง กระจกยังไม่มีเลย”
เมื่ออดีตวิศวกรการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคผู้ผ่าน ๑๔ ตุลาฯ และ ๖ ตุลาฯ มารับซึ่งการ “เลี้ยงดู ปูผ้ายาง กางเปลให้กับลูกหลานแห่งบ้านเมืองพื้น” จากสหายป่ารุ่นก่อนหน้ากลายเป็น "สหายตะวัน" เต็มตัวแล้วนั้น การปรับตัวกับสังคมป่าดูจะไม่ใช่เรื่องใหญ่มากนัก เพราะเคยหลงรักการออกค่ายไปเปิดโลกกับสังคมชนบทมาบ่อยแล้ว เมื่อต้องเข้าโรงเรียนละลายทัศนคติและร่วมทำกิจกรรมป่าสารพัน ใช้เวลาไม่นานเพื่อสลายตนไปกับวิถีชีวิตแนวใหม่นั้นได้ แล้วจึงเริ่มเดินเข้าสู่ความเสี่ยงซึ่งชีวิตบนเส้นแยกทางข้างหน้าที่ยังไม่เคยได้เปิดโลกมาก่อน ...

คล้ายดั่งคำกล่าวของเหล่าสหายอื่นที่ปรากฏต่อมาว่า ความคิดช่วงเริ่มต้นของการหนีความโหดร้ายเดินหันหลังให้เมืองมานั้น “มันเป็นจิตใจใสสะอาด ที่อยากเห็นสังคมที่เราปรารถนา อยากเห็นสังคมที่เราอยากได้” ผลจาก ๖ ตุลาฯเคยได้ทำให้สหายทั้งหลายเกิดอาการ “ความรู้สึกที่บรรยายไม่ถูก ตาแดง แต่ไม่มีน้ำตาไหลออกมา ทุกอย่างจุกแน่นอยู่ในอก” เพราะ ...

“...แค้น พวกมารก่อกรรมทำร้าย

มันเหยียบย่ำหัวใจ พรากเราหนีไกลแค้นในฤดี

ถ้าแม้นมีปีก หลีกห้องขังตะรางกาลี

มาจับปืนวันนี้ ร่วมน้องและพี่ประจัญผองภัย…”

(เพลงควนกาหลง)


ท้ายปี พ.ศ.๒๕๑๙ สหายตะวันเริ่มปรับวัยที่สวยที่สุดให้กลายเป็นวัยแห่งการเรียนรู้แบบสุด ๆ โดยต้อง “เอาชนะกับความกลัวไปด้วย เพราะไม่รู้ว่าวันพรุ่งนี้จะมีหรือเปล่า” ร่วมกับอีกมากชีวิตของสมาชิกพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย (พคท.) ที่เติบใหญ่ มากมายปัญญาชนทยอยมาเข้าร่วม ยิ่งบีบคั้น ยิ่ง “ฆ่าพิราบขาว” ยิ่งทำให้เกิดการเน้นย้ำวลี “ตาย ๑ เกิดล้าน”


๐ รู้เรียนใต้แสงตะวันกับดวงจันทร์ ๐

สหายหญิงสังกัดทับหมอฐานปฏิบัติการดูแลคนป่วยอันเป็นสถานบ่มเพาะความคิดที่สำคัญมากอีกแห่ง จากที่เคยเป็นหนอนหนังสือนั่งยาวในห้องสมุดได้แปลงสภาพมาสู่หมอจำเป็นช่วยดูแลคนไข้ ทั้งไข้ป่า โดนระเบิด ฯลฯ “ได้ทำในสิ่งที่ทำได้เท่านั้น” กับภารกิจต้นแบบสอนงานให้พยาบาลป่าหรือผู้ที่เป็นลูกหลานชาวนา ฝึกให้อ่านฉลากและเดินจ่ายยา สอนภาษา ฯ กระทั่งรู้ตนเองว่า “ความเป็นวิศวกรหดหายไป” หลังจากได้ปล่อยกระแสความรู้สายช่างไฟฟ้าชอร์ตดินทิ้งลงกราวด์ไปหมดแล้ว แม้เรื่องเก่าหายไปแต่เรื่องเรียนรู้ใหม่นี้ก็ “ประทับใจมาก ๆ”

การฝึกฝนตนยังมีอีกไม่น้อย ทั้งสารพัดวิชาของพรรคคอมมิวนิสต์รวมทั้งฝึกจิตที่ชอบสั่นหวั่นไหวกับวันใดที่เสียงปืนหรือระเบิดดังกึกก้อง หมอตะวันมักจะตระหนักเองกับคำว่า “ขวัญหนีดีฝ่อ” ถึงกับ “เดินไม่ออก” จะหลบวิถีจากแห่งความตายแต่ขากลับวายไม่ยอมก้าว สหายอื่นยังต้องช่วยกันเยียวยาหิ้วปีก การช่วยเหลือซึ่งกันและกันยามคับขันได้ทยอยประทับเป็นความผูกพันให้หนาแน่นขึ้น


“ชีวิตในป่าหล่อหลอมจิตใจ แกร่ง อดทน เรียบง่ายมากขึ้น” ... “ตอนอยู่ภาคอีสาน ความคิดแตกหน่อ”


ทัศนคติของสหายหญิงผู้คงแก่เรียนเปลี่ยนไปมากตั้งแต่หลบเมืองหลวงมาพบอิสรภาพแนวใหม่เข้าอย่างจัง จึงบ่มเพาะชีวิตเสรีนั้นต่อไปเรื่อย ๆ ท่ามกลางขุนเขา ถ้ำ แม่น้ำ ต้นไม้และท้องฟ้า หน่อความคิดของสหายวัยรุ่นกำลังแทงยอดขยายเติบใหญ่กับจิตใจเบิกบาน ...

เรื่องจากป่ากับช่วงเวลาที่เหล่าสหายทั้งหลายเหงา เศร้า หรือหดหู่ ความน่าประทับใจก็มีเหมือนกัน มักผ่านมากับสารพันคำกวี ประโยคปลอบโยน หรือกลอนประโลมจิต กระทั่ง ‘เพลงเพื่อชีวิต’ ของสหายคนดังทั้งหลายก็ได้แรงบันดาลใจจากทั้งเหตุการณ์เดือนตุลาฯ และจากช่วงเวลาที่เคยอยู่ป่าแบบนั้น คล้ายกับต้นกำเนิดของดนตรี ‘บลูส์ อาร์แอนด์บี หรือฮิปฮอป’ ของคนแอฟริกัน-อเมริกัน ที่ขับขานระบายความอัดอั้นจากการถูกกดขี่ เป็นเสียงโหยหวนเอกลักษณ์เพื่อทั้งตนเอง มิตรสหาย ผู้ถูกข่มเหง ให้ดิ้นรนเพียรพยายามต่อสู้เพื่อชีวิตที่ดีขึ้น เพลงเพื่อชีวิตไทยมาจากโรงกลั่นในใจทำนองเดียวกัน

‘เดือนเพ็ญ’ อันโด่งของ 'อัศนี พลจันทร' สหายนายนี้ก็ด้วย เนื้อร้องแปลงความเหงาฝากสะท้อนผ่านดวงจันทร์ให้ช่วยเป็นไรเดอร์ผู้โปรดนำสารแห่งความคิดถึงส่งไปให้ถึงที่บ้าน ยามเพลงนี้ล่องลอยเกาะลมเย็น ๆ พร้อมกับเสียงขลุ่ยแว่วคราวใดความประทับใจจะโพล่งขึ้นทันที หวังกันว่าเพลงนี้จะคงความอมตะเท่าอายุขัยของดวงจันทร์ ! แต่ แต่ ... แต่มีบางบทกวีจากป่าอันโด่งดังอื่นที่ภาพพจน์กลับต้องพังทลายภายหลัง เช่น ‘เพลง (เคย) เพื่อ (ทุก) ชีวิต’ ที่มอบให้ทั้ง ‘คนและควาย’ พลันที่แปลงความหมายไปเป็น ‘เพลงเพื่อตนคนอื่นควาย’ พลีใจกับอำนาจนิยมที่ตนเคยสู้มา


ดวงจันทร์ดวงเดียวกันกับที่ 'อัศนี พลจันทร' สื่อความหมายออกมานั้น อดีตสหายตะวันผู้เคยอยู่ร่วมทับได้เคยจ้องมองยามคิดถึงบ้าน แต่ด้วยความเป็น “อาร์ต” อันหมายถึงศิลปะเป็นเพียงชื่อเรียกจากผู้เป็นพ่อเท่านั้น จึงมิได้ถ่ายทอดงานศิลป์ใดออกมากับแสงอันนวลผ่องนั้นเลย ไม่ว่าจะบทกวี กลอนหรือเพลง ยามถามหาว่าชอบฟังเพลงแนวไหน เป็นแฟนคลับติ่งศิลปินคนใด จำต้องตีความเอาเองจากคำตอบ


“เพลงชอบฟังนะ แต่จำไม่ได้ว่าใครร้อง” (น่าจะรวมถึงเนื้อเพลงด้วยแน่ ๆ !)


อดีตวิศวกรหนอนหนังสือหลงใหลการเรียนรู้รอบด้าน แม้ภายใต้ท้องฟ้าและดวงดาวแห่งเสรีภาพเดียวกันนั้นจะไม่ถนัดมุมศิลปะ บทกวี หรือการร้องรำทำเพลงที่ดูขัดกับการเป็นสาวติวเตอร์วิชาการหนัก ๆ แต่ก็มีความสุขกับการฝึกฝนตนเองยิ่งนักมุมอื่น ๆ แล้วก็ “ประทับใจมาก ๆ” เอาเสียด้วย ถึงในระดับที่ทำให้ผู้รับฟัง “แปลกใจมาก ๆ” ราวกับว่าสหายตะวันสำเร็จการศึกษาวิชาแปลงป่าเป็นห้องสมุดธรรมชาติ จัดเรียงผู้คนและสิ่งมีชีวิตรอบป่าเป็นหนังสือ แล้วสร้างฝ้าผนังห้องเรียนด้วยท้องฟ้า อ่านเขียนเรียนอยู่ใต้โคมไฟดวงอาทิตย์และแสงจันทร์จากดาวบริวารของโลก สุขใจอย่างนั้นเลย ...

“หอดูดาวในมอเกษตรฯ (ดร.สุศักดิ์ ทองธรรมชาติ) ก็มีนะ แต่ใช้งานดูดาวน้อยกว่าดูด้วยตาในป่าเสียอีก”

รวมทุกอย่างในสายตาคงเห็นว่าที่นี่คือ "มหาวิทยาลัยธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมพร้อมการเกษตร" - วิทยาเขตพื้นที่สีแดง


๐ สะบายดี สปป.ลาว​ ๐

แนวความคิดที่พยายามไม่ให้เกิดความแตกต่างโดยยกชู “ความเท่าเทียม” อันเป็นอุดมคติของลัทธิคอมมิวนิสต์มักได้รับข้อสังเกตหลากหลายว่าเป็นจริงได้ที่ไหนกัน สังคมมนุษย์แบ่งแยกตนเองในหลายมิติเป็นธรรมชาติฝังลึกไปแล้วมิใช่หรือ ? การจะปรับให้เท่าเทียมทุกมุมดั่งอุดมการณ์ ทำได้อย่างไร ?


การขอให้อาจารย์อัศนีย์ช่วยถ่ายทอดประสบการณ์เรื่องความเท่าเทียมหลุดหลงป่ากันไปหลายครั้ง มาจบลงตรงที่เรื่อง “ภาษา” ด้วยคำถามแนวข้อเสียเปรียบของผู้หญิงสังคมไทยประการหนึ่งต่อการลดช่องว่างชนชั้นรวมถึงวัยด้วยนั้น “สรรพนามแทนตนเอง” มีส่วนด้วย ใช่ไหม ?

ขณะที่ผู้ชายมีคำแทนตนเองว่า “ผม” ใช้สะดวกไม่ว่าจะวัยใด อาวุโสกว่าหรืออ่อนวัยกว่าสนทนาด้วยคำเรียกตนเองเดียวกันนี้ และสามารถใช้กับผู้หญิงได้ด้วย กลับกันสำหรับผู้หญิงเองมีคำใช้น้อย ส่วน “ดิฉัน” ก็ไม่เป็นที่นิยม ดังนั้น จึงพบการใช้คำว่า “พี่” ทั้งกับผู้หญิงด้วยกันเองหรือในวงสนทนาต่างเพศ การแยกตนเองด้วยความอาวุโสด้วยคำนี้เด่นชัดกว่าสังคมของผู้ชายมาก (ในป่าทุกเพศลดชั้นได้ชั่วคราวด้วยการเรียก “สหาย”)


คำถาม: เหตุด้านภาษากับสรรพนามแทนตนของผู้หญิง มีผลต่อการแบ่งแยกตนเองทางชนชั้นหรือไม่ ?


“อาจเป็นคนโชคดีเรียนโรงเรียนสตรีวิทย์ โรงเรียนหญิงที่เราภูมิใจในสถาบันอยู่แล้ว จึงไม่ค่อยรู้สึกเรื่องการไม่เสมอภาค พอมาเรียนมหาวิทยาลัยก็เลือกวิศวะ เพื่อนพี่ก็ดูแลเราอย่างดีก็ไม่รู้สึกอีก จบหมาดๆ ก็เข้าป่า ยิ่งเรียกสหายก็ เลยไม่ค่อยอยู่ในสังคมที่มีชนชั้นเท่าไหร่”

รวมความแล้วคือผู้ “โชคดี” ตั้งแต่วัยเด็กจนทะลุป่ามาถึงวัยเกษียณ นอกจากมีครอบครัวดีแล้วยังเลือกโคจรไปอยู่ในสังคมดีมีมิตรสหายเป็นหมู่บัณฑิตมาตลอด ไม่ประสบกับปัญหาใดจากคำถามนั้น


“เอิ่มมม ...” ดูเหมือนว่าคำถามนี้จะปลายเปิดหรือกว้างใหญ่ไป อย่างนั้น ฝากเป็นคำถามแด่สาธารณะน่าจะเหมาะกว่า กลับเข้าป่าคุยเรื่องอื่นกันต่อ ...


ทางข้างหน้าสหายตะวันผู้ที่ความโชคดียังอยู่กับตัวยังต้องออกเดินทางไกลและเสี่ยงภัยอีกมาก จากป่าอีสานอันเป็นพื้นที่จรยุทธ์หลากรูปแบบการปะทะระหว่างรัฐไทยกับสหายพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย นอกจากภาคพื้นดินแล้วอากาศยานก็แวะมาหย่อนตัวกลางแห่งความเจ็บปวดจนถึงความตายให้เสมอ เมื่อถูกรุกไล่จากทางการกับแนวทางของลัทธิอุดมคติจึงต้องเดินป่าข้ามเส้นแบ่งฝั่งโขงไปยังบ้านพี่เมืองน้องที่แปลงระบอบการปกครองเข้าสู่สังคมนิยมไปแล้ว พลันที่มาพบกับป่าเขาของ สปป. ลาว ... เอาอีกแล้ว อดีตสหายตะวันถึงกับยิ้มยามเล่าถึงธรรมชาติแห่งใหม่ที่ช่าง “เงียบ สงบ” ราวกับพบหอสมุดขนาดใหญ่อันแสนถูกอกถูกใจ


ยุคที่โทรเลขยังฟูเฟื่องสามารถส่งผ่านปริมาณข่าวสารด้วยอัตราที่น้อยมากเมื่อเทียบกับอินเทอร์เน็ตสี่ทศวรรษให้หลังนั้น ระบบสื่อสารระหว่างคนในเมืองกับป่ามีเพียงจดหมายและการบอกต่อ ข้อเขียนคำฝากปริมาณน้อยแต่จะเต็มไปด้วยความหมายและต้องรักษาความปลอดภัยข่าวสารกันเองแบบยุค ‘โรมิโอกับจูเลียต’ หากข้อความถึงมือผู้รับปลอดภัยสบายใจได้เป็นยก ๆ แต่หากความลับรั่วไหลอาจวอดวายกลายเป็นโศกนาฏกรรมเอาได้ ในป่าจึงต้องปฏิบัติตามวิถีแห่งความปลอดภัยสารพัดรวมถึงวิธีการสื่อสารที่ไว้ใจได้ไปพร้อมกัน


“เขาไม่รู้ว่าเราไป สองปีถึงรู้ว่าเรายังมีชีวิตอยู่”

เมื่อช่องทางการสื่อสารกับทางบ้านเกิดขึ้นได้แล้วจึงผ่อนคลายความคิดถึงได้บ้าง นอกเหนือจากการวิ่งขึ้นเขาไปร้องไห้หรือฝากกระต่ายบนดวงจันทร์ไปบอก ข้าวของข่าวสารไปกลับถึงคนห่างไกลทำได้บ้างแล้วโดยมีกติกากำกับ

“พ่อแม่ส่งของมาให้ ให้ส่วนกลาง ส่วนรวม หรือส่วนตัว ?” นั่นคือข้อตกลงร่วมกัน


นอกจากความปลอดภัยบนช่องทางการสื่อสาร ความมั่นคงทางอาหาร เวชภัณฑ์และของสำคัญอื่นคืออีกหนึ่งระบบการอยู่ร่วมป่าซึ่งจะเก็บรักษาไว้ในถ้ำและขนนำมาใช้เป็นครั้งคราวเมื่อใกล้หมด ดังนั้น การ “ขนข้าว” จึงเป็นกิจกรรมสำคัญอีกงานหนึ่งของฝ่ายสนับสนุน


ภารกิจนี้คือการแบกน้ำหนักให้ได้มากที่สุดด้วยก๋วยตระกร้าสานบนหลัง จึงปรากฏภาพที่อดีตวิศวกรสาวน้อยเรียบร้อยมากกลายมาเป็นผู้ใช้แรงงานกลางป่าด้วยความภูมิใจ แล้วก็จะ “ขนให้ได้มากที่สุด (ต่อครั้ง)” อย่างฮึกเหิม ราวกับตนเป็นนักกีฬายกน้ำหนักตัวแทนเขตสิบกรุงเทพมหานคร ร่วมแข่งกีฬาเขตกับสหายจากเขตอื่นทั่วประเทศ นั่นจึงเป็นที่มาของการเข้าผ่าตัดกับโรงพยาบาลสนามครั้งที่สอง !


เหตุสะสมจากการชลอยามลื่นไถลช่วงลงเขาเมื่อต้องแบกหนัก เร็ว มีวินัย เหล่ากองหลังส่งกำลังบำรุงผู้ใช้มือเป็นเบรคอยู่บ่อย ๆ จึงทยอยทำให้เกิดพังผืด แต่ไม่เป็นไรงานนี้เวชภัณฑ์จีนแดงแรงฤทธิ์กว่า อยู่ใกล้ชายแดนลาว-จีน ของยังใหม่ไม่เสื่อมสภาพ ผ่าไส้ติ่งแบบไม่ชาแถมรู้สึกตัวตลอดยังรอดมาได้ พังผืดนี้ผ่านได้สบายมาก


เรื่องราวป่าจากเขตพื้นที่ประเทศลาวที่สงบจนสหายตะวันตกหลุมรักเข้าเต็มเหนี่ยวนั้นมีไม่มากนัก แม้ที่นี่โอกาสที่วิถีกระสุนหรือระเบิดจากกองกำลังตามข้ามโขงมาหรือจากทั้งอากาศยานรบนั้นมีน้อยกว่า ทว่า เมื่อแนวความคิดของ พคท. ขัดกับเจ้าของพื้นที่ตามที่เหล่าสหายแจงกันต่อ ๆ มา จึงต้องย้ายฐานข้ามกลับฝั่งไทย หอสมุดขนาดใหญ่ฝั่งขวาแม่น้ำโขงจึงปิดตัวลง ... สะบายดีเมืองลาว

๐ ชีวิตเกือบปลิดทิ้งที่น่าน ๐

เมื่อข้ามโขงกลับเข้าฝั่งไทยแล้วยังคงคล้ายเดิม สหายตะวันทำหน้าที่สอนภาษาอังกฤษให้ลูกหลานชาวบ้าน มีชีวิตร่วมกับชาวเขาเผ่าลัวะ อยู่ทับหมอ ขนเสบียง ฯ ป่าน่านเหนือยังคงเป็นโรงเรียนธรรมชาติเหมือนเดิม เรื่องอาหารการกินนั้นก็ชินแล้ว ขาดแคลนโปรตีนจากเนื้อสัตว์จนชิน เมนูสัตว์ป่าทางเลือกมีแทรกบ้างแต่โอกาสลิ้มรสคงไม่บ่อยนัก ถึงขนาดที่อดีตสหายผู้มีอุปนิสัยนิ่งเรียบคนนี้เอ่ยประโยคแบบที่ใครได้ยินแล้วจะเข้าใจได้เองว่านานแค่ไหน


“กระรอก อีเห็น เป็นอาหารอันโอชะ !” ... “ชะ ชะ ชะ ชะ (เสียงก้อง)”


“อุ๊ !” แล้วนั่นก็มาถึงเหตุแห่งชีวิตแรกของเช้าวันหนึ่งขณะปฏิบัตภารกิจส่วนตัว สังเกตเห็นพุ่มไม้หน้าผาด้านหน้าไม่ไกลนัก “นั่นคือพวงอะไร ?” พันธุ์ไม้ใดก็มิใช่แล้วไยถึงหย่อนพุ่มหางยาวอยู่เช่นนั้น ใช่แล้ว ! มันคือกระรอกตัวบิ๊กเบิ้ม


ความคิดยามเช้าสมองปลอดโปร่งโพล่งเข้าหัวทันที “เอ๊ะนี่” ปืนพกที่ติดเอวมาตั้งสี่ปีทำความสะอาดเก็บรักษาตามที่เรียนรู้มาเป็นอย่างดี “มันยังใช้งานได้ไหมเนี่ย ?”

“เป้ง !” เรียบร้อย ... K54 ปืนสั้นจีนแดงแผลงฤทธิ์ กระรอกผู้โชคร้ายกลายเป็นแหล่งโปรตีนขัดตาทัพให้ครัวป่า ‘ตะวันโอชา’ แต่ว่ามื้อนั้นหาใช่สิ่งที่เหล่าสหายอื่นจดจำเท่ากับวีรกรรมเมื่อเช้า เพราะกลายเป็นข่าวใหญ่เหมือนไฟลามป่าไปแล้ว แพร่กระจายไวราวกับฝูงกระรอกบอกต่อ นกหนอนสัตว์เลื้อยคลานปล่อยสัญญาณเป็นทอด ๆ สหายทั้งหลายก็ส่งผ่านข่าวกันอื้ออึงไปทั่วป่าเมืองน่านว่า


“นักศึกษาหญิง ยิงปืนแม่น” “นักศึกษาหญิง ยิงปืนแม่น” “นักศึกษาหญิง ยิงปืนแม่น”... “แม่น แม่น แม่น (เสียงก้อง)”


สรรเสริญกันราวกับหนังการ์ตูนทาร์ซานที่จ้าวป่าเอ่ยในงานประชุมใหญ่สมาชิก แต่กระนั้น ยามเล่าเรื่องโปรตีนกระรอกสหายตะวันสีหน้าหุบยิ้มลงนิดหน่อย แม้เป็นสิ่งที่เจ้าตัวปลื้มแต่เอ่ยพ่วงด้วยว่าเป็นเหตุการณ์ที่ทำให้เกิด “อัตตา” ตัวตนมากด้วยเช่นกัน


เมื่อกองทัพเดินด้วยท้องอาหารจึงเป็นยุทธปัจจัย สหายกองหลังกับหน้าที่ขนข้าวเปลือกจากคลังมาตำหุงจึงมีตารางเดินป่ายามเสบียงใกล้หมด โดยการออกไป “ขนข้าว” นั้นต้องอยู่บนแนวทางที่ฝึกฝนมาก่อนด้วย


การเดินแถวออกสู่ที่โล่งหรือท้องนาทหารบ้านถ่ายทอดให้แล้วว่าหากมีเครื่องบินพุ่งผ่านมา ต้องหยุดนิ่งแล้วพรางตนไปกับตอไม้ ซางข้าวไหม้ที่ชาวนาเผาทิ้งไว้ หรืออื่น ๆ เพื่อมิให้นักบินเห็นการเคลื่อนไหวบนพื้นล่าง รวมทั้งระแวดระวังกับระเบิดหรือภัยอื่นก็มีอบรม แต่แล้ว เหตุที่ทำให้สหายตะวันทวนคำนี้บ่อยครั้งมากก็มาถึง

“วินัย เป็นเพราะเราไม่มีวินัย”


เหตุการณ์เดินแถวเจ็ดสหายเพื่อไปขนข้าวโดยเว้นระยะห่างพรางตนตามยุทธวิธีครั้งหนึ่ง สหายตะวันอยู่ในลำดับที่สามยามนั้นฤกษ์ไม่ดี มีเครื่องบินรบโฉบเข้ามาเสียงโซนิคบูมปัจจุบันทันด่วนดังก้องป่า แล้วเมื่อถึงเวลาปฏิบัติจริงสิ่งที่เรียนรู้มากับเหตุการณ์เฉพาะหน้าวันนั้นเป็นอย่างไร ?

“วิ่งก่อนใครเลยคะ”


“อ้าววว !” แม้ช่วงเนินเขาป่าบังจะห่างจากที่โล่งของหมู่เดินแถวนี้ประมาณแค่ร้อยเมตร เมื่อต้องวัดใจกับการตีวงเลี้ยวกลับมาของอากาศยานรบที่พร้อมปักหัวสาดกระสุนความเร็วสูงพุ่งมาถึงก่อน หากเป็น ‘ยูเซน โบลต์’ ลมกรดสถิติโลก หรือ ‘เทพบิว ภูริพล บุญสอน’ เจ้าของสถิติไทยก็คงคิดหนักว่าควรหยุดนิ่งพรางตนตามยุทธวิธีหรือเสี่ยงหนีมัจจุราชวิ่งให้ทัน

พลันลำดับแถวที่สามวิ่งออกนำ สหายหนึ่งและสองถูกตะวันแซง สติจึงเตลิดตามพร้อมกับอีกสี่สหายที่เหลือบวกด้วยระยะถอยห่างออกไปตามลำดับ มิใช่เพียงคนสุดท้ายที่เสี่ยงมากสุดแต่ความตายแบบยกหมู่นั้นมารออยู่อย่างเท่าเทียม

“เป็นเพราะเราไม่มีวินัย ...”


ลองนึกภาพหากมีใครทำกับ ด.ญ.อัศนีย์ แห่งสตรีวิทย์ หรือ น.ส.อัศนีย์ นักศึกษาวิศวฯเกษตรฯรุ่น E 28 แบบนี้ในอดีต บุรุษผู้นั้นคงเหี้ยมโหดอำมหิตไร้ความเป็นชาติอาชาไนยแน่แท้ แต่สหายตะวัน ณ ป่าเมืองน่านสรรเสริญขอบคุณเขาด้วยความนอบน้อม


“สองมือกระชากคอเสื้อด้านหลัง เหวี่ยงตัวเราลงไปในหลุม (บังเกอร์ธรรมชาติ)” ... พลั่ก !

ร่างสหายตะวันต้องกลับจากออกป่าไปครบถ้วนพร้อมชีวิตเดิมที่เข้ามาตามอุดมการณ์ ชุดเขียวหมวกดาวแดงนี้ต้องไม่ใช่เพียงห่อร่างไร้วิญญาณส่งกลับบ้าน ความเคี่ยวประสบการณ์ป่าของทหารบ้านผู้ดูแลยังดีอยู่จึงรอดหมด

“ช่วยเราก่อนที่จะช่วยตัวเขาเอง” “เป็นเพราะเราไม่มีวินัย เกือบทำให้เพื่อนตายกันหมด”


สีหน้าไม่สู้ดีนักเมื่อเล่าถึงเหตุการณ์เฉียดกระสุน แม้รอดเที่ยวบินวงเลี้ยวแรกไปได้แต่นักบินล็อกพิกัดเห็นเป้าแล้ว การสุ่มยิงผ่านไม้ป่าหนาทึบด้วยกระสุนเครื่องบินสงครามยังตามมาอีกระลอกใหญ่ ทำให้ติดค้างบนเขาอีกหลายวัน งานก็ไม่สำเร็จตามเป้า ... และอดข้าว !


“เราไม่มีวินัย”


ยามสติสตางค์กลับคืนเกิดความซาบซึ้งต่อผู้ช่วยเหลือและความรู้สึกผิดจึงติดตัว คำว่า “วินัย” ถูกย้ำในความคิดบ่อยครั้งขึ้นการพัฒนาตนเองจึงมีทิศทางดีไปข้างหน้า แต่ ... แต่ แต่ก็ยังพ่าย “อัตตา” เข้าอีกครั้งจนได้ เพราะหลงซึ่ง “คำสรรเสริญ” ที่สะสมไว้จึงนำการเสี่ยงมาถึงอีกครั้ง ขณะที่สหายตะวันทำหน้าที่สอนภาษาอังกฤษตามถนัด เสียงตะโกนถึงการมีผู้บุกรุกอยู่ด้านบนต้นไม้ต้นยางที่สูงใหญ่อำพรางห้องเรียนป่าไว้ด้านล่างดังขึ้น ภาพที่ปรากฏคือสัตว์ป่าที่ชอบแอบมาขโมยกินไก่แหล่งโปรตีนที่เลี้ยงไว้อยู่เนือง ๆ


“อีเห็น อีเห็นมา !”


หมู่สหายทั้งหลายหันมาหาอดีตนักศึกษาหญิงแม่นปืนคนนี้ เพื่อเป็นผู้กำจัดสัตว์บุกรุกรวมทั้งให้ได้มาซึ่งโปรตีนอันโอชะ (ชะ ชะ ชะ ชะ) ... อีกหน


จากแรงเชียร์กับคำสรรเสริญก่อนหน้านั้นทำให้เกิด “อัตตา” อย่างแรงกล้า ในที่สุดภาพสมมติกลางป่าราวกับอยู่ในสนามแข่งขันยิงปืนต้อนรับมหกรรมโอลิมปิกที่สหภาพโซเวียตรัสเซีย ปี ค.ศ. 1980 ประเภทปืนสั้นยิงตามอำเภอใจไร้กติกา พร้อมการถ่ายทอดภาพออกอากาศมีผู้ชมเต็มสนามป่า นักกีฬาสาววัยรุ่นในชุดเขียวหมวกดาวแดงกับท่ายืนพร้อมลั่นไกที่ไม่เหมือนใคร ปืนคู่กายถูกยกชี้ฟ้าเอียงเข้าหา “อีเห็น” ... ราวกับมีผู้ชมนั่งลุ้นบนแสตนด์เชียร์สนามโอลิมปิกป่า มีท้องฟ้าและต้นไม้เป็นกรรมการและสักขีพยาน แสงแดดที่รอดสลับผ่านรูใบไม้ลงมาราวกับแสงแฟลชจากผู้ชมระยิบระยับ ตามด้วยกล้องทีวีจับภาพวนรอบตัวแล้วยกสูงหมุนจากพื้นขึ้นไปโฟกัสกลับลงมาจากเป้าหมายปลายทาง บรรยากาศที่จินตนาการตามได้นั้นออกมาทางเดียวกับการ์ตูนอนิเมะญี่ปุ่นเรื่องดังที่ทุกสายตากองเชียร์จดจ้องไปยังพลแม่นปืนสาวน้อยตัวละครเอก เมื่อความสว่างรอบด้านดับเหลือเพียงดวงไฟใหญ่ฉายลำแสงลงคลุมตัวนักกีฬาผู้กำลังไล่ล่าความสำเร็จอีกครั้ง จึงเป็นเหตุการณ์สำคัญของชีวิตอีกหนที่ ... พลาดไม่ได้ !

“เป้ง !”


เมื่อแสงสปอตไลท์ทั้งสนามปิดมืดลงมหกรรมการเชียร์เลิกแล้ว อดีตสหายตะวันในวัยเกษียณถึงกับเอ่ยว่า “ไม่ยิงปืนอีกเลย !” เพราะการพิสูจน์ฝีมือสนามที่สองนั้นแม้ได้ผลราวกับการขึ้นรับเหรียญพร้อมเสียงสรรเสริญจากผู้ชมรอบป่า และไม่พลาดที่ครัว ‘ตะวันโอชา’ ได้มาซึ่งโปรตีนขาจร แต่เกือบต้องแลกไปด้วยสวัสดิภาพของตนเอง


“เพราะเรามีอัตตา”


สองคำย้ำหนักย้ำหนา “วินัย” กับ “อัตตา” ที่มาขัดลำกล้องกันเองบ่อยครั้งนี้ เป็นเกร็ดชีวิตจากอาจารย์อัศนีย์ถึงคนรุ่นหลังได้ดีทีเดียวเรื่องการสร้างความสมดุลย์ให้ชีวิตที่ไม่ควรยึดติดไปกับ “คำสรรเสริญ” จนปล่อยให้ “อัตตา” เจริญเติบโตเกินกระทั่งทำให้ “วินัย” สำคัญต้องขาดสะบั้น ทำนองนั้น


หากได้กรอเทปย้อนฟิล์มภาพเหตุการณ์แห่งชีวิตวันออกอากาศการลั่นไกครั้งสุดท้ายมาเพ่งดูใหม่ จะเห็นภาพของสหายตะวันยืนใต้แสงสปอตไลท์ด้วยความ “หวั่นใจ” เพราะเกรงว่าจะไม่แม่นดั่งคำร่ำลือ แต่เสียงเชียร์บวกแรงสรรเสริญถีบดันอัตตาจนแรงกล้าเกินกว่าจะห้ามใจไหว จึงสำแดงโชว์การยิงที่ทิ้งซึ่ง “วินัย” ตามแบบแผนไป แม้นักกีฬายิงปืนเหรียญทองโอลิมปิกตัวจริงก็คงไม่มีใครกล้าทำเยี่ยงนั้นแน่


“อัตตา” ที่ว่านั้นนำพาซึ่งความคิดแผลง ๆ จากการประทับปืนมาตรฐานสายตามองผ่านไหล่ ไล่ตามแขน สู่สันมือขึ้นศูนย์หลังไปยังศูนย์หน้าแล้วเล็งเข้าหาเป้าหมาย ... มิใช่แบบนี้เลย ! เมื่อวิศวกรผู้เข้าใจเรื่องกฏทางฟิสิกส์มามากแต่เลือกใช้ “อัตตา” ออกนำ ความคิดจากสมองจึงต้องประชิดกับเป้าหมายมากที่สุด จึงลดทอน “วินัย” ตัดส่วนแขนออกแล้วย่อนำศูนย์หลังของ K54 มาจ่อใกล้ ๆ เพื่อส่งผ่านความมั่นใจผ่านตาสู่ปืนในทันที กระทั่งมองข้ามแรงสะท้อนทั้งผลจากความเร็วปากกระบอกกว่าสี่ร้อยเมตรต่อวินาที คูณด้วยตัวแปรแรงโน้มถ่วงมุมเอียงเข้าอีก หากขอให้ปรมาจารย์ ‘ไอแซค นิวตัน’ มาคำนวณผลลัพธ์ปริมาณแรงนั้นก่อนก็คงรีบกลับไปนั่งมองแอปเปิลหล่นจากต้นต่อดีกว่า


ดังนั้น แม้จะได้อีเห็นมาเป็นอาหารอันโอชะแต่งานนี้สหายตะวันเกือบสูญเสียการมองเห็นของดวงตาไปหนึ่งข้าง


“เขียวปั๊ด”


แปลงกายเป็นเหมือนแพนด้าตาเดียวท่องเที่ยวอยู่ในป่าเหนือเมื่อหน้าดอกไม้บ้านนานเหลายเดือน พร้อมตั้งปณิธานว่าจะไม่ลั่นไกอีกเลย


๐ “คำสรรเสริญ - อัตตา - วินัย” ๐

การรำลึกชีวิตป่าคุยไปคุยมาได้แกนหลักมาสามคำบนความหมายกว้างใหญ่ในแนว “หากหลงใหลซึ่งคำสรรเสริญเยินยอ จนอัตตาเติบใหญ่ อาจทำให้วินัยลดระดับลงอย่างมีนัยสำคัญ เมื่อนั้น กรณีน่าเสียใจอาจได้ตามมา” ผู้หญิงชื่ออัศนีย์เมื่อครั้งเป็นสหายตะวันผ่านสามคำคัญนั้นมาแล้วจึงนำมาฝากแด่สตรีรุ่นหลัง ... ทำนองนี้


หากสงสัยว่าอ้าวแล้วของฝากสำหรับผู้ชายละ ไม่มีบ้างหรือ ? มีแน่ มีอยู่ก่อนแล้ว ระดับโลกก็เคยเอ่ยไว้แล้ว อยู่ในบทสนทนากับอาจารย์อัศนีย์ท้ายปียุคที่โควิดมาเยือนด้วย กรณีนั้นคือที่อดีตประธานาธิบดีโอบามาขึ้นพูดแนวสังคมมนุษย์บนเวทีที่สิงคโปร์กับข่าว “ผู้หญิง” เป็นผู้นำดีกว่า ชี้ปัญหาเกิดจาก “ชายแก่ที่ยึดติดอำนาจ” (2019) ซึ่งน่าจะเป็นตัวอย่างใกล้เคียงที่สุด ... เกี่ยวกันอย่างไรหรือ ?


ด้วยเหตุที่ว่า โลกเคยมีกรณีชายสูงวัยเสพติดอำนาจมามากมายซึ่งได้สร้างหายนะให้กับสังคมมนุษย์ไปทั่ว ยามเมื่อหลงใหลไปกับ “คำสรรเสริญ” จากพวกพ้องและที่ตนเนรมิตขึ้นเอง “อัตตา" ในตัวตนจะเปล่งประกายจนคิดว่าผู้ใต้บังคับบัญชาหรือสังคมที่ดูแลอยู่นั้นขาดตนเสียมิได้ ไม่มีใครดีหรือเก่งเท่า ฯลฯ กระทั่งหาทางผัดผ่อนตัดตอนกฏเกณฑ์หรือ “วินัย” กลายมาเป็นวิกฤติทางสังคมนั่นแล เผด็จการทั่วโลกมีส่วนจากการเสพติดอำนาจแบบนั้นด้วย ดังนั้น สิ่งที่อดีตสหายตะวันถ่ายทอดเรื่องราวตนเองจึงดูจะมีนัยที่คล้ายกันมากกับที่โอบามากล่าวไว้