top of page
QICTechFACTcheckLoGoWhite-2021.jpg

(EP6) ไม้บรรทัดแห่งชีวิต | Woman in Science & Engineering 2022 | อัศนีย์ ก่อตระกูล

“ฮึกเหิมมาก เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้นิสิตนักศึกษาเข้าป่า”
เพลง “ภูพานปฏิวัติ” ของ “สหายปรีชา” ผู้ที่เข้าร่วมกับพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทยมาก่อนหน้านานแล้ว ยามถูกขับขานเมื่อใดจะสร้างแรงขับสู่ความฮึกเหิม และมีส่วนทำให้หนุ่มสาวเดือนตุลาฯ จำนวนไม่น้อยตัดสินใจออกแสวงหาความจริงต่อในป่าใหญ่

- (จิตร ภูมิศักดิ์)

‘อัศนีย์ ก่อตระกูล’ ในวัยเกษียณย้อนกลับมานั่งฟังเวอร์ชันที่เรียบเรียงขับร้องกึกก้องจากหอประชุมธรรมศาสตร์ บอกเล่าเรื่องราวต่าง ๆ อันนำไปสู่การตัดสินใจ “ขอสักตั้ง” เดินออกจากบ้านผ่านเข้าประตูป่าภูพานไป อิทธิพลต่อความคิดส่วนหนึ่งมาจากบทกวีเหล่านี้เช่นกัน ภาษามากมายที่สหายปรีชาพรรณาไว้ช่างงดงามกินใจเหลือเกิน



“เสียงเพรียกจากมาตุภูมิ” คืออีกหนึ่งเพลงสะท้อนสังคมร่วมสมัยก่อนการมาถึงของวันมหาวิปโยคทั้งสองเหตุตุลาฯ


ขาเข้าป่ามาเพลงเพื่อชีวิตแว่วผ่านมาแนวนี้ แต่ขาออกยามกลับเข้าบ้าน เพลงหวาน ๆ ลอยเต็มเปี่ยมทุกคลื่นเอเอ็มเอฟเอ็ม ทั้ง “รักครั้งแรก ยากยิ่งนัก กลับจากลอนดอน ฯลฯ” ของวงชาตรี “ทาสรัก ลาก่อนความรัก ฯลฯ” ของแกรนด์เอกซ์ ของ ‘สายัณห์ สัญญา’ ก็มี “อกหักซ้ำสอง แด่คนชื่อเจี๊ยบ ฯลฯ” สารพัดเพลงอกหักหรือรักหวานกำลังเบ่งบานอยู่ในเมือง กลิ่นอายเอ่อล้นทุกแผงเทป วงสตริงกับลูกทุ่งสลับเวทีโลกดนตรีดูดความสนใจวัยรุ่นหันเหกันไปจากเรื่องการเมืองได้มาก ความเครียดทางสังคมเบาบางจางลงแล้ว นโยบายสายเหยี่ยวจากภาครัฐฯ ผ่อนคลายและปรับมาสู่สายพิราบมากขึ้น จากการใช้อาวุธห่ำหั่นกันเองของคนไทย หันมาสู่การพูดคุยรอมชอมกัน

“66/23 65/25”


นโยบายการต่อสู้กับระบอบคอมมิวนิสต์ช่วงปลายสงครามเย็นมากับแผนรุกทางการเมืองผ่านคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรี หนังสือสองหมายเลข 66/2523 และ 65/2525 นี้ คือรหัสลำดับเอกสารที่พูดถึงกันจนติดปากทั่วไป


“เนื่องจากนักเรียน นักศึกษา เป็นกลุ่มบุคคลที่มีลักษณะพิเศษ และมีความตื่นตัวทางการเมืองสูง มีลักษณะที่ใฝ่หาประชาธิปไตย และความเป็นธรรมในสังคม แต่ยังมีประสบการณ์น้อย เป็นกลุ่มที่มีบทบาททางการเมืองสูงตลอดมา และเป็นเป้าหมายที่กลุ่มคอมมิวนิสต์จะใช้เป็นแนวร่วมพื้นฐานด้วย ดังนั้น เพื่อให้นักเรียน นักศึกษา เป็นพลังส่งเสริมประชาธิปไตย และป้องกันมิให้ตกเป็นเครื่องมือตามยุทธวิธีประชาธิปไตยของกลุ่มคอมมิวนิสต์ รวมทั้งเผด็จการอื่น ๆ จึงให้มีแนวทางดำเนินการ ...”


ส่วนหนึ่งในประกาศเน้น ๆ มาด้วยกับประโยคที่ว่า “การพัฒนาประชาธิปไตย” มีระบุอย่างมากมาย อย่างไรก็ตามตลอดช่วงสี่ทศวรรษต่อมายังคงอ้างย้ำซ้ำ ๆ อยู่กับประโยคนี้ การปฏิบัติจริงยังฝืนแย้งในตัวเองมาตลอด ไปไม่ถึงไหนเลยจริง ๆ


“สหายชีวา” รับรู้รหัสแรก 66/23 ช่วงปีท้าย ๆ ของชีวิตป่าที่เชียงรายแล้ว แม้จะยังอินอยู่กับการสถาปนาธรรมชาติให้เป็นห้องสมุดส่วนตัวที่ทำมาตั้งห้าปีแล้ว แต่ด้วยแรงกระตุ้นจากประกาศนี้พร้อมเหตุปัจจัยอื่นหลาย รวมทั้ง ...

“ที่พักโดนระเบิดถล่ม”


สัญญาณระฆังครบยกจึงดังขึ้นหลังจากการ “ขอสักตั้ง” มานานพอควรแล้ว ตัดสินกลับเข้าเมืองจบการศึกษาหลักสูตรชีวิตจริง รับวุฒิบัตรในรูปประสบการณ์จากป่าสาขา ‘เรียบง่ายวินัยเข้ม’ เมื่อปี พ.ศ.๒๕๒๔

๐ คนกับชนชั้น ๐

ก่อนไปสู่เรื่องราวจากแววตาของครอบครัวที่จากกันมาร่วมห้าปี คำถามที่อ่อนไหวกว่านั้นคืออุดมการณ์เทียบเคียงก่อนและหลังการเข้าป่าพกมารอไว้ถามด้วย แม้ยากที่จะเอ่ยปากแต่ก็ต้องถามให้ได้เพื่อเข้าใจสาวน้อยผู้ที่หันหลังเข้าป่าไปด้วยปณิธานที่ว่า

“ถ้าเรายังไม่สามารถปลดปล่อยชนชั้นได้ เราจะไม่กลับบ้าน”

แล้วเมื่อถึงวันเดินออกจากป่า สตรีผู้มีอุปนิสัยเรียบร้อยมากในอดีตคนนั้นคิดอะไรอยู่ ? เครียด แค้น เฉย ๆ สบายใจ หรือจะรู้สึกอายใครข้างบ้านไหมที่ตัดสินใจแบบนั้นไป ? รอแทรกถามอย่างละมุนละไมแต่การพูดคุยกันหลายยกกลับตั้งคำถามนี้ไม่ได้สักที !

ความนิ่งเรียบและ "ยิ้ม" ของอาจารย์อัศนีย์ทำให้เกิดความหวั่นไหว เกรงใจ จนต้องเฉไฉไปลงกับคำถามอื่นนานเอาเรื่อง เช่น


“ทำอะไรก่อนเลยหลังออกจากป่า ?” ... ราวกับถามศิลปินเคป๊อบพลันลงเครื่องถึงสนามบินเมืองไทย


“ทานไอศครีมคะ” ... นั่น ! ได้คำตอบตรงไปตรงมาแบบนี้ ผลการห่างหายจากน้ำแข็งและหวานเย็นไปนานจึงจัด “สิ่งที่แสนวิเศษ” นี้แก้กระหายให้ตนเองก่อนอื่นใด หลังจากนั้นจึงแปลงเป็นความเยือกเย็นหวานชื่นหล่อเลี้ยงชีวิตให้ผู้เป็นพ่อเป็นแม่ต่ออีกทอด


“พ่อแม่มารับ กลับมาอยู่บ้านเพื่อน” “ไม่มีทุกข์หรือความสุข แต่ตื่นเต้นที่เรากลับมา” ... คือคำตอบถึงสายตาพลันที่ได้พบกับลูกสาวคนโตอีกครั้ง


โอกาสการสื่อสารถึงกันผ่านจดหมายน้อย ๆ ช่วงสามปีหลังรับรู้กันมาก่อนแล้วว่ายังมีชีวิตอยู่ ยังรอด ทั้งมีดหมอผ่าไส้ติ่งสด ๆ แบบ “โคร_เจ็บ” ทั้งเคยท้าพญามัจจุราชคมกระสุนเครื่องบินสงครามและกับระเบิด ฯ ข้าวของก็เคยมีฝากจากบ้านมา พ่อแม่จึงมั่นใจว่าอย่างไร ‘อาร์ต’ จะนำพาร่างพร้อมชีวิตกลับมาได้แน่ แต่สำหรับตนเองถึงกับสะดุดใจยามทได้เห็นหน้าสองบุพพการีที่แก่ตัวลง

“พ่อแม่แปลกใจ ชีวิตเรากลายเป็นคนเรียบง่าย กลับไปช่วยคนงานทำงาน”

สำหรับเงินสามพันของขลังฝากจากญาติผู้พี่นั้นติดตัวอยู่ถึงห้าปี สุดท้ายมอบแด่สหายอื่นไปใช้สร้างเขื่อนให้ชาวเขาที่เชียงรายก่อนเดินทางกลับ สิ้นสุดกลิ่นอายป่าปลดอาวุธและชุดเขียวหมวกดาวแดงโดยสมบูรณ์ เข้าบ้านด้วยจิตใจเบิกบาน

ต้นปี พ.ศ.๒๕๖๕​ ระหว่างเดินไปเล่าไป อาจารย์อัศนีย์แห่งภาควิชาวิศวกรรมคอมพิวเตอร์พาทัวร์สถานที่รำลึกภาพสมัยเพิ่งมาทำงานใหม่ ๆ สถานที่ ๆ เรียกกันว่า ‘ดงตาล’ ยุคนั้นยังไม่มีอาคารสูง วิทยาเขตบางเขนยังเป็นท้องทุ่งกว้าง มือชี้ไปทิศพื้นที่ ๆ เคยเป็นท้องร่องคลองน้ำไหลในมหาวิทยาลัย แล้วยิ้มใหญ่มากพร้อมเอ่ยว่า “ตรงนั้น” ณ ที่นั่นแล เคยนำความรู้ประสบการณ์ตรงจากป่ามาช่วยลอกคลองกระโดดลงไปช่วยคนงานทำภารกิจชลประทาน

“อุ๊ !” ... วิถีชีวิตป่ายังคงติดตัวยังเคยชินกับธรรมชาติที่เพิ่งจากมา เพียงแต่ไม่ได้ใส่ชุดเครื่องแบบติดอาวุธในเมืองให้ทางการต้องหวั่นไหวใด ๆ แล้ว (กระรอกเจ้าถิ่นย่านบางเขนจึงปลอดภัย มั่นใจได้) และทุกมุมที่ชี้ออกไปบัดนี้กลายเป็นป่าคอนกรีตไปหมดแล้ว ภาพซ้อนเวลาพัฒนาการของพื้นที่นี้อดีตสหายชีวาผ่านตามาหมดตลอดช่วงสี่ทศวรรษการทำงานกระทั่งเลยเวลาเกษียณ

จะแทรกคำถามอื่นใดกี่ครั้ง เล่าตอบให้ฟังกี่หน ไม่ว่ากับผู้คนสิ่งมีชีวิตหรือธรรมชาติรอบด้าน คำตอบลึก ๆ ที่ได้มักบอกนัยสำคัญชัดเจนเสมอว่า ตัวตนคืออดีตสาวน้อยวัยรุ่นที่เข้าป่าไปแล้วกลับออกมาอย่างผู้มีชีวิตชีวาจริง ๆ ยิ่งใครมีโอกาสได้ทวนภาพเก่า ผลการสัมผัสตรงกับ 'อัศนีย์' ฐานะอาจารย์วิศวกร หรือว่าภารกิจรองผู้อำนวยการศูนย์วิจัยแห่งชาติที่เคยปฏิบัติมา จะพบภาพแบบนั้นแบบเดียวกัน แบบที่เป็น “สหาย” ร่วมงานได้กับทุกวัยไม่ถือตัว ไม่ว่าจะอยู่ในท้องร่องท้องน้ำทำงานลอกคลองหรือจะกระโดดข้ามยุคมายืนในห้องบรรยาย นั่งตรวจงานในห้องแลป สังสรรค์ในห้องอาหารห้องกาแฟ เพ่งงานในห้องประชุม ห้องรับนโยบายจากผู้บริหารผู้หลักผู้ใหญ่ รวมทั้งห้องเชือดจากทีมที่ปรึกษาวิพากษ์ภารกิจใหญ่ระดับชาติว่า “โครงการนี้จะจบ ศพไม่สวย !” หญิงแกร่งผู้นี้ยิ้มรับกับทุกสถานการณ์อย่างเบิกบานใจ ... (อะไรกันนี่ ?)


ที่สุดของที่สุด หลังจากเจาะลึกแบบพิเศษโดยพักคำถามสำคัญนั้นมาข้ามปี บัดนี้ ยอมรับโดยดุษฎีไม่ต้องยกกลับมาถามอีกเลย มั่นใจแล้วว่า ...

สหายชีวาวัยที่เพิ่งเลยเบญจเพสปีก่อนกลับออกจากป่าเชียงราย ได้ปลดปล่อยชนชั้นไปหมดแล้ว แต่ ... แต่ แต่ไม่ใช่ไปทำกับใครที่ไหน มิใช่ชนชั้นความไม่เท่าเทียมทางสังคมโลกหรืออุดมการณ์แนวใด หากเป็นการปลดปล่อย “ชนชั้นในใจตน” ของเธอผู้นั้นเองต่างหาก


๐ ขอบคุณป่า - ร่ำลาฟ้าดิน ๐

ช่วงชีวิตเดินทางที่เริ่มต้น ณ ภูพานผ่านข้ามฝั่งโขงและป่าน่านป่าเหนือเชียงรายโดยได้เรียนรู้แบบเอาชีวิตเข้าไปเสี่ยงจริงสิ้นสุดลงแล้ว บัดนี้ป่าใหญ่กำลังส่งมอบหนึ่งในบุคคลสัญชาติไทยผู้ที่ได้ขัดเกลาตนเองผู้นี้คืนสู่สังคมในรูปแบบผู้มีประสบการณ์ชีวิตเข้มข้น


กับเหตุการณ์ห้าปีสำคัญเหล่านั้นยามถามหาภาพจริงจากฟิล์มใด “ไม่มีโอกาสถ่ายไว้” ไม่มีให้รำลึก จึงต้องจำลองฉากประกอบขึ้นเอง ภาพที่สังเคราะห์ได้นี้น่าจะใกล้เคียงมากกับสหายชีวาวันท้าย ๆ ที่กำลังเดินออกจากป่าเป็นแน่ นั่นคือ การร่ำลาขอบคุณสถานแห่งความรู้และผู้ประสิทธิประสาทวิชาต่าง ๆ ดั่งที่เคยได้ทำมาเมื่อครั้งเป็นหนอนหนังสือจากสตรีวิทยา และเมื่อครั้งจบเป็นบัณฑิตจากคณะวิศวฯ เกษตรศาสตร์ไป ... ข้าพเจ้าขอขอบคุณ


… กระต่ายบนดวงจันทร์ที่ช่วยสะท้อนสัญญาณของความคิดถึงให้ที่บ้าน ขอบคุณดวงดาวและท้องฟ้าทุกหน้าฤดูกาลที่ทำให้เข้าถึงการเปลี่ยนแปลง ขอบคุณแม่น้ำโขงที่กว้างใหญ่ที่มอบความสดใส ขอบคุณขุนเขาที่โอบอุ้มและปลอบใจยามร้องไห้ ขอบคุณต้นไม้ใบหญ้าทั้งป่าที่ให้โอกาสมาค้นหาความรู้ ขอบคุณชาวนาผู้ทำให้รู้จักความรักในการให้และความจริงใจต่อเพื่อนมนุษย์ ขอบคุณท้องนาและเมล็ดข้าวที่ทำให้เข้าใจถึงความยากลำบากสู่ความอดทน ขอบคุณเด็ก ๆ ลูกหลานชาวบ้านที่เคยใช้ชีวิตร่วมกันท่ามกลางธรรมชาติ ขอบคุณสหายทุกนางทุกนายที่ช่วยบ่มให้เป็นคนตระหนักในวินัย และที่ขาดเสียมิได้ ขอบคุณ ... ‘กระรอก’ และ ‘อีเห็น’ ที่เคยเป็นแหล่งโปรตีนอันโอชะ (ชะ ชะ ชะ - เสียงก้อง)

อีกหนึ่งภาพสำคัญที่จินตนาการขึ้นได้ ...

ขอขอบคุณด้วยกับ K54 อาวุธประจำกายที่ทำให้รู้ซึ้งถึงคำว่า “อัตตา” โรคร้ายแรงอันกำเนิดจากการหลงใหลใน “คำสรรเสริญ” ส่วนกรณีล่วงเกินที่เคยเล่นแรงแกล้งให้เป็น ‘แพนดาตาเดียว’ นั้น สหายชีวาให้อภัย ไม่ถือสาต่อกันแล้ว “ลาก่อน" ...


๐ ชีวิตแห่งการเรียนรู้ ๐

เช่นเดียวกันพบเห็นได้ทั่วโลกของผู้ร่วมต่อสู้ค้นหา ผู้ร่วมพัฒนาร่วมปฏิวัติประชาชน ไม่ว่าจะล้มเหลวหรือสำเร็จ ตัวตนที่ทุ่มไปกับภารกิจทางอุดมการณ์นั้นแม้ได้แลกมาด้วยสิ่งที่ต้องเสียไปอย่างมากมายแล้ว หากยังรักษาชีวิตไว้ได้ช่วงหลังภารกิจใหญ่นั้นยังคงต้องจ่ายหนักทางสังคมเพิ่มต่ออีก เพราะ ...

“ออกจากป่า บางที่บางสังคมไม่ต้อนรับ”


สะท้อนถึงสภาพของอดีตนิสิตนักศึกษาที่กลับออกมา เกิดขึ้นเป็นปกติมากมาย หลายสหายกลับไปเรียนต่อด้วยความยากลำบาก หลายคนเปลี่ยนสาขาไปเลย และไม่น้อยที่สับสนชีวิตจนต้องยุติการศึกษาลงอย่างน่าเสียดาย

อีกมากกรณีที่ไปทำงานเข้าสังคมเมืองแบบคนอื่นทั่วไป ก็มักถูกฝากเครื่องหมายไว้บนหน้าผากให้ว่า “หัวแข็ง” หรือไม่ก็ “ชอบความรุนแรง” ฯ โอกาสทางสังคมจึงมีน้อย ชีวิตถูกบีบคั้น ซ้ำเติม ชอกช้ำ ...

“มาอยู่เกษตรฯ อาจารย์ต้อนรับ ได้เรียนต่อ”

ผู้ใหญ่ให้โอกาสได้ทำงานสอนหนังสือรับทุนเรียนด้วย อดีตสหายชีวาจึงผ่านพ้นภาวะน่าอึดอัดช่วงนั้นไปได้ด้วยดี ออกจากป่ามาเป็นอาจารย์สอนหนังสือคือหนึ่งในทางเลือกที่อ่อนโยนของผู้เคยกล้าท้าทายอำนาจรัฐอันอำมหิต ผลข้างเคียงยังคงมีแต่น้อยกว่าภายนอก


“อาจารย์นนทวัฒน์ อาจารย์สอนสมัยเรียนปีสี่ให้ความกรุณา สนับสนุนเวลา ขอเข้ามาเป็นอาจารย์พร้อมกับสอบเข้าเรียนปริญญาโท” สองหลักไมล์ชีวิตใหม่ที่สดใสจึงกำลังเริ่มต้นขึ้นกับวัยใกล้สามสิบ


เรียนวิชาจากป่ามาห้าปียังไม่พออยากเรียนต่อเลย แต่ว่าความรู้ด้านวิศวกรรมไฟฟ้าไม่ได้ใช้ตลอดห้าปีที่ผ่านมา “ความรู้คืนอาจารย์ไปหมดแล้ว” อดีตบัณฑิตเกียรตินิยมอันดับสองของที่นี่จึง ...

“สอบข้อเขียนตกหมดเลยนะ แต่สัมภาษณ์ผ่าน"

(หมายเหตุ: อดีตการเข้าศึกษาต่อระดับบัณฑิตศึกษาทั่วไปต้องสอบวัดความสามารถก่อนทุกสาขา และที่แน่ ๆ “เอ็มบีเอ” หรือบริหารธุรกิจมหาบัณฑิตหลักสูตรยอดฮิตจัด ๆ ของเหล่าสายเทคนิคมาเรียนต่อเพื่อออกไปเป็นเถ้าแก่กัน สมัยนั้นมีเปิดน้อยมากแถมด้วยเกณฑ์ “มีประสบการณ์ทำงานมาก่อนอย่างน้อยสองปี” เป็นแบบนี้ทุกที่ มิใช่ลดแลกแจกแถมทุนและคำโฆษณาบ้าระห่ำของหลายสถาบันเช่นทุกวันนี้ ไม่มีประสบการณ์ไปถกเถียงแบ่งปันมิใช่ปัญหา หากจ่ายก็เข้าได้ และเมื่อจ่ายครบก็จบแน่ !)

ภารกิจรื้อฟื้นความรู้วิศวกรรมไฟฟ้าของอาจารย์บรรจุใหม่เริ่มเจาะเฉพาะทางไปกับสาขา “โทรคมนาคม” ยัง ยังไม่พอ หนอนความรู้จากหน้ากระดาษ จากหลายป่าไม้เขาลำเนาไพร และกับสาขาไฟฟ้าสื่อสารระดับปริญญาโทยังไม่หยุดแค่นั้น

“จบโทแล้วได้ไปต่อเอก ไม่ต้องสอบ คณบดีวิศวฯ นาโกยารับเลย”

เรียนต่อด้วยหนึ่งในโควตาทุนการศึกษารัฐบาลญี่ปุ่น (ทุน Monbukagakusho ที่ช่วงหลังเรียกกันทั่วไปว่า ‘ทุนมง’ หรือ ‘มอนบูฯโช’) ณ มหาวิทยาลัยพี่น้องซึ่งมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์มีความร่วมมืออยู่ จึงเข้าสู่โหมดโหดกับชีวิตอีกครั้งอย่างเป็นทางการ

๐ ป่าซากุระ ๐

ปี พ.ศ.๒๕๓๐ ยุคที่ทีวีสี “เนชันแนล” หรือพานาโซนิคในเวลาต่อมาสู้ตลาดอยู่กับ “ซิงเกอร์” เจ้ายุทธจักรเครื่องจักรเย็บผ้าและเครื่องใช้ไฟฟ้าทั่วบ้านในเมืองไทยเพิ่งจะจบลง ส่วน “ธานินทร์” สัญชาติไทยหมดเวลาไปตั้งแต่เปลี่ยนยุคขาวดำมาเป็นทีวีสีก่อนหน้าแล้ว สมัยนั้นสังคมไทยคุ้นเคยเรื่องราววัฒนธรรมญี่ปุ่นดั้งเดิมผ่านจอทีวีมากับสารพัดตัวละครซุปเปอร์ฮีโร การ์ตูนโดเรมี โดราเอมอน หรือละครชีวิต ‘โอชิน’ ฯลฯ และซึมซับโดยพื้นฐานทั่วไปเรื่องผู้ชายญี่ปุ่นเป็นใหญ่อย่างยิ่ง ส่วนผู้หญิงคือช้างเท้าหลังโดยสมบูรณ์ และช่วงเวลานั้นเอง หนึ่งในวิศกรหญิงไทยตัดสินใจเดินทางไปเริ่มต้นชีวิตการศึกษาอยู่กับสังคมประเทศจ้าวเทคโนโลยีแห่งเครื่องใช้ไฟฟ้าและการ์ตูนที่ว่านั้น

“ผู้หญิงจบป.ตรีก็รีบแต่งงาน ส่วนเรียนต่อโทเอกนั้นเป็นศูนย์”

เมื่อ ‘อัศนีย์ซัง’ มาต่อระดับปริญญาเอกที่นี่จึงรู้กันทันทีว่าเป็นสาวต่างชาติ และไม่แปลกอะไรแน่กับการที่ “ไม่มีผู้ชาย (ญี่ปุ่น) มาคุยด้วย นอกจากคนไทย !”

“ใครแต่งงานช้าถือเป็นปมด้อย" ... "แม่บ้านซื้อของขนถือกลับเอง”


เมื่อเริ่มต้นชีวิตผืนป่าความรู้แห่งใหม่ที่ใหญ่มาก แตกต่างอย่างมาก ยังต้องใช้ความพยายามเพิ่มอีกมาก มาก มาก ๆ เนื่องจาก “ภาษา ‘ซีโร่’ (zero - ศูนย์) วิชาการก็ ‘ซีโร่’” ไม่มีอะไรพร้อมใช้ได้เลย ต้องเริ่มใหม่หมดจด “เรียนสู้เขาไม่ได้” ภาษาญี่ปุ่นก็ไม่ใช่ง่าย ๆ เหมือนกับที่เคยล่าเหยื่อแบบ “กระรอกหรืออีเห็น” แต่ “ความเป็นนักต่อสู้อยู่ในสายเลือดแล้ว” เพราะได้ฝึกความลำบากทางกายภาพมานานหนักหนาจากป่าไทยแล้ว แม้ว่าต้องเปลี่ยนสาขาจากโทรคมนาคมมาจับแขนงใหม่เอี่ยมกับวิศวกรรมสารสนเทศ (Information engineering) ด้วยหัวที่ว่างเปล่า แต่การเป็น “ตัวแทนประเทศไทย” นั้นค้ำคอ ดังนั้น “กลับบ้านมือเปล่าไม่ได้ ต้องกลับไปกับความสำเร็จ” ทุกครั้งที่ชีวิตหนักหนาจักต้องไม่ถอย ท่องนินจาคาถาไว้ “สู้กับตัวเอง ชนะตัวเอง” ...


“ศาสตราจารย์ Inagaki Yasuyoshi เป็นอาจารย์ต้นแบบ ที่ทำให้เรายึดเป็นแบบอย่าง”


แน่นอนว่าสมัยนั้นยังไม่มีที่ปรึกษาระดับปริญญาเอกเป็นผู้หญิงให้เข้าหาเพราะยังอยู่ในยุค “ผู้หญิงเป็นแค่อาจารย์ไม่ใช่ศาสตราจารย์” และผู้ให้เวลาหารือกับชีวิตการเรียนแนวใหม่คนนี้นั่นเองได้กลายมาเป็นอีกหนึ่งต้นแบบการขัดเกลาชีวิตที่เข้มและแข็งเต็มเปี่ยมไปด้วยวินัยให้กับ ‘อัศนีย์ซัง’


“เขาให้เวลาโดยไม่รู้สึกเหนื่อย เป็นผู้บริหารด้วยประชุมเลิกทุ่มสองทุ่ม” กลับมาสอนให้คำปรึกษาต่อ และ “เหมือนพ่อคนที่สอง”

พ่อแท้แม้มีเวลาให้ไม่มากแต่พยายามฝากความรักมากับกระดาษห่อปกหนังสือที่เรียบกริบ รองเท้านักเรียนที่ขัดจนเงาวับ แอบสร้างงานศิลปะที่อ่อนโยนให้อยู่บ่อยครั้ง พ่อคนที่สองนี้เวลาน้อยมากเช่นกันโดยพยายามจัดหาเพิ่มให้แม้จะเหนื่อย แต่ ... แต่ แต่จะไม่อ่อนข้ออ่อนวินัยให้อย่างเด็ดขาด “การตรงต่อเวลา” “ความรับผิดชอบ” ฯ แม้ชีวิตลูกสาววิชาการจะอยู่ในสถานะการณ์ใด บนหน้าผาหุบเหวที่ไหน ไม่ผ่อนข้อปฏิบัติการฝึกฝนตนเองให้อย่างแน่นอน เข้มมากดั่งวลีดังที่ว่า ‘ไม่มี ไม่ได้ ไม่ต้องมาแก้ตัว !’


หลังผ่านการขัดเกลาอย่างยาวนานของยุคหน่วยประมวลผลคอมพิวเตอร์ 286 บนระบบปฏิบัติการ ‘ดอส (DOS)’ แบบที่คุ้นเคยกับงานพิมพ์งานเวิร์ดราชวิถีเวิร์ดจุฬาฯ กันอยู่ในเมืองไทย ส่วนอินเทอร์เน็ตหลักก็เพิ่งจะต่อกันได้ผ่านโมเด็มโผล่มาทีละประโยคทางสายโทรศัพท์ นักศึกษาปริญญาเอกชาวไทยต่อสู้ชีวิตสะสมไมล์ความอึดจนมาถึงช่วงเวลาใกล้จบการศึกษาจากประเทศพัฒนาแล้วของเอเชียแห่งนี้ แต่กรรมไม่มีบารมีไม่เกิดหรือไม่ก็บุญมีแต่กรรมยังมาบังอะไรก็แล้วแต่ สามวันก่อนการสอบวิทยานิพนธ์ปิดจบการศึกษา ร่างกายเล่นตลกเข้าสู่โหมดทรุดถึงกับขึ้นรถพยาบาลต่อไปห้องไอซียู


“ความรู้สึกเหมือน ‘อีที’ (ET) ทะลุออกจากท้อง”

อาการหนักหนาที่บ่มเพาะมาจากความเคร่งเครียดลงสู่กระเพาะร่วมปัจจัยผสมที่ต้องหาสาเหตุและรักษากันไป สหายรักชาวญี่ปุ่นจึงทำหน้าที่ไปแจ้งด่วนยังพ่อคนที่สอง

“อัศนีย์ซังอยู่ในห้องไอซียู” ... นี่คือเหตุความที่เพื่อนนำส่งให้
ต่อให้คลานมาก็ต้องมาสอบ ไม่เลื่อนสอบ !” ... ส่วนนี่คือสารที่ได้รับคืนกลับมา

“เหม่อมองฟ้าคืนนี้แสงดาวเรียงรายสวยเด่น

แต่ใจฉันคืนนี้สุดแสนลำเค็ญหม่นหมาง

ค่ำคืนนั้นได้กอดกระซิบแนบชิดเคียงข้าง

แต่คืนนี้เปล่าเปลี่ยวอ้างว้างระทมอ่อนใจ ...”

- (ดอน สอนระเบียบ)


อดีตยามเหงาแล้วต้องเงยหน้าขึ้นฟ้ามอง “เดือนเพ็ญ” ในป่าเหนือเมืองไทย คล้ายกันที่นี่ได้มาพบกับ “ดาวลูกไก่ (ซุบารุ)” หรือ “ดาวประดับใจ” กลางป่าซากุระเข้าให้แล้ว

“ในป่าเอาชนะกับความกลัว ไม่รู้ว่าวันพรุ่งนี้จะมีหรือเปล่า”

อาจารย์อัศนีย์รำลึกแสงเดือนและดาวที่เรียงรายสวยเด่นของสองผืนป่ามารวมกันต่างกันที่ประโยคนี้ ภายใต้ท้องฟ้าสองแห่งนั้นเปล่งประกายเหมือนกันมากก็ตรงที่ต้อง “๑) อดทนเหมือนกัน ๒) เรียนต่อสู้กับตนเอง และ ๓) ความรับผิดชอบ” และหากแรงฮึกเหิมสมัยอยู่เมืองไทยมาจากเพลง ‘ภูพานปฏิวัติ’ ที่นี่แรงเดียวกันนั้นมาจากเสียงก้องของพ่อคนที่สอง

“ยูต้องสู้ให้ได้ !”


ประกาศิตของประธานการสอบไล่ดุษฎีนิพนธ์แขนงการประมวลผลภาษาธรรมชาติ (Natural Language Processing) ใหม่เอี่ยมที่เมืองไทยยังไม่เคยได้ยิน ประมวลคำพูดให้ลูกศิษย์วัยสามสิบเจ็ดด้วยภาษาอย่างเข้ม เป็นธรรมชาติ !


ในที่สุดผู้เคยถูกเปิดหน้าท้องให้หมอป่าตัดไส้ติ่งออกโดยรู้สึกตัวตลอดแต่ก็รอดมาแล้วที่ภูพาน แค่ ‘อีที’ ในท้องตนนี้นะหรือจึงกลายเป็นเรื่องคิกขุอาโนเนะ “สู้กับตัวเอง ชนะตัวเอง” ไม่ต้องไปบนบานศาลเจ้าใด ‘อัศนีย์ซัง’ จัดการ ‘อีที’ ซะเรียบร้อย

โอะเมะเดะโต โกะไซมะซุ …


สิบปีหลังออกจากป่าเชียงรายด้วยการเหลาตนเองเรียนรู้ฝึกฝนแบบอึด ถึก ทน มาผ่านการขัดเกลาด้วยสไตล์ญี่ปุ่นอย่างมีวินัยสุด ๆ “กัดไม่ปล่อย” “ต่อสู้ทางความคิด ไม่ถอย” ในที่สุดจึงมาถึงวันนี้ วันที่เป็น ‘ดร.อัศนีย์ ก่อตระกูล’ [D.Eng. (Information Engineering), Nagoya University, พ.ศ.2534]


เมื่อการแสดงความยินดีจบลงจึงจากป่านาโกยากลับสู่ป่าบางเขน เพื่อไปเป็นไม้บรรทัดใช้วัดการจัดการสร้างคน สร้างงาน สร้างโอกาส ฯ กับภาระการเป็นอาจารย์สอนหนังสือและทำวิจัย โดยได้รับการฝากฝังจากคุณพ่อชาวซามูไรให้เพิ่มว่า “๑) ต้องกลับประเทศ ๒) ต้องเป็นอาจารย์ (ถ่ายทอดความรู้) และ ๓) ต้องเขียนตำรา”

ซาโยนาระ ...


๐ ไม้แข็ง ๐

จากผู้ที่มีวัยเด็กเรียบร้อยยิ่งนักได้เลือกเส้นทางตนเองเดินผ่านหุบเหวอุปสรรค ตั้งแต่ป่าพื้นที่สีแดงแห่งความเป็นความตายโดยกลับออกมาอย่างเบิกบาน ต่อด้วยการฝึกฝนสไตล์ซามูไรสู้งานรักษาวินัยแบบถวายหัวที่ญี่ปุ่นจนจบการศึกษาขั้นสูงสุด ประสบการณ์ชีวิตหลากหลายเหล่านั้นได้เหลาเลี่ยมให้ ‘อาร์ต อัศนีย์ สหายตะวัน สหายชีวา’ จากสาววัยอ่อนต่อโลกกลายมาเป็นผู้ใหญ่สไตล์เข้มและเที่ยงตรงดั่งไม้บรรทัดพร้อมใช้งานแลัว แล้วก็พร้อมนำไปวัดผลการสร้างคนอย่างเข้มข้นที่เมืองไทยต่อด้วย เพราะ ...

"ไม่มีอะไรที่ทำไม่ได้ เราผ่านมาแล้ว”

-- (จบภาค ๖)

 

Woman in Science & Engineering - The Series 2022

“เรียนรู้ประวัติศาสตร์ เพื่ออนาคตที่ผิดพลาดน้อยลง”


ร่วมสนับสนุนกิจกรรมถ่ายทอดประสบการณ์สาธารณะ รวมทั้งข้อคิดเห็น คำแนะนำ ฯ ได้ที่

Email: thailand_chapter@comsoc.org

 

Comments


FEATURED POSTS

FOLLOW US

  • Facebook Long Shadow

 

DROP US A LINE 

Your details were sent successfully!