top of page
QICTechFACTcheckLoGoWhite-2021.jpg

Policy: The Mentor - ที่ปรึกษาดันหลังพลังวิทย์

(revised & republished from FB: Feb 29, 2016)


บุคลากรลูกหม้อกระทรวงวิทย์ฯ ที่แม้เกษียณแล้วยังเคยมีภารกิจเป็นที่ปรึกษาให้กับหน่วยงานด้านวิทย์และเทคโนฯของประเทศทั้ง สสวท. สวทน. เพื่อนำประสบการณ์การเป็นคนทำงานเคยอยู่เบื้องหลังผลักดันภาระและสาระทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของประเทศมามากทั้งงานเล็กงานใหญ่ Y2K การบริหารองค์การวิจัยและพัฒนา การตรวจสอบภายใน และอีกสารพันการบริหารการจัดการและการบริการ


"เปรียบเหมือนโกฮง ที่ขึ้นเวทีทั้งซ้อมลับอาวุธและวางแผนแทคติกการชกของเขาทรายให้เป็นแชมป์โลกได้ยาวนาน" เพราะโกฮงผู้นั้นเห็นมุมของตัวนักกีฬารอบทิศทั้งจุดแข็งจุดอ่อนช่องว่าง พร้อมชี้ให้เห็นเมื่อการ์ดตกมีช่องเสี่ยงก็ประเมินว่าอาจโดนน็อคเอาได้ประมาณนั้น ... กับบุคคลผู้นี้ก็น่าจะเป็นทั้งโกฮงและแชแม้ผู้จัดการของแชมป์โลกเขาทรายขวัญใจชาวไทยในคนเดียวกัน เพราะร่วมบริหาร ร่วมวางแผนลงมือทำทั้งข้างบน ปนด้านล่างและหลังเวที ดันจุดแข็งพร้อมตั้งกำแพงการ์ดสูงที่จุดอ่อน อยู่รอบสังเวียนเจนสนามด้านการบริหารจัดการวิทย์มาจนเกษียณ

แม้ว่าเรื่องจริงจะไม่ได้ไปชกกับใครเพียงแต่เปรียบเปรยมายังพัฒนาการด้านวิทย์เทคโนฯของไทยที่ยังไม่ไปไหนไกล จึงดูคล้าย ๆ เหมือนในวงการยังชกลมอยู่กับตนเอง เป็นแชมป์เองในการประเมินตนเอง (และบางทีก็มีชกกันเองอีกด้วย) ... การได้ขอความเห็นที่ปรึกษาอาวุโส คุณขวัญชัย หลำอุบล ผู้ผ่านศึกทั้งบนล่างข้างเวทีของวงการวิทย์ไทยมา จึงเสมือนมี "โกฮง & แชแม้" ช่วยแนะนำในเวลาเดียวกัน ว่าจะวางแผนการซ้อมและขึ้นชกกับวิทยาศาสตร์แขนงในอนาคตที่กำลังมาใหม่เร็วและแรงนั้นอย่างไรกันดี


"กำแพงยังสูง" คือวลีสั้นที่เจืออยู่ในบทสนทนาเรื่องความก้าวหน้าด้านวิทย์ของเมืองไทยก่อนดื่มกาแฟยามบ่าย


เมื่อคาเฟอีนดูดซึมแล้ว จึงได้เวลาย้อนไปหาเมื่อครั้งการก่อตั้งหน่วยงานวิจัยนอกระบบของกระทรวงวิทย์สามสิบปีก่อน ไล่มาตั้งแต่แผนการที่ได้วางไว้เมื่อกลางยุต "ไมโครเทคโนโลยี" ที่ทั่วโลกเริ่มก่อนหน้านั้นมาร่วมทศวรรษ (หรือกว่า 40 ปีหากนับจากวันนี้ถอยไป) ซึ่งวันนั้นช่างน่าสดใสกำลังเป็นสาขาคึกคักอยู่ทั่วโลก รวมทั้ง ณ จังหวัดฉะเชิงเทรา จุดโฟกัสของเมืองไทยจึงปรับชัดแล้วที่ถนนเทคโนฯสายอันกี่ยวข้องกับทั้งวิศวฯไฟฟ้าฯ อิเล็กทรอนิกส์ ฟิสิกส์ การออกแบบวงจรรวม (IC design) ฯ การเร่งผลิตคนป้อนงาน ฯ จึงกระหึ่ม !


โดยมีอีกภาพการกระตุ้นจากการแข่งขันกับเพื่อนบ้านที่ก็ปรากฏเข้มข้นขึ้น เพราะมาเลเซียก็เริ่ม MIMOS หน่วยงานมหึมาด้านวิทย์เทคโนฯที่วิ่งตามสิงคโปร์ไปติด ๆ (ย้อนนึกถึงอุปกรณ์ไอซีของ Texas Instrument และอื่น ๆ สามสิบปีก่อนปั๊มตรา Made in Malaysia มาขายที่บ้านหม้อ ซึ่งปัจจุบันมาเลเซียพัฒนาไปไกลห่างลิบจากไทยมากขึ้นแล้ว) วงการไฟฟ้าอิเล็กทรอนิกส์ (electronics) สมัยนั้นจึงได้ปักใจปักเสาเข็มกับงาน "ไมโครอิเล็กทรอนิกส์" เสาเด่นแกนเดี่ยวต้นเดียวนี้ เป็นต้นมา


ทว่า พลันที่ได้เริ่มสักพัก พันธมิตรอุตสาหกรรมผู้ใจดีบริจาคพื้นที่ที่อุตสาหกรรม ณ บางน้ำเปรี้ยวกลับหนีไม่พ้นวิกฤติเศรษฐกิจยุคฟองสบู่ จึงเหลือเพียงหน่วยงานรัฐหนึ่งโดยลำพังกับเสาภาระขนาดยักษ์หลายแท่งทั้งตัวศูนย์วิจัย อุปกรณ์และกำลังคนที่ลงไปด้วยแล้ว


ที่สำคัญอีกประการจากข่าวอันสะสมมานาน ดูเหมือนว่าจุดโฟกัสของเมืองไทยช่วงนั้นต้องไหลไปตามกระแสฟองสบู่ในอ่างด้วยอีก จากภาพชัดของโจทย์เรื่องเดี่ยวแต่ได้บานแฉ่งออกรับกับโลกสื่อสารทั้งโทรศัพท์บ้าน ไร้สาย (telecom) รวมถึงคลื่นอินเทอร์เน็ตลูกใหญ่ที่กำลังมากับคอมพิวเตอร์ (computer) ยังไม่พอ ต่อด้วยอุตสาหกรรมอัตโนมัติตอบสนองโรงงานญี่ปุ่นในมหาศาลนิคมทั่วไทย (electronics) ตามด้วยมาตรฐานด้านภาษากับสารพัดยุคข่าวสาร (information) มาหมดรวมเป็นก้อนเทคโนโลยี ECTI อยู่บนเสาเข็มต้นเดียวกันร่วมงบร่วมงานร่วมคนร่วมผลผลิตกันในที่เดียว


จุดโฟกัสแรกจึงกลายเป็น "เบลอ"

ความเห็นของที่ปรึกษาขวัญชัย ย้อนความให้ฟังว่า หากอุตสาหกรรมของพันธมิตรผู้ก่อตั้งไม่ล้มไป ลมหายใจของไมโครฯอิเล็กฯไทยก็น่าจะสดใสกว่านี้มาก ..

(ส่วนความเห็นประกอบของเหล่าผู้เกี่ยวข้องน้องๆพี่ๆในวงการจนถึงปัจจุบันเล่าแจ้งถึงเมฆหมอกที่มาปกคลุมแทนความสดใสที่หายไป ทั้งจากยุคน้องใหม่นาโนเทคโนโลยีที่มากลบ รวมทั้งฝุ่นควันตลบของความคลุมเครืออนาคตที่ไม่มีใคร(ยอม)เป็นผู้ตัดสินใจได้จริงจัง เส้นทางต่อมายาวนานจึงไม่เพียงแค่ "เบลอ" แต่ "บอนไซ" เหมือนต้นไม้ใหญ่ที่มีใบสังเคราะห์แสงหาอาหารไม่กี่ใบเลี้ยงตัวต้นมหึมากระนั้นจนรอวันล้มลงไปเอง ไม่มีผู้ดูแลใดอยากให้สิ้นใจอยู่ในมือ กระนั้น หน่วยงานอิเล็กฯระดับไมโครฯยุคแรกของไทยนี้ ก็ทรงคุณค่ามากมายต่อการเป็นบทเรียนที่เจ็บปวดที่ดี (lesson learn) ของการปีน "กำแพงสูง" ที่ว่ามาของประเทศไทยในอดีต)

กลับมาที่ประสบการณ์ของที่ปรึกษาใหญ่ด้านการจัดการงานวิทย์ กับคำหรือตัวอย่างสำคัญที่คุณขวัญชัย ยกวลี คำคม มาจากงานบริหารจัดการวิทย์ไทยมากมุก อาทิ

"ดู เคเนดี (Kenedy) ประกาศว่าอะไร" ... (อเมริกาจะต้องชนะรัสเชียเพื่อพิชิตดวงจันทร์)

"ดู บิลเกต (Bill Gates) พูด เขาตั้งเป้าที่ไหน ?" ... (คิดต่อเองว่า เมืองไทยใครจะพูดแบบนั้นได้ ?)

"หากจะสร้างเจดีย์ ก็ต้องสร้างก้อนอิฐก่อน ... " ... (อุเหม่ ! หากอยากจะมีเจดีย์โดยไม่มีอิฐก็ทำได้นะคือ ซื้อเจดีย์ยกไปตั้งกันเลย -- เห็นอยู่บ่อย)

"เราเป็นประเภทตักน้ำไปใส่เขื่อน !" ... (เหมือนคนทำงานหนักแบกน้ำปีนกำแพงข้ามเขาไปเทใส่อ่างเก็บน้ำให้เจ้าของเทคโนโลยีปล่อยน้ำกลับมาให้ใช้ตามใจเขากระมัง)


แล้วได้ทำแบบนั้นกันอยู่หรือเปล่า .. (คิด ๆ)


เมื่อป้อนคำถามที่สุดของที่สุดด้านการบริหารฯว่า วงการวิทย์ฯไม่น่าต่างจากด้านการวงการศึกษาที่ต้องประเมินรอบทิศ งานวิทย์และเทคโนฯ ไม่ว่าเล็กหรือใหญ่ก็ต้องมีเกณฑ์ประเมินเข้ม ไม่ว่าเก่าหรือใหม่ใหญ่หรือเล็กทีมหรือเดี่ยว ฯลฯ "คุณขวัญชัยคิดอย่างไรกับเรื่อง KPI สายวิทย์ของไทยที่ผ่านมา คำตอบพุ่งมาทันทีว่า


"....( )...." (เฉลยปนอยู่ในหลายประโยคคำพูดข้างต้น)


จากเกร็ดเคล็ดการบริหารฯ ที่ถ่ายทอดมาจนกาแฟหมดแก้ว จึงมาสู่คำถามด้านการทบทวนอดีตเพื่อวางแผนอนาคตกันต่อ


มีการเปรย ๆ ว่าการหยุดไม่วิ่งไปดักอนาคตแต่ต้องตอบปัจจุบันเร่งด่วนตามเจ้าของงบ (และนักการเมือง) ก่อน ซึ่งก็ถูกต้องแล้ว เพราะทั้งประเทศงบน้อยปัญหาเยอะจึงต้องเป็นแบบนั้นกัน แต่แล้วหากได้มาประสบกับสามทางแยกนี้ มีคิดเห็นอย่างไร ? ...


๑) ไมโครเทคโนฯ สีสิบปีวันนี้ไทยก็ซื้อหมด ... เริ่มใกล้ ๆ กันแต่ในที่สุดก็ไม่ทัน

๒) อินเทอร์เน็ต คอมฯ ไอทีสื่อสารเริ่มพร้อม ๆ กัน วันนี้ยี่สิบปีก็ซื้อหมด ... ไม่ทันอีก

๓) แล้วเรื่องใหม่ ๆ ในอนาคตเมืองไทยจะไปไหม ไปอย่างไร ?

ที่ปรึกษาขวัญชัยแจงว่า ข้อ ๑) ตอบก่อนหน้ามาบ้างแล้ว (ควรลองทบทวน) จึงตบท้ายด้วยข้อที่ ๓) เป็นหลัก คำแนะนำต่อเรื่องอนาคตของไอทีควอนตัม "โกฮงแห่งวงการวิทย์" สรุปเป็นคำสำคัญก่อนจบการสนทนากันว่า


1) user first

2) stakeholder

โดยทิ้งท้ายเชิญชวนให้แกะเคล็ดลับข้อแนะนำนี้กันเองต่อ


ออกจากร้านกาแฟ (และเครื่องดื่มอื่น ๆ) มาพบมุมถ่ายภาพเข้ากับเรื่องที่เพิ่งสนทนากันพอดี อันแปลได้มากความหมายหลายองศา พร้อมเอื้อนมุมส่วนตัวเพิ่มอีกนิดจากที่ได้สอบถามชีวิตหลังเกษียณไป โดยเอ่ยวิทยาการการจัดการตนเองก่อนกลับมาว่า "สองวันทำงาน ที่เหลือเดินทางท่องเที่ยวกำไรชีวิต" ตามด้วยรอยยิ้มและเสียงหัวเราะดัง ๆ "ฮะ ฮ่า ฮะ ฮะ ฮะ ..."


และนั่นก็คือกำไรที่คนรอบข้างได้ซึมซับไปโดยท่านที่ปรึกษาไม่คิดเงิน หากได้มานั่งดื่มกาแฟ (และเครื่องดื่มอื่น ๆ) กันก็จะได้รับประสบการณ์ด้านการบริหารฯติดกลับไปแบบนี้ จากสุภาพบุรุษท่านนี้ ...


"ปรมาจารย์การบริหารจัดการด้านวิทย์และเทคโนฯไทย" - ขวัญชัย หลำอุบล

- จบ

  • Facebook page
bottom of page